กระทรวงเกษตรฯ ประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการยางพารา รอบการผลิต ปี 58/59 หวังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบครบวงจรในระดับจังหวัด

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2015 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ยางพารามีแนวโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายางพาราในประเทศต่ำลง คือ สต๊อกยางพารา ปัญหาด้านการตลาด และตลาดยางพาราไม่สะท้อนถึงราคาที่จริง รวมถึงการใช้ยางพาราในประเทศยังมีปริมาณน้อย จากปัจจัยหลักดังกล่าว รัฐบาลได้จัดทำมาตรการต่างๆขึ้นมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ทั้งมาตรการเร่งด่วนโครงการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐ และมาตรการต่อเนื่องที่ต้องดำเนินการทันที ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหายางพาราได้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัดคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ระดับจังหวัด โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาการจัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพารา ระดับจังหวัด และคณะกรรมการฯระดับจังหวัด ซึ่งได้แจ้งจังหวัดดำเนินการไปแล้ว และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ส่วนกลางได้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของจังหวัดอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด สามารถการแก้ไขปัญหายางพาราอย่างเป็นระบบ จึงได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริหารจัดการสินค้ายางพารา รอบการผลิต ปี 58/59 ในระหว่างวันที่ 13 -14 มีนาคม 2558 ณ ห้องประชุมพึ่งบุญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อชี้แจงการบริหารจัดการสินค้ายางพารา และแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราในระดับจังหวัด พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์การผลิตและสภาวะยางพาราและผลิตภัณฑ์ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพารา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต และผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร องค์การสวนยาง ให้สามารถดำเนินการขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราตามสถานการณ์ยางพาราในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดได้ นายอำนวย ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการสินค้ายางพารา รอบการผลิต 58/59 ว่า กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ประกอบด้วย ส่วนกลาง ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะอนุกรรมการบริหารการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนายางทั้งระบบ ระดับกระทรวง ได้แก่ ศูนย์บริหารและคณะกรรมการบริหารดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ระดับจังหวัด ได้แก่ จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยาง 69 จังหวัด และกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ประกอบด้วย ศูนย์บริหารและคณะกรรมการบริหารดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยจะต้องเร่งแก้ปัญหาที่สำคัญในระดับพื้นที่ อาทิ เรื่องการร้องเรียนการเข้าไม่ถึงการให้บริการหรือมาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ และให้คณะกรรมการฯระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เร่งรัดติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจการแก้ไขปัญหายางพาราเป็นระยะๆ พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลแผนการผลิตและแผนการจำหน่ายยางพาราในปี 2558/59 ข้อมูลต้นทุนการผลิตในระดับจังหวัด เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาทั้ง 5 ระดับ คือ ระดับพื้นที่ภายในจังหวัด ระดับกรม ระดับกระทรวง ระดับคณะรัฐมนตรี และระดับสภานิติบัญญัติ และขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายางพารา เรื่องการรายงานทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์พิเศษกรณีเกษตรกรรวมตัวเคลื่อนไหวเรื่องยางพารา สำหรับเรื่องพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยนั้น จะมีการรวมหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สกย. อสย. และสถาบันวิจัยยาง เพื่อความเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีปฏิบัติราชการบริหารจัดการสินค้ายางพารา รอบการผลิต 58/59 ในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดนั้น ให้ดำเนินการจัดทำประมาณการสมดุลยางพาราของจังหวัด ราคายางพาราแยกตามชนิดยางพาราในจังหวัด โครงสร้างอุตสาหกรรมยางของจังหวัด และระบบตลาดยางในจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการฯระดับจังหวัด มอบหมายให้คณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำข้อมูลแยกตามแต่ละชนิดยางที่มีในจังหวัด รายงานมายังกระทรวงเกษตรฯภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และให้ความสำคัญของการวิเคราะห์และการนำไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดทำ นอกจากนั้น ให้นำเสนอปัญหาอุปสรรคจาการขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารา ปีการผลิต 2557/58 พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้แก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดทำการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตยางพาราในระดับจังหวัด ปีการผลิต 2558/59 โดยจัดทำข้อมูลทั้ง 12 เดือน แยกตามแต่ละชนิดยางที่มีในจังหวัด ตลอดจนแสนอแนวทางในการดำเนินการบริหารจัดการสินค้ายางพาราในระดับจังหวัด ปีการผลิต 2558/59 ด้วย การประชุมสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการมอบนโยบาย และมอบหมายสั่งการวิธีปฏิบัติราชการในการบริหารจัดการสินค้ายางพารารอบการผลิต 58/59 ในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้ว ยังมีประเด็นบรรยายชี้แจงโดย ผู้แทนหน่วยงานกรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อสย.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1) เรื่อง "บริบทการขับเคลื่อนโครงการมูลภัณฑ์กันชนกับการแก้ไขปัญหายางพารา ปี 57/58 และปี 58/59" เพื่อให้เกิดความเข้าใจกลไกการทำงานของโครงการ บทบาทหน้าที่ของตลาดกลาง กระบวนการทำงานของตลาดกลางยางพารา และตลาดเครือข่ายยางพารา รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของ สกย. ที่สนับสนุนโครงการฯ และแก้ปัญหายางพาราในปี 57/58 บรรเทาลง และมีแนวโน้มดีขึ้นในปี 58/59 2) เรื่อง "การจัดทำข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนการบริหารจัดการสินค้ายางพารา ระดับจังหวัด" เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล แบบฟอร์มใช้กรอกข้อมูล การใช้ประโยชน์จากข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการสินค้ายางพารา ระดับจังหวัด 3) เรื่อง "การขับเคลื่อนภารกิจคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราเป็นระบบครบวงจร ระดับจังหวัด" เพื่อสร้างความเข้าใจภาพรวมการขับเคลื่อนของคณะกรรมการ กนย. บทบาทภารกิจและวิธีการทำงานของคณะกรรมการฯระดับจังหวัด รวมทั้งกลไกของ สศก. อสย. และตลาดกลาง ในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯระดับจังหวัด และ 4) เวิร์กชอป "การวิเคราะห์และวางแผนบริหารจัดการสินค้ายางพารา ระดับจังหวัด และนำเสนอผลการเวิร์กชอป" เพื่อระดมความคิดเห็นในการวิเคราะห์ข้อมูลของจังหวัด และจัดทำแผนบริหารจัดการสินค้ายางพารา ระดับจังหวัด อนึ่ง การดำเนินมาตรการต่างในการแก้ไขปัญหาและพัฒนายางพาราทั้งระบบของรัฐบาล 16 มาตรการ ประกอบด้วย 1)โครงการบริหารจัดการสต๊อกยางของรัฐ 2) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง 3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 4) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 5) โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 6)โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยางพารา 7) โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ/โครงการสนับสนุนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง 8) โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 9) โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 10) โครงการลดต้นทุนการผลิต 11) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตยาง 12)โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 13) โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 14) โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 15) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม และ 16) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ