ประมง..แจง ปลาตายแม่น้ำป่าสัก 400 กว่าตัน สูญกว่า 38 ล้านบาท หารือจังหวัดเร่งให้ความช่วยเหลือ แนะ..แนวคิดทำกระชังระบบปิดไว้สำรอง

ข่าวทั่วไป Friday April 17, 2015 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กรมประมง จากกรณีเกิดเหตุการณ์ปลาในธรรมชาติและปลาทับทิมของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังลุ่มแม่น้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี ลอยหัวตายเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 29 มีนาคม 2558 นั้น นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในครั้งแรกทางสำนักงานประมงจังหวัดสระบุรี ได้ลงพื้นที่ หมู่ที่ 3 อำเภอแก่งคอย และ หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 แล้ว ซึ่งขณะนั้นพบมีปลากระชังของเกษตรกร ประมาณ 250 กระชัง รวมถึงปลาในธรรมชาติ อาทิ ปลาตะเพียน ปลากระแห ปลากาดำ ปลากระมัง ปลาตะโกก ปลาหนวดพราหมณ์ ปลาเทโพ ปลาลิ้นหมา และกุ้งก้ามกราม ลอยหัวฮุบอากาศ และเริ่มลอยตายจำนวนมาก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวแสดงว่าน่าจะเกิดจากในน้ำมีปริมาณออกซิเจนต่ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ท้องน้ำ จนเป็นเหตุให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ที่พื้นท้องน้ำ รวมถึงปลากระชังต้องขึ้นมาหาอากาศที่ผิวน้ำ ซึ่งอาการนี้เรียกว่า “ปลาลอยหัว” ซึ่งเบื้องต้นได้มีการแนะให้ทางเกษตรกรเติมอากาศและพ่นน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้กับปลา แต่พอวันรุ่งขึ้น (31 มี.ค.58) ได้ลงพื้นที่เดิมอีกครั้ง พบว่ามีปลาในกระชังลอยตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น อีกทั้ง การตายของปลากระชังยังได้แพร่ขยายไปยัง ตำบลนาโฉง อำเภอเมืองสระบุรี จึงได้แจ้งให้เกษตรกรขนย้ายปลาในกระชังที่ตายขึ้นเอามาฝังกลบ และปลาที่ยังไม่ตายให้จับขึ้นมาจำหน่ายเพื่อลดการสูญเสีย โดยได้ประสานขอกำลังทหาร จำนวน 50 นาย เพื่อมาช่วยขนย้ายปลากระชังให้เกษตรกร ตลอดจนแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังที่อยู่ในอำเภอเมืองสระบุรี และอำเภอเสาไห้ ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ เตรียมรับมือกับมวลน้ำเสียที่จะไหลลงมาตามแม่น้ำเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทราบจากทางพื้นที่ว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กำลังจะประกาศให้กรณีดังกล่าวเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ และจะหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือต่อไปตามระเบียบราชการ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจพบความเสียหายของผู้เลี้ยงปลากระชังแล้วใน 4 อำเภอ ได้แก่ แก่งคอย เมืองสระบุรี เสาไห้ และเฉลิมพระเกียรติ คาดว่าจะมีเกษตรกรที่เสียหาย จำนวน 111 ราย กระชัง 538 กระชัง ผลผลิตที่เสียหาย จำนวน 430,400 กิโลกรัม) คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 38,736,000 บาท นายวิทยา หวังเจริญพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุการตายของปลาจำนวนมากขนาดนี้ พบว่าน้ำเสียได้ไหลผ่านไปหมดแล้วและไหลผ่านไปยังเขตจังหวัดอยุธยาบริเวณเขื่อนพระราม 6 แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 ทำให้มีภาวะปลาธรรมชาติลอยหัว แต่เนื่องจากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักลงมาดันช่วยให้ขณะนี้น้ำมีค่าปกติและไม่มีปลาตายแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสระบุรี ขณะนี้ได้มอบหมายให้นักวิชาการประมงเก็บตัวอย่างปลา และตัวอย่างดินเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบหาการปนเปื้อนซึ่งรอผลการตรวจสอบอยู่ อีกทั้ง ยังได้เสนอแนวคิดการทำกระชังพักปลาระบบปิด ซึ่งมีระบบกรองน้ำและเติมออกซิเจนไว้ในบริเวณข้างๆ กระชัง สำหรับย้ายลงเลี้ยงชั่วคราวหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำปลาขึ้นจากกระชังได้ทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ