เปิดตัวโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย พร้อมเสวนา “เกษตรอินทรีย์ เกษตรไทย ปลอดภัยทุกคน” เพื่อพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน พร้อมระดมตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจากทั่วประเทศมาให้ความรู้ ทดลองทำจริง!!

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2015 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.-- มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดแถลงข่าว “โครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน” พร้อมเสวนาหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์ เกษตรไทย ปลอดภัยทุกคน” เพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร คุณอำนวย สกุลวัฒนะ ประธานกลุ่มออแกนิคแลนด์, พอ.วีรพันธ์ สมัครการ รองเจ้ากรมการสัตว์ทหารบก, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ เรืองประเทืองสุข รองอธิการบดี ม.บูรพา, ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พราหมณ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ และ อ.อภิรักษ์ ชัยปัญหา ภาควิชาภาษาไทย ม.บูรพา โดยภายหลังพิธีเปิดโครงการฯ จะระดมตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจากทั่วประเทศมาให้ความรู้ ทดลองทำจริง ณ ออแกนิค แลนด์ ด้วย (วันอังคารที่ 19 พ.ค. 2558 ณ ห้องเทาทอง 2 ม.บูรพา) ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ พราหมณ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ม.บูรพา ให้รายละเอียดว่า “สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรด้านเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศที่มีสมาชิกกว้างขวางที่สุดในโลก ได้ให้ความหมายของคำว่า “เกษตรอินทรีย์ หรือ “Organic Agriculture” คือ ระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสุขภาพดิน ระบบนิเวศ และผู้คน เกษตรอินทรีย์พึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรธรรมชาติที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีผลกระทบทางลบ เกษตรอินทรีย์ผสมผสานองค์ความรู้พื้นบ้าน นวัตกรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกผู้คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆที่เกี่ยวข้อง” ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบ โดยการให้ความรู้กับประชาชน พร้อมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันในระยะแรก ต่อมาเมื่อรัฐบาลเห็นว่าประชาชนเริ่มยอมรับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่มีความปลอดภัยกับผู้ผลิตและผู้บริโภค จึงได้มีการผลักดันเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติในปี ๒๕๔๘ และสนับสนุนงบประมาณให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๔๙ ซึ่งมีการดำเนินการเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน” องค์กรปกครองท้องถิ่นถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ จึงต้องมีการบริหารจัดการท้องถิ่นและสนับสนุนการดำเนินการทางนโยบายของรัฐบาล เพราะองค์กรปกครองท้องถิ่นย่อมมีความเข้าใจในสภาพปัญหาของของพื้นที่ดีกว่า หน่วยงานอื่นๆ แต่นโยบายท้องถิ่นที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพมากกว่านโยบายที่เน้น“การพึ่งพาตนเอง โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มี”ฉะนั้นการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่รัฐบาลปัจจุบันได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด"โรดแมพ"หรือแผนงานสำคัญที่ต้องดำเนินการใน ๔ เรื่องหลักเพื่อพัฒนาการเกษตรของไทย คือ ๑.การลดต้นทุนการผลิต เช่น การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี การจัดทำแปลงเรียนรู้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ความรู้เกษตรกร ๒.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉพาะสินค้าข้าว เช่น การพัฒนาและส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและปรับการผลิตข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก ๓.การเพิ่มรายได้เกษตรกร และการจัดการผลผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและโอกาสให้แก่สินค้าเกษตร ๔.การจัดการในเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกร เป็นต้น โดยนโยบายเหล่านี้จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรอินทรีย์เข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศเพื่อเป็นอีกช่องทางเลือกในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนให้ประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น ทางเลือกหนึ่งที่ชุมชนท้องถิ่นให้ความสนใจและยอมรับว่าเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกษตรอย่างจริงจัง คือ “เกษตรกรรมทางเลือก” และระบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของเกษตรทางเลือกที่เกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นเชื่อว่าสามารถนำไปปรับใช้แล้วเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแนวทางเกษตรอินทรีย์นั้นผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจอีกมากในหลักการ กระบวนการและแนวทางการดำเนินการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงเห็นว่าเพื่อเป็นการตอบสนองต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาสังคมและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐที่มุ่งสนับสนุนให้ภาคประชาชนสามารถพัฒนาและใช้ทรัพยากรของตนสร้างอาชีพและเพิ่มพูนรายได้ของตนในเชิงรุกมากกว่าการขอการช่วยเหลือแต่จากภาครัฐนั้น โครงการฝึกอบรมดังกล่าวจึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน” ด้าน ดร.แบงค์-พีรพัฒน์ มั่งคั่ง หัวหน้าฝ่ายวิจัยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ม.บูรพา สำหรับวัตถุประสงค์ของ “โครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน” คือ ๑. เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ใน ๔ ประเด็นหลัก คือ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มรายได้เกษตรกร การจัดการในเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ๒. เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งทางด้านทฤษฎี และการปฏิบัติเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายท้องถิ่น หรือนำไปสู่การจัดทำแหล่งเรียนรู้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย ตลอดทั้งการจัดหาแหล่งวัสดุการเกษตรคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ๓. เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติและประหยัดค่าใช้จ่าย ๔. เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่สนใจการเกษตรในรูปแบบของภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองในระบบกลไกแบบตลาด (จำหน่ายตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง) รายละเอียดหลักสูตรการอบรม ดังนี้ ๑. การพัฒนาเกษตรอินทรีย์สู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ๒. การพัฒนาการเปลี่ยนแปลงการเกษตรเคมีสู่การพึ่งพาตนเองตามแนวคิดเกษตรอินทรีย์ (ประโยชน์ ความคุ้มค่า และคุ้มทุนต่อการบริหารจัดการ) ๓. หลักพื้นฐานการทำเกษตรอินทรีย์ (การประเมินทรัพยากร/การจัดหาแหล่งวัตถุดิบคุณภาพ/กระบวนการทางการเกษตร) ๔. รูปแบบและวิธีการเพาะปลูกผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ๕. ปัญหาและอุปสรรค /แนวทางการแก้ไข ๖. การจัดตั้งเครือข่ายการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอาชีพและรายได้ของประชาชน และช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล ๗. ศึกษาดูงานและภาคปฏิบัติ โดยเชิญวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยบูรพา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร, สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ๑. ผู้บริหารท้องถิ่น มีส่วนในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ใน ๔ ประเด็นหลัก คือ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มรายได้เกษตรกร การจัดการในเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ๒. ผู้บริหารท้องถิ่น ได้รับการสร้างและพัฒนาศักยภาพของตน ทั้งทางด้านทฤษฎี และการปฏิบัติเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำผลการอบรมนั้นไปกำหนดเป็นนโยบายท้องถิ่น หรือนำไปสู่การจัดทำแหล่งเรียนรู้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย ตลอดทั้งการได้แหล่งวัสดุการเกษตรคุณภาพที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ๓. ผู้บริหารท้องถิ่น มีแน้วโน้มการปรับเปลี่ยนทัศนคตินโยการเปลี่ยนระบบการผลิตภาคเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต ๔. ผู้บริหารท้องถิ่น เกิดการรวมกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่สนใจการเกษตรในรูปแบบของภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองในระบบกลไกแบบตลาด (การจำหน่ายตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง) สำหรับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการฯ นี้ คือ ผู้บริหารท้องถิ่น อันได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ปรึกษานายกฯ เลขานุการนายกฯ สมาชิกสภาฯ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการ เป็นต้น โดยสามารถเข้าร่วม โครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ในครั้งต่อไป ทางผู้จัดคาดหวังเป้าหมาย 10 รุ่นๆละ 100 ท่าน เริ่มรุ่นแรก 23-26 มิ.ย. 2558 ณ สถานที่ในส่วนกลาง กทม. และศูนย์การเรียนรู้ ฝึกอบรม ออร์แกนิคแลนด์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ