ผู้สูงอายุ 'กระดูกสะโพกหัก' อาจอันตรายถึงชีวิต ต้องรีบรักษา

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2015 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น กระดูกสะโพกหัก มักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" หลายคนมองกระดูกหักเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจเกิดผลร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิต โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาสุขภาพหนึ่งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ กระดูกสะโพกหัก จากสถิติพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตภายในปีแรก 20 เปอร์เซ็นต์ และเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความพิการ ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยต้องพึ่งพาผู้อื่นในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน จากแนวโน้มดังกล่าว จึงได้จัดตั้งศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแนวทางการรักษากระดูกหักให้มีมาตรฐานและผลการรักษาที่ดีขึ้น โดยใช้วิธีการหรือเทคนิคที่ถูกต้องในการรักษากระดูกสะโพกหักแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวค่อนข้างมาก และมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน และการเสียชีวิต "เป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อนในการตัดสินใจของแพทย์ในการเลือกแนวทางการรักษาว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากต้องประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียด และวางขั้นตอนการรักษาอย่างรัดกุมเหมาะสม จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์โดยเฉพาะในการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีกระดูกหักเข้ามาช่วยประสานงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา เมื่อผู้ป่วยมีมากโรคก็ต้องมีการรักษาที่มากหมอ ซึ่งต่างหมอต่างก็ดูในแต่ละด้าน ต้องใช้เวลาในการประสานงานและอาจเกิดการซ้ำซ้อนสับสนและล่าช้า เหมือนอย่างภาษิตที่ว่า มากหมอมากความ เราจึงจับหมอให้มาเรียงความใหม่ เป็นเรื่องเดียวกันที่มีลำดับขั้นตอนต่อเนื่อง ทำให้เป็นมาตรฐานแนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักขึ้นมาโดยเฉพาะ" ปัญหากระดูกหักในผู้สูงอายุหลักๆ มีอยู่ 3 ที่ คือ ข้อมือ สันหลัง และสะโพก ขึ้นอยู่กับว่าล้มท่าไหน แต่กระดูกข้อมือหัก กระดูกหลังทรุดตัวไม่ถึงขั้นเสียชีวิต และมักจะไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ส่วนกระดูกสะโพกหักถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอาจต้องนอนติดเตียงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากการนอนนิ่งๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดแผลกดทับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ หรือปอดบวม ซึ่งอาจเสียชีวิตในที่สุด "ถ้ามือหรือแขนหักใส่เฝือกได้ สันหลังหักยังเดินได้ไม่ถึงขั้นเป็นอัมพาต แต่ถ้าสะโพกหักจะเกิดอันตรายจากโรคแทรกซ้อน จากประสบการณ์ถ้ากระดูกสะโพกหักส่วนใหญ่เกินกว่า 90% ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดมักจะเดินไม่ได้ บางรายที่เป็นแค่กระดูกร้าวถือว่าโชคดี ซึ่งกระดูกอาจจะสามารถติดได้ภายในระยะเวลา 2-3 เดือนไม่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ถ้ากระดูกสะโพกหักแล้วได้รับการผ่าตัดเร็วผู้สูงอายุก็จะฟื้นตัวเร็ว ความเจ็บปวดน้อย สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิมได้เร็ว กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุจะเป็นกลุ่มที่เราต้องรักษาให้เร็ว พยายามให้เจ็บปวดน้อย สามารถลุกออกจากเตียงได้เร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ลูกหลานควรใส่ใจกับผู้สูงวัย ทันทีที่ล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่า กระดูกหักหรือไม่โดยเฉพาะกระดูกสะโพก เพราะถ้ากระดูกสะโพกหักอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่าคิดไปเองว่าอาการลุกยืนเดินไม่ได้ เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามปกติ หรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า” ปัจจุบัน โรงพยาบาลกรุงเทพ มีทีมแพทย์ซึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะในสาขาการรักษากระดูกสะโพกหัก พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานแนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักขึ้นโดยเฉพาะ มีการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โภชนากร และนักกายภาพบำบัด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัดจากอายุรแพทย์ และการประเมินร่างกายโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ภาวะสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการเคลื่อนไหวและทำกิจวัตร การประเมินเพื่อป้องกันการหกล้ม เป็นต้น และจะได้รับการผ่าตัดรักษาภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่า หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาในเวลาอันรวดเร็วจะช่วย "ลด"ภาวะแทรกซ้อนและฟื้นตัวเร็ว "แนวทางในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก อย่างเป็นขั้นตอนก็เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย ที่สำคัญเกิดผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด ตรงนี้เป็นการรองรับกับแนวโน้มของผู้ป่วยสูงอายุที่คาดการณ์กันว่าจะมีผู้สูงอายุที่ล้มสะโพกหักจำนวนถึง 100 คนต่อวันในอนาคต ให้ได้รับการรักษาทันท่วงที ส่งผลให้ผลการรักษาดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน" กรณีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก วิธีการรักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยและตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพก โดยจะมี 2 วิธีคือ วิธีแรกการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกข้อเทียม วิธีที่สองการผ่าตัดเพื่อยึดตรึงกระดูกไว้ภายใน โดยการผ่าตัดใส่โลหะพิเศษยึดกระดูกไว้ให้เข้าที่และเกิดการติดของกระดูกตามธรรมชาติ ซึ่งแนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักไม่ได้จบแค่การผ่าตัด ยังต้องมีการประเมินและรักษาภาวะกระดูกพรุน ซึ่งป็นหัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ตลอดจนกระทั่งการป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และยังรวมถึงการดูแลหลังการผ่าตัดด้วยการกายภาพบำบัดเฉพาะสำหรับผู้สูงวัย ทั้งการฝึกเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น เครื่องพยุงน้ำหนักคนไข้ให้ตัวเบาเหมือนเดินอยู่ในอวกาศที่เรียกว่า Alter G หรือการกายภาพบำบัดในน้ำที่เรียกว่า ธาราบำบัด เป็นต้น ทั้งนี้การประเมินการทรงตัวและการฝึกการทรงตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นเพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกระดูกสะโพกหักซ้ำได้ นอกจากนี้ จะมีแพทย์อายุรวัฒน์ ซึ่งพื้นฐานมาจากแพทย์ด้านอายุรกรรมที่ศึกษาต่อด้านผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จะเข้ามาดูแลผู้ป่วยสูงอายุในหลายมิติ ไม่ว่าเป็นโรคเรื้อรัง โรคกระดูก โรคทางระบบประสาทและสมอง ทั้งก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด ผลจากการใช้แนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักมาเป็นเวลา 1 ปี พบว่าสามารถช่วยลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ลดภาวะแทรกซ้อน และผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้ในเวลาอันสั้น โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ