สนช. ผ่านกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อปราบปรามการทุจริตข้ามชาติและการติดตามทรัพย์สินกลับคืนตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 6, 2015 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 เวลา 16.00 น. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) ว่าประเทศไทย เข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญา UNCAC มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงก่อให้เกิดหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณี ของอนุสัญญาหลายประการ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับและสามารถปฏิบัติตามพันธกรณี อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อดำเนินการ ตามพันธกรณีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงได้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช. ได้พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป สำหรับประเด็นสำคัญๆ ของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาทิ - กำหนดฐานความผิดการให้/รับสินบนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ - กำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ - กำหนดหลักการริบทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ - กำหนดหลักอายุความ โดยมิให้มีการนับอายุความ หากมีการหลบหนีในคดีทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอขอบคุณสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต เพราะผลของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต ในฐานะรัฐภาคีได้อย่างครบถ้วนและ ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการแก้ไขกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปราม การทุจริตให้เป็นสากล เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นจากนานาประเทศยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเป็นผู้ถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวจากผู้แทนรัฐผู้ประเมิน ประกอบด้วย ราชอาณาจักรบาเรนห์ และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ซึ่งจะมาประเมินประเทศไทย ในขั้นตอนการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย (Joint meeting or Country visit) ในเดือนพฤษภาคมนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ