ความคืบหน้าคดีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2015 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕8 เวลา 1๕.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ไต่สวน กรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) และนายปกรณ์ พันธุ ในฐานะอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมจำนวน 36 ราย ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต กรณีการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553) โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาแล้ว มีมติ ดังนี้ ๑. กรณีกล่าวหานายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะเป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 โดยมิชอบด้วยกฎหมายคณะอนุกรรมการไต่สวน พิจารณาแล้ว เห็นว่านายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในขณะนั้นและในฐานะประธานคณะทำงานช่วยเหลือเยียวยาด้านเงินตามหลักมนุษยธรรม มีหน้าที่ในดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 6 มีนาคม 2555 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เช่นเดียวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธงทอง จันทรางศุ) เป็นประธาน ที่พิจารณากรณีเกิดปัญหาการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการกระทำของนายปกรณ์ พันธุ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้จ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพียงพอตามข้อกล่าวหา จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหา ตกไป ๒. กรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติและจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับคณะอนุกรรมการไต่สวน พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม2555 และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 และให้ใช้งบประมาณจากเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 กำหนดว่าการจ่ายเงินแผ่นดินหรือเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว จะกระทำได้แต่เฉพาะที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่ทางราชการ การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะรัฐมนตรี ร่วมกันมีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 และวันที่ 6 มีนาคม 2555 ให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ทางการเมือง และให้ใช้งบประมาณจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) มาใช้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ทั้งที่มิใช่เป็นการจ่ายเงินเกี่ยวกับปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะแห่งรัฐ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่หากไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่เป็นการจ่ายในลักษณะเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อใช้บังคับกับกรณีนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาได้เคยจ่ายเงินในลักษณะเดียวกันนี้ โดยอาศัยพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายรองรับเพื่อก่อให้เกิดสิทธิในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง กรณีจึงเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินหรือเงินงบประมาณโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ประกอบกับกรอบอัตราการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นวงเงินงบประมาณจำนวนสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการเยียวยาความเสียหายต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีอื่น ๆ อาทิ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น อีกทั้งมีการกำหนดการชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ เป็นจำนวน 3,000,000 บาท โดยไม่มีขั้นตอนพิสูจน์ความเสียหายหรือความสูญเสียแต่อย่างใด อันก่อให้ผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ เป็นการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง ดังนั้น การกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวน 1,921,061,629.46 บาท (หนึ่งพันเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดล้านหกหมื่นหนึ่งพันหกร้อยยี่สิบเก้าบาทสี่สิบหกสตางค์) คณะอนุกรรมการไต่สวน จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี รวมจำนวน 34 ราย เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 สำหรับผู้ถูกกล่าวหา ราย นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2556

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ