ดีเอสไอ จัดสัมมนาแสวงหาแนวคิดและกลยุทธ์ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2015 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำหนดจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” ในวันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องออดิทอเรียม (อาคารทรงกลม) ชั้น ๒ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาแนวคิดและกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี ค.ศ. 2014 ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้ปรับลดอันดับประเทศไทยจากกลุ่ม Tier 2 Watch List ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่ม Tier 3 ซึ่งการถูกปรับลดอันดับในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยถูกกล่าวหาว่ามีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะสินค้าประมงของไทย และที่สำคัญยังเป็นสิ่งที่ทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยในเวทีโลก อาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุน และการระงับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และอาจทำให้บริษัทข้ามชาติบางแห่งทบทวนนโยบายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ ยังอาจสูญเสียความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าและไม่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรม และอาจถูกสหรัฐอเมริกาคัดค้านไม่ให้ได้รับการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันระหว่างประเทศด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำโครงการ "การศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบงานสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แบบบูรณาการในเชิงรุก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งการสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้มีจำนวน ๑๔๐ คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีภารกิจหรือบทบาทเกี่ยวกับค้ามนุษย์โดยตรง อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองทัพไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ สภาทนายความ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เป็นต้น ในช่วงเช้า นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยพันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้กล่าวรายงาน จากนั้นเป็นการอภิปราย เรื่อง "ปัญหาและแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุก” โดย นางสุวรีย์ ใจหาญ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พันตำรวจเอกกู้เกียรติ เจริญบุญ อัยการประจำกอง สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และพันตำรวจโทไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งดำเนินการอภิปรายโดย พันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนภาคบ่าย จะเป็นแบ่งกลุ่มสานเสวนา จากนั้นมีการนำเสนอผลการสานเสวนาของแต่ละกลุ่มและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การสรุปผลการสัมมนา และกล่าวปิดการสัมมนา เวลา ๑๖.๓๐ น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ คาดหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะทำให้กรมสอบสวนคดีพิเษษได้แนวคิดและกลยุทธ์ใหม่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาระบบงานสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่เป็นคดีพิเศษต่อไป. สำนักพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เลขที่ ๑๒๘ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐ โทร. ๐ ๒๑๔๒ ๒๗๖๖ โทรสาร ๐ ๒๑๔๓ ๙๐๑๖ Email: watlek@hotmail.com www.dsi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ