รู้ทันปัญหาโรคเหงือก

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2015 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--pinkonypink ทันตแพทย์วิทยา ซื่อสัตย์ VDC Dental Clinic ปัญหาของโรคเหงือกคือการอักเสบของเหงือกที่สามารถพัฒนาไปเป็นการติดเชื้อที่กระดูกที่ยึดติดฟันและบริเวณใกล้เคียง ทันตแพทย์วิทยา ซื่อสัตย์ ให้คำแนะนำว่า โรคเหงือกเกิดจากแบคทีเรียซึ่งเป็นเหมือนฟิล์มที่ใสที่เกาะอยู่บนตัวฟัน ถ้าไม่ทำความสะอาดออกไปทุกวันด้วยการแปรงฟันและขัดฟัน คราบแบคทีเรียก็จะสะสม และไม่เพียงแค่เหงือกและฟันก็จะติดเชื้อ แต่รวมถึงเนื้อเยื่อและกระดูกที่ยึดติดกับฟันด้วย ซึ่งอาจทำให้ฟันโยก หลุด หรือต้องถูกถอนออกไป สำหรับสาเหตุและผลกระทบของโรคเหงือก โรคเหงือกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือคราบพลัคที่เกิดจากแบคทีเรียซึ่งเป็นเหมือนฟิล์มใส ๆ ที่เกาะอยู่บนเนื้อฟัน ถ้าไม่กำจัดออกไปแบคทีเรียจะทำให้เหงือกบวม และถ้าปล่อยไว้เหงือกจะเริ่มแยกจากเนื้อฟัน แบคทีเรียก็จะเติบโตอยู่ในช่องว่างระหว่างเหงือกและฟัน เมื่อถึงขั้นนี้อาการจะรุนแรงขึ้นจนทำให้กระดูกและเนื้อเยื่อที่ช่วยพยุงฟันถูกทำลาย คราบพลัคที่สะสมอยู่บนฟันและในช่องว่างระหว่างเหงือกและฟันจะแข็งขึ้นจนกลายเป็นคราบหินปูน คราบที่แข็งและติดแน่นอยู่กับเนื้อฟันนี้เอาออกได้ยาก ไม่เหมือนกับคราบพลัคที่สามารถแปรงออกได้ นี่เป็นอันตรายเพราะแบคทีเรียที่เติบโตอยู่ในคราบหินปูนจะทำลายเหงือกไปเรื่อย ๆ สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคเหงือกคือ การไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี การกินยากดภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อจากไวรัส ความเครียด โรคเบาหวาน การดื่มจัด การสูบบุหรี่ และระดับฮอร์โมนเปลี่ยนเมื่อตั้งครรภ์ โรคเหงือกทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมา เช่น เมื่อมีแผลในปากหรือต้องถูกถอนฟัน คุณก็จะเคี้ยวอาหารไม่สะดวก อาจพูดไม่ชัด เวลายิ้มก็ขาดความมั่นใจ นอกจากนั้น การวิจัยยังแสดงว่าสุขภาพในช่องปากก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมด้วย “โรคเหงือกอักเสบหากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ในผู้ป่วยบางรายจะกลายเป็น “โรคปริทันต์อักเสบ” (สมัยก่อนเรียก โรครำมะนาด) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่ ลักษณะของโรคปริทันต์อักเสบคือ เหงือกไม่ยึดกับฟัน ร่วมกับมีการทำลายกระดูกที่รองรับตัวฟัน ตรวจได้จากการใช้เครื่องมือเล็กๆ หยั่งร่องเหงือกลงไปได้ลึก เรียก “ร่องลึกปริทันต์” ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคผลิตสารพิษและกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของร่างกายอย่างมาก จนเกิดการทำลายเหงือกและกระดูกที่ยึดฟัน โรคปริทันต์อักเสบเมื่อเป็นช่วงต้นมักจะไม่มีอาการ ลักษณะที่พอจะใช้สังเกตได้คล้ายกับลักษณะของโรคเหงือกอักเสบ กล่าวคือ เหงือกแดง บวมเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีเลือดออกขณะแปรงฟัน เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนกระดูกที่รองรับฟันถูกทำลายไปมากแล้ว อาจจะพบ เหงือกร่น ฟันโยก หรือฟันเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิม การมีหนองและกลิ่นปาก หรือเหงือกบวมใหญ่จนเป็นฝีปริทันต์ เมื่อมีอาการเหล่านี้แล้วการรักษามักจะยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง และในบางกรณีอาจจะไม่สามารถเก็บฟันไว้ได้” โรคเหงือกรักษาได้อย่างไร ระยะเริ่มแรกของโรคเหงือกสามารถรักษาได้ด้วยการแปรงฟันหรือการใช้ไหมขัดฟัน การดูแลสุขภาพปากและฟันที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดคราบแบคทีเรียสะสม การทำดูแลทำความสะอาดช่องปากโดยทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นทางเดียวที่จะขจัดคราบแบคทีเรียที่สะสม และแข็งตัว โดยทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูนที่แข็งตัวออกจากฟันและร่องเหงือก ถ้ามีอาการมาก อาจจะต้องทำการรักษารากฟัน ซึ่งจะช่วยดูแลรากฟันไม่ให้หินปูนเข้าไปสะสมได้ง่าย สรุปปัญหาจากโรคเหงือกเนื่องจากโรคปริทันต์อักเสบ เป็นผลจากการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโรคในคราบจุลินทรีย์ ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบสูงขึ้น ปัจจัยที่มีผลอย่างเด่นชัด คือ โรคเบาหวาน และการสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากถึง 2 เท่าของผู้ป่วยที่ไม่มีโรคนี้ และหากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี โอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบจะมากกว่าผู้ป่วยปกติถึง 11 เท่า เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ทั้งนี้หากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และลดหรือเลิกสูบบุหรี่โอกาสในการรักษาโรคปริทันต์ให้ได้ผลสำเร็จจะมีมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ