ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต WHA เป็น BBB+(tha) นำออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 20, 2015 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัดประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของ WHA ที่ ‘F2(tha)’ อันดับเครดิตดังกล่าวทั้งหมดได้รับการนำออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบซึ่งได้ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ การประกาศดังกล่าวเป็นผลจากการที่ WHA ได้เข้าซื้อกิจการในสัดส่วนร้อยละ 92.88 ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (Hemaraj) ปัจจัยที่มีผลต่ออันอับเครดิต อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น: การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังจากการเข้าซื้อกิจการ อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จากงบการเงินรวมหลังจากการรวมกิจการน่าจะสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2558-2559 เนื่องจากมูลค่าการเข้าซื้อกิจการในจำนวนเงินประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 78 ที่มีแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืม บริษัทฯ มีข้อผูกพันกับผู้ให้กู้ยืมที่จะลดอัตราส่วนหนี้สินลงมาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนการเข้าซื้อกิจการภายในกลางปี 2560 โดยแผนการชำระหนี้คืนประกอบด้วย การขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก การขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และการขายหุ้นบางส่วนใน Hemaraj นอกจากนี้ ในช่วงปี 2558-2559 บริษัทฯ คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในการซื้อที่ดินน่าจะลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนที่ลดลงได้จากแผนธุรกิจที่จะมีการดำเนินการร่วมกันหลังจากการเข้าซื้อกิจการ ความไม่แน่นอนของการขายสินทรัพย์: แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของแผนการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ โดยแหล่งเงินทุนที่บริษัทฯ คาดว่าจะนำมาใช้เพื่อชำระหนี้ส่วนใหญ่มาจากการขายสินทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพตลาด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าและช่วงเวลาที่จะขายสินทรัพย์ได้ ความเสี่ยงทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป: การเข้าซื้อกิจการเป็นการขยายธุรกิจของ WHA ไปสู่ธุรกิจการพัฒนาและขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งฟิทช์มองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าให้เช่าที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Built-to-Suit) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเดิมของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะถูกลดทอนลงบางส่วนจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคของ Hemaraj ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่การให้บริการเกี่ยวกับน้ำแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่า รวมถึงเงินปันผลจากบริษัทร่วมในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งน่าช่วยเพิ่มสัดส่วนของรายได้ประจำที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอของบริษัทฯ และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม การเข้าซื้อกิจการของ Hemaraj ยังเป็นการทำให้ WHA มีแหล่งที่ดินขนาดใหญ่ในทำเลที่เป็นกลยุทธ์สำคัญ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ การด้อยสิทธิของหนี้จากโครงสร้างการกู้ยืม: หนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ WHA อาจจะอยู่ในสถานะด้อยสิทธิในทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ต่อเงินกู้ยืมเพื่อเข้าซื้อกิจการ โดยเงินกู้ยืมเพื่อเข้าซื้อกิจการมีทั้ง WHA และบริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทย่อยของ WHA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงของ Hemaraj เป็นผู้กู้ร่วมกัน และได้รับหลักประกันเป็นหุ้นของ Hemaraj ซึ่งทำให้ผู้ให้กู้ของเงินกู้ยืมเพื่อเข้าซื้อกิจการมีอำนาจควบคุมและมีความสามารถในการเข้าถึงกระแสเงินสดของ Hemaraj ที่เหนือกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ WHA ฟิทช์จะพิจารณาอันดับเครดิตของหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ WHA อีกครั้งเมื่อได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างการกู้ยืมและลำดับของการชำระหนี้ สมมุติฐานที่สำคัญ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - รายได้รวมมีการเติบโตในอัตรามากกว่าร้อยละ 100 จากการรวมกิจการกับ Hemaraj - การเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากของหนี้สินจากเงินกู้ยืมเพื่อเข้าซื้อกิจการ ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยลบ: อัตราส่วนหนี้สินรวมที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง และ/หรือ ความเสี่ยงของธุรกิจหลังจากการรวมธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับก่อนการเข้าซื้อกิจการ ปัจจัยบวก: อัตราส่วนหนี้สินรวมที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง และ/หรือ ความเสี่ยงของธุรกิจหลังจากการรวมธุรกิจไม่แตกต่างจากระดับก่อนการเข้าซื้อกิจการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ