สู่ที่สุดองค์ความรู้ด้านศิลปะในไทย

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2015 18:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น มหาวิทยาลัยศิลปากรไขกุญแจอีกขั้นองค์ความรู้ด้านศิลปะ เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์เน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านงานสร้างสรรค์แห่งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ล่าสุดนักศึกษารุ่นแรกใกล้จบเผยผลงานดุษฎีนิพนธ์ชิ้นเอกที่เป็นที่สุดขององค์ความรู้เฉพาะด้านและเฉพาะบุคคลทั้งสิ้น 13 ผลงาน มนุษย์เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยตรรกะเพียงด้านเดียวได้ ต้องรู้จักการผ่อนปรน ในแต่ละวันนอกจากต้องกินให้อิ่มท้องแล้วมนุษย์ยังต้องการอาหารทางใจอย่าง “ศิลปะ” ที่จะเป็นตัวช่วยในการขับกล่อมให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีสีสัน ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ด้านศิลปะมากนัก แต่ในปัจจุบันจะสังเกตเห็นว่าเริ่มมีการนำศิลปะเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตมากขึ้น และล่าสุดแหล่งบ่มเพาะศิลปินอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องยกระดับองค์ความรู้ด้านศิลปะจึงได้มีการเปิด “หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง เป็นประธานหลักสูตร ซึ่ง ศ.เกียรติคุณปรีชา กล่าวว่า มีการเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกรุ่นแรกสำหรับหลักสูตรนี้เมื่อปี การศึกษา 2556 “เราเปิดหลักสูตรที่เป็นศิลปะสร้างสรรค์โดยมีกระบวนการวิจัย วิเคราะห์ สังเคราะห์มาประกอบกัน เน้นงานปฏิบัติที่คงความเป็นอัตลักษณ์ของตัวผู้เรียนเป็นหลัก และการวิเคราะห์หาเหตุผลร่วมกันไป ฝึกการค้นคว้าและอ้างอิงหลักคิดของศิลปินที่มีวิธีคิดคล้ายกันให้มากกว่าการอ้างอิงแต่ทฤษฎี เพื่อการสังเคราะห์และต่อยอดให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนได้สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานจิตกรรม งานประติมากรรม ดนตรี การแสดง และศิลปะแขนงต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลงานระดับดุษฎีนิพนธ์ที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะทางที่เป็นสุดยอดของศิลปินผู้สร้าง หรือ ผู้เรียน” นอกจากนั้น ศ.เกียรติคุณปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนที่มาเรียน ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สอนศิลปะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดและกลับไปบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจด้านศิลปะของไทยต่อไป ซึ่งหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ รุ่นที่ 1 ที่กำลังจะจบในอีกหนึ่งปีข้างหน้านี้มีจำนวนผู้เรียนทั้งสิ้น 13 คน แต่ละคนได้สร้างสรรค์ผลงานดุษฎีนิพนธ์ในแบบที่ตนถนัดแตกต่างกันออกไป อาทิ ผลงานที่ชื่อว่า “ไตรภูมิล้านนา ศิลปะการจัดวางภายใน วิหารพระเจ้าหมื่นองค์ จังหวัดเชียงราย” ของคุณดอยธิเบศร์ ดัชนี ซึ่งปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของ คุณดอยธิเบศร์ มีส่วนจากอิทธิพลทางหลักคิดของผู้เป็นพ่ออาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และจากการติดตามพ่อเข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ ทำให้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานดุษฎีนิพนธ์เกิดจากการออกแบบและสร้างศาสนสถานในปัจจุบัน เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานภายในวิหารพระเจ้าหมื่นองค์ วัดมุงเมือง จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล โดยนำหลักธรรมคำสอน คติธรรมในทางพระพุทธศาสนาเรื่องจักรวาลวิทยาวิถีพุทธ “ไตรภูมิล้านนา” และได้ทำการศึกษาไตรภูมิจากสถาปัตยกรรมในหลายยุคทั้งอยุธยา ธนบุรี และล้านนา รวมทั้งรูปแบบเชิงสัญญลักษณ์ทางศาสนาที่ตีความใหม่เพื่อสร้างเป็นปริศนาธรรมโดยมุ่งเน้นการใช้ศิลปะสื่อผสมในรูปแบบการจัดวางภายในซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะตัว เพื่อสื่อสารไปยังผู้ชมให้พิจารณาและตรึกตรองจนเกิดความเชื่อมโยงระหว่างหลักธรรมคำสอนกับการดำเนินชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาผ่านผลงานศิลปะในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบของตัวเอง และนอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สีโดยเน้นที่สีแดง สีดำ และสีทอง เป็นจุดดึงดูดความสนใจของชาวบ้านและคนทั่วไปให้มาที่วัดแห่งนี้ นอกจากนั้นยังมีผลงานของคุณเมตตา สุวรรณศร ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาพพิมพ์ วิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่สร้างสรรค์ผลงานดุษฎีนิพนธ์ด้วยแรงบันดาลใจจากคนในครอบครัวผ่านงานประติมากรรม “เส้นใยแห่งความรักของแม่” จากแนวคิดที่ว่าลูกคือทุกสิ่งของชีวิตแม่ ด้วยความที่ลูกชายเกิดมามีความผิดปกติทางสมองเป็นอาการออทิสติกระดับกลางที่บกพร่องด้านการสื่อสารจนไม่สามารถพูดบอกความต้องการได้ แต่สิ่งเดียวที่ทำได้คือการวาดภาพด้วยลายเส้นขาดๆ เกินๆ บิดๆ เบี้ยวๆ ในมุมมองที่แตกต่างจากคนปกติเพื่อเป็นการสื่อสารกับแม่ ซึ่งคุณเมตตาได้เห็นถึงความงามของลายเส้นที่ลูกวาดมีความพิเศษจึงได้หยิบยกความงามบนความไม่สมบูรณ์จากเส้น 2 มิติของลูกมาสร้างสรรค์ให้เป็นผลงาน 3 มิติที่เน้นรูปทรงที่เกิดจากจินตนาการของเด็กพิเศษ นำความรู้สึกจากความรักร้อยรวมเข้ากับเทคนิคการถักโครเชต์ที่ตนถนัดก่อรูปเส้นด้ายที่อ่อนนุ่มแต่ละเส้นอย่างพิถีพิถันดั่งสายใยความรักที่มีต่อลูกอย่างใส่ใจทุกรายละเอียด นอกจากนี้การสร้างงานศิลปะด้วยการถักโครเชต์ได้ช่วยลดความเครียดในใจที่เกิดจากความเป็นห่วงของผู้เป็นแม่ลงได้ เป็นการบำบัดทุกข์ด้วยศิลปะ และเมื่อคุณเมตตาใช้ศิลปะร่วมวาดรูปกับลูก ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้ลูกชายของคุณเมตตามีสมาธิมากขึ้นตามลำดับ ถือได้ว่าศิลปะเป็นงานบำบัดชั้นดีระหว่างแม่กับลูก ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ ปรีชา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่าหลักสูตรนี้เป็นการก้าวไปอีกขั้นของวิชาการศิลปะไทยที่จะทำให้ผู้เรียน หรือศิลปินมีองค์ความรู้ในด้านที่ตนนั้นถนัดเข้มแข็งและโดดเด่นขึ้นมาจนสามารถต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งนี้ศิลปะสามารถนำมาเป็นองค์ความรู้ให้คนได้ตระหนัก ไตร่ตรอง เพราะคนเราใช้ชีวิตด้านเดียวไม่ได้ ยังมีเรื่องของสภาวะทางจิต เป็นเรื่องของ EQ ที่ต้องเป็นส่วนเติมเต็มในชีวิตซึ่งศิลปินก็มีหน้าที่เติมเต็มในด้านนั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ