สถานการณ์ “โรคตายด่วน” เริ่มกระเตื้อง หลังกรมประมงบุกเดินเครื่องใช้งบ 96 ล้านบาท เกษตรกรมั่นใจ...ใช้ลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพร่วมกับ ปม.1 เห็นผลเกินคาด

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2015 13:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--กรมประมง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคจากกลุ่มอาการตายด่วน (EMS) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งระบบ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงลดลงเป็นอย่างมาก ปริมาณการส่งออกหายไปกว่าร้อยละ 40 ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหา EMS เป็นการเร่งด่วนอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อกลางปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สนับสนุนงบประมาณวงเงิน 96 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงรับไปดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากโรค EMS เพื่อให้ผลผลิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยได้ดำเนินการใน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน และเฝ้าระวังกุ้งเพื่อยับยั้ง EMS 2. เพิ่มกำลังผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 และ 3. การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพ ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินการปรากฏว่าได้ให้บริการตรวจคัดกรองโรคกุ้งทะเลแก่เกษตรกร ทั้งแบคทีเรีย และไวรัส ด้วยเทคนิค PCR โดยดำเนินการตรวจแล้วเสร็จ ณ ปัจจุบันทั้งสิ้น จำนวน 76,540 ตัวอย่าง และมีการดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) สูตรผง แจกจ่ายให้เกษตรกรแล้วทั้งสิ้นจำนวน 105,100 ซอง สูตรน้ำ จำนวน 132,388 ขวด โดยในส่วนของการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์คุณภาพ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ กรมประมงได้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวจากต่างประเทศ 3 แหล่ง คือ 1. จากบริษัทเอสไอเอสที่เป็นผู้ให้บริการชั้นนำของโลกของด้านพ่อแม่พันธุ์กุ้ง 2. นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวจากมหาวิทยาลัยกวม สหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาทดสอบและปรับปรุงสายพันธุ์ 3. นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวจากฟาร์มที่ผลิตพ่อแม่พันธุ์ จาก บริษัทโคน่าเบย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งปลอดจากโรคไวรัสทุกชนิด และมีการดำเนินการขุนพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกกุ้ง ระยะที่ 1 Nauplius (นอเพลียส) เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 96 ราย สำหรับลูกพันธุ์ที่กรมประมงผลิตได้จนถึง ณ ปัจจุบัน จำนวน 724.77 ล้านตัว โดยจัดจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 392.90 ล้านตัว ในอัตราตัวละ 0.010 บาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดกรมประมงจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน สำหรับผลตอบรับของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่ากุ้งจากกรมประมงสามารถเลี้ยงง่าย ไม่แตกไซส์ ผ่านช่วงวิกฤต EMS ได้ในหลายพื้นที่ เพียงเน้นการคัดกรองเชื้อโรคออกจากระบบ การบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งใช้ ปม. 1 ของกรมประมงทำให้ได้ผลผลิตดี และมากขึ้นจากเดิมเห็นผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ต้นทุนต่ำกว่าปกติที่เคยเลี้ยงอีกด้วย อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยนั้นในช่วงที่กรมประมงดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเล (EMS) โดยให้บริการตรวจคัดกรองโรคกุ้งทะเล และผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ทั้งสูตรผงและสูตรน้ำแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้การติดเชื้อ EMS มีแนวโน้มลดลงและปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สามเดือนสุดท้ายของปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปลายปี 2556 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันในปี 2557 ร้อยละ 13 จึงนับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการเริ่มฟื้นตัวของกุ้งทะเลในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ