คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะเริ่มผ่านพ้นจุดต่ำสุดได้ในครึ่งแรกของปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 18, 2015 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าคุณภาพสินทรัพย์สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรับตัวแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา น่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottom out) ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 และผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระดับสูงน่าจะเริ่มปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในปี 2557 จาก 2% ในปี 2556 ในขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้แต่ยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8.3% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รวม จาก 7.7% โดยคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลงเป็นผลมาจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงมาก หลังจากที่รัฐบาลเริ่มนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการซื้อรถยนต์มากขึ้นโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโตสูงถึง 22% ในปี 2554 และ 39% ในปี 2555 การเติบโตในระดับที่สูงกินไปในช่วงเวลาดังกล่าวกอปรกับสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นและราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงอย่างมาก ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ที่มีการดำเนินธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เก่าในสัดส่วนที่สูงจึงมีผลประกอบการที่แย่ลง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่คุณภาพสินเชื่อจะปรับตัวแย่ลงต่อไปอีกนั้นจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก การผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อมักจะปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในช่วง 24 เดือนแรกของการให้สินเชื่อ และอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ได้ชะลอตัวลงอย่างมากมาอยู่ที่ 8.4% ในปี 2556 และหดตัวติดลบที่ 3.4% ในปี 2557 อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้มีการปรับนโยบายการอนุมัติสินเชื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value ratios) และการปรับลดราคากลาง (ที่ใช้สำหรับการจำนำรถยนต์) นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปี 2558 (ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 4.0% เทียบกับ 0.7% ในปี 2557) จะช่วยสนับสนุนให้คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีการปรับตัวในแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นอยู่บ้าง เช่นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนสินเชื่อครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยอยู่ที่ 85% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้รายได้ภาคการเกษตรกรรมที่ลดลงอันเนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้บริโภคโดยรวม อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจเกิดการปรับตัวแย่ลงอีกระรอก ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักและเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่น่าจะมีความสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็กกว่า เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่น่าจะมีการกระจายตัวที่ดีกว่า ประกอบกับฐานกำไรที่มีขนาดใหญ่กว่าและฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่งกว่าซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถรองรับผลขาดทุนจากการขายรถยึดได้มากกว่า อย่างไรก็ตามหากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อต่อสินเชื่อรวมดังนี้ -ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน):67% - ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน): 64% - ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (A+(tha)/Stable): 56% - ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) (AAA(tha)/Stable): 30% - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (A-/AAA(tha)/Stable): 24% - ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BBB+/AA(tha)/Stable); 9%.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ