ปกป้องเยาวชนไทยห่างไกลบุหรี่

ข่าวทั่วไป Friday May 22, 2015 11:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.-- การบริโภคยาสูบ เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย ผู้ที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากสารประกอบที่อยู่ในบุหรี่หลายชนิดก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น นอกจากจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพแล้วยังส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคม ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านต่างๆ อย่างประเมินค่ามิได้ ซึ่งสถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 20 ปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการ ร่วมกันผลักดันให้คนไทย ลด ละ เลิก การสูบยาสูบทุกประเภท ส่งผลให้แนวโน้มการสูบบุหรี่ ลดลงโดยลำดับในช่วงปี 2534-2554 จากจำนวน 12.26 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2534 เหลือ จำนวน 11.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของประชากรทั้งประเทศ (การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของประชากรไทย : สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2556) ในปี 2557 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 54.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่ จำนวน 11.4 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ระหว่าง ปี 2557 กับ ปี 2556 พบว่า ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ชายเพิ่มจากร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 40.5 ผู้หญิงเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.1 เป็น ร้อยละ 2.2 โดยอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 18.4 เท่า และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 423บาท (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับครอบครัวและประเทศ ค่าใช้จ่ายในการสูบบุหรี่ : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ /เล่มที่ ๒๘ /เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่) ผลการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นว่าอายุของนักสูบหน้าใหม่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ในปี 2557 เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 15.6 ปี น้อยกว่าปี 2554 ที่เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 16.2 ปี (การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของประชากรไทย : สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2556) และในปี 2558 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ปี น้อยกว่าปี 2557 ที่เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 15.6 ปี (การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ : ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน พ.ศ. 2558) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนและบังคับใช้มาตรการและกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรม และควรปรับปรุงกฎหมาย นโยบายการควบคุมยาสูบให้ทันสมัย ตลอดจนการผลักให้ยาเลิกบุหรี่ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอยู่ในบัญชียาหลัก ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคม เพื่อสกัดกั้นการเกิดนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ลดนักสูบหน้าเก่า ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดภัยจากควันบุหรี่ อันจะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มีการบังคับใช้มากว่ายี่สิบปี เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน เป็นภาคีของอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องพิษภัยร้ายแรงจากการเสพติดยาสูบและการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งในขณะเดียวกัน บริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ และมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เช่น การใช้พริตตี้ การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม การพัฒนาบุหรี่รสชาติใหม่ เป็นต้น ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน อีกทั้งในปัจจุบันมีเว็บไซต์มากกว่า 2,000 เว็บไซต์ที่ ทำการโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่/ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ยังไม่ได้แจ้งส่วนประกอบ หรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้จำหน่ายหรือไม่เสียภาษีสรรพสามิต หรือตัวผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตในการขาย นอกจากนี้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบทางอินเตอร์เน็ต ยังไม่สามารถควบคุมมิให้จำหน่ายแก่ผู้ซื้อที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ ดร. วรานิษฐ์ ลำใย หัวหน้าโครงการสนับสนุนกิจกรรมสร้างกระแส แสดงจุดยืนหนุน พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน กล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังมีการรณรงค์ผลักดันให้มีการพิจารณา พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยถ้าหากพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะส่งผลต่อการลดอุปสงค์ยาสูบของเยาวชนและป้องกันเยาวชนรายใหม่ที่เสพติดบุหรี่ได้ปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน ซึ่งจะลดความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ได้เฉลี่ย 15,800 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้แทบจะไม่กระทบรายได้ภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการ คลัง ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีบุหรี่ได้ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเป็นสัดส่วนรายได้ภาษีจากบุหรี่นอกร้อยละ 38 และมาจากบุหรี่ภายในประเทศร้อยละ 62 ส่วนชาวไร่ผู้ปลูกใบยาสูบมีช่องทางการขายใบยาสูบหลายช่องทาง ตั้งแต่การขายให้โรงงานยาสูบมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาทและการส่งออกมูลค่ากว่า 2,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ประกอบการยาเส้นภายในประเทศ ดังนั้น ชาวไร่จะได้รับผลกระทบจากการลดอุปสงค์ภายในประเทศไม่มาก และมีระยะเวลาในการปรับตัวไปปลูกพืชอื่นๆที่มีผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าร่วมด้วย” จากมาตรการที่กำหนดในร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ล้วนเป็นมาตรการสากลที่กำหนดอยู่ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ที่ประเทศไทยรวมทั้ง 178 ประเทศ เป็นรัฐภาคีและเป็นมาตรการที่ประเทศต่างๆ ได้ปฏิบัติกันอยู่แล้ว ด้วยเห็นผลดังกล่าวทางคณะผู้ดำเนินโครงการจึงเห็นความสำคัญในการที่จะสร้างกระแสสังคม ขยายเครือข่ายเพื่อผลักดันและสนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไทย และลดการสูญเสียเศรษฐกิจของประเทศ ผศ.ดร.พิจิตรพงศ์ สุนทรพิพิธ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า “แม้ว่ามีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนกว่าหลายร้อยองค์กรเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อให้ทันเล่ห์กลของนายทุนบุหรี่ข้ามชาติ ที่พยายามโฆษณาเชิญชวนให้เยาวชนมีค่านิยมของการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากแนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มสูบบุหรี่ด้วยอายุที่น้อยลงจากปีก่อนๆ” “ขณะนี้เยาวชนไทยติดบุหรี่แล้ว 1.67 ล้านคน ซึ่งเด็กไทยกว่าร้อยละ 80 ที่ซื้อบุหรี่แบบแบ่งซองขาย ประเทศไทยประกาศเข้า AEC ในปี 2558 ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้าน AEC เช่น ลาว เมียนมาร์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ก็มีกฎหมาย(ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้มานานแล้ว)ห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นมวนแล้ว และทำไมประเทศไทยจึงไม่เห็นความสำคัญกับสุขภาพของเยาวไทยซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะบริหารประเทศในอนาคตต่อไป” ผศ.ดร. พิจิตรพงศ์กล่าว และนี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากกลุ่มเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมรณรงค์สนับสนุนพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ในหลากหลายภาคส่วน น.ส.สุภัทรา บุญอภัย – แกนนำอาสาเพื่อสังคมของชุมชนวัดมะกอก ในสังคมไทยปัจจุบันเราจะพบเห็นเด็กและเยาวชนเริ่มต้นสูบบุหรี่กันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 8 ปีขึ้นไปก็เริ่มหันมาทดลองสูบบุหรี่จากการชักชวนของกลุ่มเพื่อนฝูงหรือความอยากรู้อยากลอง และสุดท้ายก็มีพฤติกรรมเสพติดบุหรี่จนเป็นนิสัย ดังนั้นจึงมีการออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ(ฉบับใหม่) โดยจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อลดการเกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่เกิดขึ้น พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับใหม่) ได้มีการเพิ่มเติมการแก้ไขคำนิยามของคำว่า "ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ให้หมายถึงรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ และคำนิยามคำว่า "การโฆษณา" ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ อาทิ การใช้สื่อบุคคล เช่น พริตตี้ พ.ร.บ. (ฉบับใหม่) ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนโดยห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์,ห้ามขายบุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุซองน้อยกว่า 20 มวนและห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแรตเป็นมวนๆ จากข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับใหม่) ทำให้เห็นถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนที่สามารถเข้าถึงการสูบบุหรี่ได้ง่ายจากการซื้อบุหรี่ที่แบ่งขายเป็นมวนๆ เด็ก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต้องมาเป็นเหยื่อให้แก่พิษภัยของบุหรี่ และเมื่อเสพติดก็จะเกิดปัญหาตามมาต่างๆ เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นและอาจจะรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศชาติ จึงขอเชิญชวนให้ช่วยกันสนับสนุน พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์ยาสูบ(ฉบับใหม่) เพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้ไม่ไปเป็นเหยื่อให้แก่บุหรี่และสุขภาพจะได้ไม่สูญเสียไปก่อนวัยอันควร นายกฤษณะ บุญแผน - Brand Ambassador มหาวิทยาลัยมหิดล จากการทำกิจกรรมร่วมกับทางมหาวิทยาลัยและชุมชน ประชาชนส่วนมากเห็นด้วยกับการผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ(ฉบับใหม่) และบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงบางข้อ ส่วนตัวผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ สำหรับพลังนิสิตนักศึกษาที่จะช่วยผลักดันให้ พ.ร.บ. เกิดขึ้นจริง ใช้ได้จริง ทำให้นักศึกษาและประชาชนบางส่วนเกิดความตระหนักและใส่ใจกับปัญหาของบุหรี่มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนส่วนมากไม่ทราบมาก่อนว่ามี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ดังนั้น การทำกิจกรรมรณรงค์สนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ตระหนักและสนใจในการร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มากขึ้น สุดท้าย ผมขอเสนอให้มีการทำกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในทุกสื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงกฎหมายมากขึ้นครับ น.ส.จรินทร์ มีแสง – ตัวแทนนักศึกษาจากราชบุรี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับใหม่) จะเข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้มากกว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิม ซึ่งช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ อันเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มบริษัทยาสูบ การดำเนินการในการปรับปรุงและแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ทันยุคทันสมัย เพื่อส่งเสริมและผลักดันเด็กและเยาวชนของประเทศให้เติบโตเป็นอนาคตของประเทศไทยต่อไปได้ น.ส.สุจิตรา เอื้อเฟื้อ – ตัวแทนนักศึกษาพยาบาลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี “หลายครั้งที่ได้มีโอกาสไปติดตามเยี่ยมอาการของผู้ป่วยที่บ้าน พบว่า แม้ว่าสุขภาพของผู้ป่วยจะแย่และการฟื้นหายจากโรคยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นหาย โดยเฉพาะจากควันบุหรี่มือสอง ที่เพิ่มโรคให้กับผู้ป่วยอีก รวมไปถึง ลูกหลานสมาชิกในบ้านของเขา ที่ต้องทนอยู่ท่ามกลางควันบุหรี่ เท่ากับผู้ป่วยในบ้านไม่ได้มีเพียงหนึ่งคน แต่กลับมีคนที่พร้อมจะป่วยอีกหลายคน และดิฉันเชื่อว่าทุกคนรับรู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดีทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง แต่เราจะสอนลูกหลานได้อย่างไร หากเรายังสูบบุหรี่ให้เขาเห็น เราจะบอกเขาได้อย่างไรว่าบุหรี่เป็นโทษ แต่เรากลับเลือกที่จะนำโทษนั้นเข้าปากเราเอง เพราะฉะนั้น หากเราสอนเขาไม่ได้ ก็เปิดโอกาสให้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นผู้สอนพวกเขาแทน” น.ส.ธัญยรักษ์ จงจิตรศิริวัฒนา และ นายพชร วุฑฒิชาติ - ดาวและเดือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “อย่างน้อยเยาวชนจะเข้าใจเกี่ยวกับโทษของหม้อรากู่ (บารากู่) และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะว่าการโฆษณาไม่ว่าจะเป็นการผ่านพริตตี้ หรือการผ่านสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม การพัฒนาบุหรี่รสชาติใหม่ ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน” “แม้จะเป็นที่รู้กันว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ตามสื่อต่างๆ แต่ในประเทศไทยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ การกระทำที่ผิดนี้ทำให้กลุ่มก้อนผู้เห็นความสำคัญได้ออกมาเคลื่อนไหว และหนุนให้คลอด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบออกมาดูแลอย่างจริงจัง” น.ส.ซารีน่า อุเจ๊ะ นักเรียนชั้นมัธยมปลายจาก จ.ยะลา เผยความรู้สึกว่า มีพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบดีกว่าที่ไม่มีพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ อยากให้มาช่วยชาวบ้าน ช่วยเด็กๆ เด็กติดบุหรี่ที่ต้องใช้เงินค่าขนมค่าอาหารที่พ่อแม่ให้ไปโรงเรียนซึ่งมีเยอะมาก ที่สุดก็ต้องลำบาก และขอให้เร่งแก้ปัญหายาเสพติดด้วย น.ส.สุภาวดี จงกลม รองนายกสภานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า หลังจากมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็รู้สึกดีใจที่ได้นายกฯคนใหม่ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง รวมไปถึงเรื่องปัญหาของเยาวชน ทราบว่ามีภาระงานต้องสะสางมาก แต่ก็อยากให้เน้นเรื่องการดูแลป้องกันผู้สูบบุหรี่รายใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชน เพราะทราบว่าเมื่อสูบแล้วใน 100 คน จะมี 70 – 80 คนที่ติดไปอีก 20-30 ปี ซึ่งจะต้องเสียเงินเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อมาดูแลรักษา น.ส. ธิดาทิพย์ ตัวแทนกลุ่มทันตแพทย์รุ่นใหม่ในจังหวัดโคราช กล่าวว่า อยากให้ร่วมสนับสนุนพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยเฉพาะประเด็นของการมีโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบทางอินเตอร์เน็ต เพราะเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่/ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ยังไม่ได้แจ้งส่วนประกอบ หรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้จำหน่ายหรือไม่เสียภาษีสรรพสามิต รวมไปถึง ผลักดันให้ยาเลิกบุหรี่ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอยู่ในบัญชียาหลักด้วย น.ส.สุขิตา มะบะ ผู้ประสานงานภาคใต้ขององค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไร ซึ่งทำงานด้านต่อต้านการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ก็อยากฝากความหวังในการเร่งแก้ปัญหาการระบาดของยาเสพติดและบุหรี่ต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่ไว้กับพวกเราทุกคน รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก www.vote4tobaccolaw.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ