คืนความสดใสของ “เด็ก” สู่ชุมชน “บ่อนวัวเก่า”

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2015 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล เพราะลงพื้นที่สำรวจประชากรเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุเพื่อทำสถิติในวิชาเรียน ที่ชุมชน “บ่อนวัวเก่า” จ.สงขลากลุ่ม C.D. Share กลับพบข้อมูลปัญหายาเสพติดที่ทำให้พวกเธอเป็นห่วงและคิดหาทางช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนเป็นการสร้างเกราะป้องกัน และอาจจะเป็นสะพานนำอนาคตที่สดใสของเด็กกลับคืนมา กลุ่ม C.D. Share (ซี.ดี.แชร์) กลุ่มนักศึกษาจากโปรแกรมการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎสงขลา ประกอบด้วย น.ส.ศิริวรรณ มาแซ(มีน) น.ส.อาริสา สุขสุภาพ(แนน) น.ส.สาฟิหน๊ะ สีหมะ น.ส.ฟิตรีญา บิลลาแซ (มีน) และน.ส.แกมกาญจน์ ปานหมอน (แกม) มี อ.กัลป์ยาภัสร์ อภิโชติเดชาสกุล เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้เข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ใช้ชื่อโครงการว่า SMILE by CD มีแนวคิด “สร้างสรรค์กิจกรรม” เพื่อพัฒนา “ทักษะชีวิต” และ “ปลูกฝังจิตสำนึก” ที่ดีให้กับเด็กๆ ในชุมชน การลงพื้นที่สำรวจชุมชนจึงเริ่มต้นจากวันแรกที่ถูกชาวบ้านมองด้วยสายตาแปลกๆ แบบไม่ให้การต้อนรับ สุดท้ายด้วยใจสู้คิดว่ามาทำสิ่งดีๆ ให้ชุมชนจะต้องกลัวอะไร ผลคือคณะกรรมการชุมชนเห็นด้วยและสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ศูนย์เด็กเล็กของชุมชนที่ถูกทิ้งร้างเป็นที่พื้นที่จัดกิจกรรม ด้วยพลังของนักศึกษาทำให้ศูนย์เด็กเล็กกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง หลังจากคณะกรรมชุมชนไฟเขียวให้ 5 สาวทำโครงการสอนหนังสือให้เด็กเล็กสัปดาห์ละครั้งในวันเสาร์ได้ จึงลงพื้นที่ “เคาะประตูบ้าน” เพื่อทำความเข้าใจกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กมาร่วมกิจกรรมทุกๆ บ่ายวันเสาร์ จากการประชาสัมพันธ์แบบถึงตัวทำให้เสาร์แรกมีเด็กๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมมาก “วันแรกนัดบ่ายโมงครั้ง แต่มีน้องๆ มารอตั้งแต่ 11 โมง พวกเราดีใจมาก” กิจรรมแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ กิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตผ่านกระบวนการศิลป์ ผ่านการวาดภาพ ระบายสีน้ำ พับกระดาษ ในขณะที่เด็กๆ กำลังเพลิดเลินกับกิจกรรมพี่จะพูดคุยสอดแทรกข้อคิดเกี่ยวกับทักษะชีวิตให้น้อง เช่น หากน้องๆ แย่งสีกัน พี่ก็จะสอนเรื่องการแบ่งปัน หากน้องรีบเร่งพับกระดาษไม่ได้ จะสอนเรื่องสมาธิ 2. กิจกรรมเสริมทักษะความรู้ทางวิชาการ โดยสอนการบ้านให้น้องๆ และสอนเทคนิคคิดเลขเร็ว การอ่านให้จำง่าย เป็นต้น 3.กิจกรรมปลูกจิตสำนึกที่ดีโดยใช้กระบวนการทางศาสนาในการขัดเกลาจิตใจและปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินชีวิต เช่น พาไปทำบุญและฟังธรรมที่วัด “ฟิตรีญา” เล่าว่าพวกเธอต้องใช้หลักจิตวิทยาทำงานกับน้อง เพราะน้องบางคนก้าวร้าวมาก ไม่พอใจอะไรถึงขั้นลงไม้ลงมือชกต่อยกัน จึงต้องหากิจกรรมที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ฝึกให้มีสมาธิและสามารถเรียนรู้การใช้ชีวิตไปด้วย เช่น เวลาสอนระบายสีน้ำ จะบอกให้น้องลงสีอ่อนก่อน แล้วค่อยลงสีเข้ม ไม่ใช่นึกอยากจะละเลงตรงไหนก็ทำ ต้องสอนให้น้องรู้จักคิด แต่ไม่จำกัดขอบเขตจินตนาการ นอกจากทำกิจกรรมในศูนย์ฯ แล้ว ก่อนปิดโครงการ ทั้ง 5 สาวได้พาเด็กๆ ในชุมชนไปเข้าวัดทำบุญ เชื่อว่าศาสนาจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้ แต่ชื่อเสียงด้านไม่ดีของเด็กในชุมชนนี้ทำให้วัดไม่กล้าให้เข้าไปทำกิจกรรมในวัด แต่ในที่สุด 5 สาวไม่ละความพยายามได้พยายามหากวัดที่เข้าใจและก่อนไปวัดได้มีข้อตกลงกับเด็กๆว่าหากออกนอกชุมชนต้องไม่ดื้อไม่ซน “แม็กที่เมื่อก่อนน้ำก็ไม่อาบ ดื้อ ไม่ฟังพี่ ก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรงแต่วันที่ไปวัด แม็กอาบน้ำทาแป้ง พูดจากไพเราะมาก แม็กไม่ตะคอกข่มขู่เพื่อน และดูแลเพื่อนแบบเอาใจใส่ เพราะถูกมอบหมายให้ดูแลน้องๆ เขาภูมิใจที่พี่ๆ ไว้ใจเขา” “เมื่อไปถึงวัดเรารู้ทันทีว่าน้องๆ ไม่ค่อยได้มาวัด พวกเราเลยให้เขาถวายสังฆทาน ฟังพระเทศน์ กรวดน้ำ น้องๆ ดูตื่นเต้นมาก พอพระพรมน้ำมันต์ น้องๆ ก็วิ่งกรูเข้าไปหาพระ เพราะอยากโดนน้ำมันต์ ผิดกับภาพที่เราคิดว่าก่อนหน้านี้ว่าเด็กๆ คงซุกซนไม่ฟังพระ แต่น้องเรียบร้อยและมีวินัย เราสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนของน้องๆ” มีน สะท้อนการเปลี่ยนแปลงให้ฟัง แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่สิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้มากกว่าการบ้านในชั้นเรียนคือความรู้สึกที่มีต่อคนในชุมชนนี้เปลี่ยนไปจากกลัวอันตรายจากชุมชน กลับกลัวว่าน้องๆ จะกลับกลายเป็นเหมือนเดิมอีก จึงเร่งหาทางแก้ไข “พวกเราไปปรึกษาอาจารย์ว่าให้นักศึกษารุ่นน้องเข้ามาสานต่อกิจกรรมนี้หลังจากพวกเราจบออกไป อาจารย์บอกว่าทุกโครงการเป็นโครงการระยะยาว เราพัฒนาคน ไม่ได้ไปเล่นเกมที่เสร็จก็จบไป ได้ยินอาจารย์พูดแบบนี้ พวกเราสบายใจไปแล้วครึ่งหนึ่งว่าโครงการจะมีคนสานต่อ” “บอกได้เลยว่าพวกเราไม่ทิ้งน้องแน่นอน อยากให้น้องเข้มแข็งก่อน อยากให้พวกเขามีเกราะคุ้มกันตัวเองมากกว่านี้ ล่าสุดเข้าไปในชุมชนเจอผู้ปกครองบอกว่าน้องเรียนดีขึ้น ขยันอ่านหนังสือมากขึ้น ความประพฤติดีขึ้น เลยคิดต่อยอดโครงการต่อไปว่าจะเพิ่มเติมกิจกรรมพาน้องไปเก็บขยะนอกชุมชน เพราะสร้างจิตสาธารณะให้น้องๆ” “ทีแรกเราเรียนพัฒนาชุมชน คิดว่าพัฒนาชุมชนคือทำให้ชุมชนเจริญยิ่งขึ้น แต่พอได้มาทำโครงการพัฒนาชุมชนตรงนี้ เข้าใจที่อาจารย์บอกในทันทีเลยว่า ความเจริญไม่ใช่การพัฒนา ความเจริญจะเกิดได้ต้องพัฒนาคน” มีนกล่าวเน้นถึงสิ่งสำคัญที่เธอได้เรียนรู้ นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนจิตอาสา จากโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่สงขลาฟอรั่มมุ่งมั่นสร้าง Active Citizen ใน จ.สงขลา เพื่อเป็นพลังพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังของเมืองสงขลาต่อไปในอนาคตนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ