ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” ที่ “A-/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 27, 2015 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนสถานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งในกลุ่มทิสโก้ ตลอดจนการมีอำนาจในการบริหารงานและการได้รับเงินปันผลผ่านการถือหุ้น 99.99% ในธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี แหล่งรายได้ซึ่งมีการกระจายตัว และฐานเงินทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งถูกลดทอนลงจากส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อและเงินรับฝากที่มีขนาดเล็ก ตลอดจนคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมถอยลง การพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ และความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง อันดับเครดิตยังถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย การมีหนี้สินภาคครัวเรือนในระดับสูง และความซบเซาของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ซึ่งอาจจำกัดการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อันดับเครดิตองค์กรของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญในกลุ่มอยู่ 1 ขั้น สะท้อนถึงการด้อยสิทธิเชิงโครงสร้าง โดยสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของบริษัทจะด้อยกว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของธนาคารทิสโก้ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการพึ่งพิงรายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้เป็นหลัก รวมทั้งข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินปันผลนั้นให้แก่บริษัทด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่ากลุ่มทิสโก้จะคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ไว้ได้ ตลอดจนดำรงเงินกองทุนอย่างเพียงพอ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนสมมติฐานที่คุณภาพสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้จะไม่เสื่อมถอยลงอีก สถานะเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากพอร์ตสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้หดตัวเพิ่มขึ้นและทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากคุณภาพสินเชื่อลดลงจนทำให้ต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในทางตรงข้าม สถานะเครดิตในทางบวกยังไม่น่าเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากโอกาสในธุรกิจเช่าซื้อที่มีอย่างจำกัดและเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งและเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มทิสโก้แทนธนาคารทิสโก้ในปี 2551 โดยมี CDIB & Partners Investment Holding Pte. Ltd. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 10% ณ เดือนธันวาคม 2557 ส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นโดยนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ณ สิ้นปี 2557 กลุ่มทิสโก้มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 17 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.5% และเงินรับฝาก 1.9% บริษัทยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับ 4 จาก 16 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง และมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 12% ณ สิ้นปี 2556 แหล่งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธนาคารทิสโก้ (มากกว่า 80% ของรายได้รวมจากดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียม) รายได้ส่วนที่เหลือมาจากบริษัทย่อยอื่นๆ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด พอร์ตสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้ ณ เดือนธันวาคม 2557 ประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย (69% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (20%) สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (9%) และสินเชื่ออื่น (2%) สินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเฉลี่ย 23% ในระหว่างปี 2552-2556 ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างปี 2555-2556 เป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พอร์ตสินเชื่อหดตัวลงในปี 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ซบเซา ณ สิ้นปี 2557 สินเชื่อและดอกเบี้ยรับของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 263.4 พันล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน คุณภาพของสินเชื่อของบริษัทถดถอยลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างปี 2556-2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.56% ในปี 2557 โดยเพิ่มจาก 1.25% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสำรองหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินในปริมาณมากซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในปี 2557 กำไรสุทธิของบริษัทมีจำนวน 4.3 พันล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อน โดยมีต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น 7% ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 1.3% ในปี 2557 โดยลดลงจาก 1.9% ในปี 2553 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจาก 4.3% ในปี 2553 เป็น 2.5% ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม การควบคุมต้นทุนดำเนินงานช่วยลดผลกระทบในทางลบจากการมีต้นทุนทางการเงินที่สูง สถานะด้านเงินทุนของบริษัทดีขึ้นโดยมีเงินกองทุนที่เพียงพอสำหรับการเติบโตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อีกทั้งเงินกองทุนส่วนเกินน่าจะเพียงพอต่อการรองรับความเสียหายที่เกินคาดการณ์จากความเสี่ยงในช่วงขาลงในอนาคต ณ เดือนธันวาคม 2557 กลุ่มทิสโก้มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงและเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 11.4% และ 15.4% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) อันดับเครดิตองค์กร: A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ