ตราสารบาเซล 3 และ REITs จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของตลาดทุนไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 24, 2015 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานสัมมนาขึ้นในวันนี้ ที่กรุงเทพฯ โดยฟิทช์ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตสำหรับตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซล 3 ที่ออกโดยธนาคารและ สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts : REITs) งานสัมมนาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนและบริษัทที่สนใจจะเสนอขายตราสารให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ที่ฟิทช์ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารและผู้ออกตราสารเหล่านี้ คุณวินเซนท์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในปัจจุบันการออกตราสารเหล่านี้ในประเทศไทยยังมีจำนวนค่อนข้างจำกัด แต่ฟิทช์คาดว่าตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีการเสนอขายตราสารหนี้รูปแบบใหม่ๆเพิ่มขึ้นและจะมีจำนวนบริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้นในระยะปานกลาง” คุณวินเซนท์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงต้นเดือนนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ ‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และ ‘A-‘/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความแข็งแกร่งของประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ ภาคการคลังและเศรษฐกิจมหภาค แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ เนื่องจากระดับหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูง การลงทุนที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง ฟิทช์ได้รับเกียรติจาก คุณยิ่งยง นิลเสนา, CFA, รองเลขาธิการ กลุ่มงานบริหารเงินกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นผู้ร่วมบรรยายในงานสัมมนาครั้งนี้ โดยคุณยิ่งยงได้กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อตราสารเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซล 3 และ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในงานสัมมนาดังกล่าว นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซล 3 และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คุณพชร ศรายุทธ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินกล่าวว่า โดยทั่วไปอันดับเครดิตของตราสารในรูปของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 (B3T2) ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย จะได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) ของธนาคารผู้ออกตราสารอยู่ 1 อันดับ หากตราสารดังกล่าวมีข้อกำหนดสิทธิในลักษณะการตัดเป็นหนี้สูญบางส่วนได้ (partial write-down) หรือสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ เมื่อธนาคารผู้ออกตราสารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ (point of non-viability) และตราสารประเภทดังกล่าว จะได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงของธนาคารผู้ออกตราสาร 2 อันดับ ในกรณีที่มีข้อกำหนดสิทธิให้สามารถบังคับตัดหนี้สูญทั้งจำนวนได้ (mandatory full write-down) ทั้งนี้อันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) ที่ใช้โดยทั่วไปคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) หรือในบางกรณีอาจเป็นอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารผู้ออกตราสาร หากฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ภาครัฐหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันจะให้ความช่วยเหลือก่อนที่ธนาคารผู้ออกตราสารจะมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ สำหรับตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์บาเซล 3 นั้น การปรับลดอันดับเครดิตของตราสารจากอันดับเครดิตอ้างอิงของธนาคารผู้ออกตราสารจะมีการปรับลดที่มากกว่า โดยฟิทช์มีแนวโน้มที่จะจัดอันดับเครดิตของตราสารดังกล่าวที่ระดับต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารผู้ออกตราสาร อย่างน้อย 5 อันดับ เนื่องจากโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ที่ตราสารจะต้องรองรับผลขาดทุน (loss absorption trigger) มีสูงกว่าและตราสารมีสถานะที่ด้อยสิทธิมากกว่า เนื่องจากตราสารเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซล 3 นับว่าเป็นตราสารที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมามีการเสนอขายตราสารหนี้ด้อยสิทธิ B3T2 ของธนาคาร 3 แห่ง ที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์ แต่ฟิทช์คาดว่าน่าจะมีการออกตราสารประเภทดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ตราสารหนี้ B3T2 ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (BBB+/ AA(tha)/VR: bbb+) ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ AA-(tha) ต่ำกว่าอันดับเครดิตในภายประเทศระยะยาวของธนาคารซึ่งพิจารณาจาก VR อยู่ 1 อันดับ สำหรับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (BBB/AA+(tha)/VR: bbb-) ตราสารหนี้ B3T2 สกุลเงินดอลล่าร์ของธนาคารมีอันดับเครดิตที่ BBB- ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารที่สะท้อนถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ (support-driven IDR) อยู่ 1 อันดับ ส่วนอันดับเครดิตตราสารหนี้ B3T2 ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (BBB-/A+(tha)/VR: bbb-) ที่ A(tha) ซึ่งอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร 1 อันดับ คุณสมฤดี ไชยวรรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ในประเทศไทย ยังคงมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับ REIT ในประเทศสิงคโปร์ และในตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ ทำให้ REIT ในประเทศไทยน่าจะสามารถมีการกู้ยืมได้เพิ่มขึ้นอีก ด้วยข้อกำหนดทางกฎหมายที่ทำให้ REIT มีข้อจำกัดในการสะสมเงินสดไว้ในกองในระยะยาว และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดรับของ REIT ที่ต่ำเมื่อเทียบกับความต้องการเงินลงทุนในจำนวนเงินที่สูงเพื่อใช้ในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ REIT ต้องพึ่งพิงตลาดทุนในการระดมทุนหรือการกู้ยืม เพื่อชำระหนี้เดิมและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หลักเกณฑ์ที่ฟิทช์ใช้ในการจัดอันดับเครดิตของ REIT จะประเมินทั้งสถานะทางธุรกิจและการเงินของ REIT โดยฟิทช์จะพิจารณาลักษณะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของ REIT ทั้งในด้านสภาพคล่องของอสังหาริมทรัพย์ การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน ขนาดของกอง คุณภาพของอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกิจกรรมการลงทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ฟิทช์ยังวิเคราะห์ถึงลักษณะความเสี่ยงของรายได้ค่าเช่าของ REIT เช่นอัตราการเช่าพื้นที่ ระยะเวลาของสัญญาเช่า การกระจายตัวของการหมดอายุของสัญญาเช่าที่มีอยู่ อัตราการต่ออายุสัญญาเช่า รวมถึงการกระจายตัวของผู้เช่าในด้านจำนวนและธุรกิจของผู้เช่า และคุณภาพของผู้เช่า ฟิทช์ยังพิจารณาความสอดคล้องของระยะเวลาคงเหลือของสัญญาเช่า เทียบกับระยะเวลาชำระคืนหนี้สินของ REIT ด้วย นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ REIT ก็เป็นอีกปัจจัยในการพิจารณา ในด้านการวิเคราะห์ทางการเงิน ฟิทช์ประเมินความสามารถในการทำกำไรของ REIT อัตราส่วนหนี้สินของ REIT และความยืดหยุ่นทางการเงินของ REIT งานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและภาคการเงิน หน่วยงานรัฐ และนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมงานมากกว่า 50 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ