พม. รับดูแลสถานที่ควบคุมชาวโรฮิงญาและกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) โดยเฉพาะเด็กและสตรีอย่างเหมาะสมและปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2015 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ วันที่ ๒๔ มี.ค.๕๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา กลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาและกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) เพื่อหามาตรการการป้องกันในระยะสั้นและระยะยาว ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา อย่างบูรณาการ กรณีกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาและกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) โดยแบ่งเป็น ๒ มาตรการ ได้แก่ ๑)มาตรการระยะสั้น คือ การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักจิตวิทยา แพทย์ พยาบาล และล่าม ตลอดจนผู้แทนองค์เอกชน หากพบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง จากนั้น จึงขยายผลหา ต้นตอของขบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีหน่วยงานในพื้นที่ให้ความดูแลคุ้มครองช่วยเหลือทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหายเป็นสำคัญ รวมทั้งประสานประเทศต้นทาง เพื่อส่งกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ซ้ำอีก รวมถึงการจัดสถานที่ชั่วคราวสำหรับการดูแล ไม่ใช่เป็นสถานที่กักกัน โดยเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้การบริการกับผู้ที่ประสบปัญหาสังคมเร่งด่วน ดังนั้น การดูแลไม่ให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองกลุ่มดังกล่าวหลบหนีออกจากสถานที่ดูแล จึงทำได้ยาก ที่ผ่านมา มีผู้หลบหนีหลายครั้ง ซึ่งกระทรวงฯ ได้ดำเนินการติดตาม และกรณีที่ไม่พบตัว จะต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจทุกครั้ง และ ๒)มาตรการระยะยาว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีนโยบายเกี่ยวกับ แนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไข้ปัญหา ได้แก่ ๒.๑) การยับยั้งเหตุการณ์หลบหนีของกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันรับผิดชอบ ๒.๒) การจัดกำลังเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลและจัดระบบให้กลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองที่ยังเหลืออยู่ให้มีความมั่นคงและปลอดภัย และ ๒.๓) การหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานใน การดูแลกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองในระยะยาว เพื่อรองรับกลุ่มใหม่ที่อาจหลบเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหลบหนีของกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง เพื่อจะนำข้อมูลดังกล่าวมาชี้แจงให้สังคมได้รับทราบ “รัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องการดูแลสถานที่ควบคุมชาวโรฮิงญาและกลุ่มมุสลิมไม่ทราบสัญชาติ (อุยกูร์) จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการควบคุม การคัดแยกเหยื่อทุกคน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และระบบสุขาภิบาล รวมทั้งความแออัดของสถานที่ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลเด็กและสตรีอย่างเหมาะสมในบ้านพักเด็กและครอบครัว โดยต้องคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยเป็นสำคัญ”ตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ