วิธีแยกเกลือออกจากน้ำแบบง่ายๆ “Sorp Soft ” นวัตกรรมจากฝีมือนักวิจัยไทย

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2015 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักวิจัย มจธ. คิดค้นวิธีแยกเกลือออกจากน้ำแบบง่ายๆ ใช้ไฟเพียง 5 โวลต์ เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก “Sorp Soft” เครื่องแยกเกลือออกจากน้ำ ฝีมือคนไทย สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้ 80 ลิตรต่อชั่วโมง เพียงพอกับการบริโภค 4 คน “ดื่ม” ได้ปราศจากเชื้อโรคและสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังใช้ได้กับน้ำกร่อยและน้ำขมอีกด้วย เมื่อโลกต้องเผชิญกับการขาดแคลน “น้ำจืด” ผลจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (climate change) แหล่งน้ำจืดที่เคยพอเพียงสำหรับการอุปโภค บริโภค กำลังถูกน้ำทะเลรุกเข้าแทนที่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลกกำลังคิดค้นวิธีที่จะทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด สำหรับประเทศไทยได้มีการคิดค้นและพัฒนา “เครื่องแยกเกลือออกจากน้ำ หรือที่เรียกว่า เครื่อง Sorp Soft ” ผลงาน ของ ผศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เครื่อง Sorp Soft พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการแบบง่ายๆ เหมาะสำหรับการผลิตน้ำจืดเพื่อใช้บริโภคเองได้ในครัวเรือน หรือแม้แต่ผู้ประสบภัยที่ขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการบริโภค หรือผู้ที่อาศัยบนเกาะกลางทะเล ก็สามารถนำเครื่องดังกล่าวไปใช้ได้ ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวถึงที่มาว่า แนวคิดนี้เกิดจากปัญหาการรุกของน้ำทะเลเข้าสู่แผ่นดินแล้วทำให้แหล่งน้ำต่างๆ อาจมีสภาวะที่ไม่เหมาะสมจะนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ เนื่องจากน้ำทะเลมักจะมีเกลือ ความกระด้าง จุลินทรีย์ และบางครั้งอาจพบโลหะหนักปนเปื้อน เมื่อนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค จึงจำเป็นต้องกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านี้ออกจากน้ำ วิธีทำให้น้ำทะเลสามารถดื่มได้และต้องดื่มได้อย่างปลอดภัย จึงคิดค้นนวัตกรรมที่นำเอาสิ่งปนเปื้อนดังกล่าวออก ด้วยวิธีทาง “เคมีไฟฟ้า” สำหรับเครื่อง Sorp Soft ประกอบด้วย 3 ส่วน โดยหลักการทำงาน เริ่มจากการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงที่ระดับความต่างศักย์ 5 โวลต์เข้าไปที่ขั้วอะลูมิเนียม เพื่อให้ไอออนของเกลือต่างๆแตกตัว จะพบก๊าซต่างๆ รวมทั้งคลอรีนที่ขั้วอะลูมิเนียม ก๊าซคลอรีนนี้จะสามารถฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ไอออนของเกลือบางส่วนจะรวมกับอะลูมิเนียม เกิดเป็นฟล็อค ซึ่งเป็นตะกอนคล้ายๆ ปุยนุ่น จากนั้นน้ำจะผ่านเข้าสู่ชั้นถ่านกัมมันต์ เพื่อกำจัดสี และกลิ่น รวมถึงโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล แล้วน้ำจะถูกส่งต่อไปยังชั้นเรซิ่น ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนปะจุ มีทั้งเรซิ่นปะจุบวก และเรซิ่นปะจุลบ โดยเรซิ่นประจุบวกและประจุลบ ทำหน้าที่ในการแยกไอออนที่มีประจุบวก และประจุลบออกจากน้ำ ตามลำดับ เมื่อเสร็จขั้นตอนทั้ง 4 กระบวนแล้วจะได้น้ำจืด ที่ไร้สี กลิ่น ปราศจากเชื้อโรคปนเปื้อน และโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะมีปริมาณลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่สามารถบริโภคได้ เหมือนน้ำดื่มทั่วไป ผศ.ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า จากผลการทดลอง เรานำน้ำที่ผลิตได้จากเครื่อง Sorp Soft มาวิเคราะห์คุณภาพ พบว่า เป็นน้ำจืด ที่สะอาด ผ่านมาตรฐานน้ำดื่ม ดังนั้นจึงมั่นใจว่าน้ำทะเลที่ผ่านเครื่อง Sorp Soft สามารถบริโภคได้จริง โดยขนาดของเครื่อง Sorp Soft ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นนี้ สามารถแยกเกลือที่มีความเข้มข้นสูง เช่น มีค่าความเค็มอยู่ที่ 35 ส่วนในพันส่วน จะได้น้ำดื่มถึง 85 ลิตร ต่อกระบวนการผลิต 1 ครั้ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 1ชั่วโมง หรือกรณีน้ำกร่อยที่มีค่าความเค็มของเกลืออยู่ที่ 10 – 25 ส่วนในพันส่วน จะได้น้ำดื่ม 120-250 ลิตรต่อชั่วโมง แม้แต่น้ำขมซึ่งเป็นน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตเกลือสินเธาว์ในพื้นที่ภาคอีสาน ก็สามารถนำมาผลิตน้ำจืดใช้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเหมาะสำหรับนำไปใช้ในครัวเรือนเพื่อการผลิตน้ำจืดจากน้ำเค็มได้เพียงพอต่อการบริโภคสำหรับครัวเรือน 4 คน และผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมก็สามารถใช้เครื่องนี้ผลิตน้ำสำหรับการบริโภคในช่วงที่รอคอยความช่วยเหลือสามารถใช้เครื่อง Sorp Soft ต่อเข้ากับถ่านไฟฉายจำนวน 2 ก้อน หรือขนาด 6 โวลต์เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ