โรงพยาบาลกรุงเทพแนะปรับพฤติกรรมป้องกัน “โรคกรดไหลย้อน”

ข่าวทั่วไป Friday May 22, 2015 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น อาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอกเหมือนไฟลนหัวใจ ไอเวลาเอนลงนอน จุกในลำคอ รู้สึกคล้ายๆ กับมีก้อนในลำคอ เจ็บหน้าอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ หายใจลำบาก หรือสำลักบ่อยๆ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคกรดไหลย้อน” Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD ที่คนจำนวนมากกำลังประสบปัญหาอยู่โดยเฉพาะคนเมือง ที่มีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ต้องเผชิญกับความเครียด หรือกินอาหารไม่ตรงเวลา ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน ที่อาจกลายเป็นมะเร็งในหลอดอาหารได้ โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงได้จัดงาน “อยู่อย่างไรห่างไกลกรดไหลย้อน” เพื่อแนะวิธีปรับพฤติกรรม สร้างความเข้าใจ และป้องกันโรคกรดไหลย้อน พร้อมโชว์เทคโนโลยีการตรวจกรดไหลย้อนด้วยเครื่อง Bravo นายแพทย์ บุญชัย โควาดิสัยบูรณะ แพทย์ประจำศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยพบได้ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยที่มีปัญหา Dyspepsia (ปวดท้องตอนบน) แต่ในประเทศฝั่งตะวันตกจะพบได้มากกว่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่มีส่วนน้อยที่บางรายอาจพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งในลำคอ เพราะมีอาการอักเสบเรื้อรังอยู่เสมอ โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร หรือการบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ หรือยังมีสาเหตุจากแรงดันในช่องท้องสูงจากการที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติหรือภาวะอ้วน หรือจากการที่ใส่เสื้อผ้ารัดแน่น รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม ดื่มสุรา ทานของทอด ของมัน และอาหารรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ไปจนถึงทานอาหารดึกดื่นแล้วล้มตัวลงนอนทันทีทำให้เกิดการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการแสบร้อนในทรวงอก เรอเปรี้ยว ขย้อนอาหาร และจุกแน่นถึงคอ อาจทำให้เกิดอาการเสียงแหบ ไอเรื้อรัง ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า ฟันผุ มีกลิ่นปาก หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือปอดอักเสบ ภาวะกรดไหลย้อนสามารถทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ถ้าเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น หลอดอาหารตีบ เลือดออกจากการอักเสบ หรือแผลในหลอดอาหาร และมีความเสี่ยงในการเกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหาร (Barrett’s esophagus) และมะเร็งหลอดอาหาร การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน สามารถทำได้ทั้ง การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน, การตรวจวัดกรด-ด่างในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมงโดยการติดแคปซูล หรือการตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหารและหูรูดหลอดอาหาร จากนั้นแพทย์จะรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, การรักษาด้วยยาลดกรด และ/หรือการผ่าตัดรัดหูรูดกระเพาะอาหาร หนึ่งในเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่รพ.กรุงเทพใช้คือ BRAVO PH Monitoring หรือเทคโนโลยีตรวจกรดไหลย้อนแบบไร้สาย ที่จะตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร เป็นวิธีการตรวจแบบใหม่ที่เพิ่มความสะดวกคล่องตัวในการตรวจกรดไหลย้อน หรือผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ ซึ่ง BRAVO จะใช้แคปซูลไร้สายขนาดเล็ก ติดในหลอดอาหารเพื่อบันทึกความสัมพันธ์ของภาวะกรด-ด่างในหลอดอาหารต่ออาการกรดไหลย้อน ส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุไปยังเครื่องรับสัญญาณขนาดเท่าเพจเจอร์ที่ติดตัวผู้ป่วยตลอด 24 ชม. โดยไม่ต้องใส่สายตรวจผ่านจมูก หลังจากนั้นแคปซูลจะหลุดออกจากหลอดอาหารเอง โดยผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้เหมือนปกติ แม้กระทั่งการนอน หรืออาบน้ำ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น แต่สำหรับ ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการกลืนอาหาร เนื่องจากการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร แพทย์อาจใช้เครื่องวัดแรงดันหลอดอาหารชนิดความละเอียดสูง (High Resolution Esophageal Manometry : HRM) ร่วมด้วย เพื่อบอกตำแหน่งหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ก่อนตรวจด้วยเครื่อง Barvo เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร แพทย์หญิง จิราวดี จัตุทะศรี แพทย์ประจำศูนย์หูคอจมูกกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคกรดไหลย้อนในบางคนพบว่า กรดไหลย้อนสูงขึ้นมาถึงระดับคอ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น แสบคอ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง เสียงแหบ มีกลิ่นปาก ฯลฯ ซึ่งอาจเกิดโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux disease : LPR) ที่มีอาการรุนแรงกว่าโรคกรดไหลย้อนทั่วไป เนื่องจากเยื่อบุกล่องเสียงทนกรดได้น้อยกว่าหลอดอาหาร อาการของโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียงมักจะไม่ชัดเจน ที่พบบ่อยได้แก่ เสียงแหบ มีของเหลว (รสเปรี้ยวจากกรด หรือขมจากน้ำดี) ไหลลงคอ บางครั้งเหมือนมีเสมหะในคอตลอดเวลา ไอกระแอม หรือรู้สึกอยากขากเสมหะบ่อยๆ ฟันสึก เสียวฟัน ฟันผุ มีกลิ่นปาก กลืนอาหาร น้ำ หรือเม็ดยาลำบากกว่าปกติ ไอมาก ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอหลังอาหาร หรือไอเวลาเอนลงนอน จุกในลำคอ รู้สึกคล้ายๆ กับมีก้อนในลำคอ แสบร้อนยอดอก เจ็บหน้าอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ หายใจลำบาก หรือสำลักบ่อยๆ การรักษาโรคด้วยการควบคุมกรดไหลย้อนจากการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตและรับประทานยาลดกรด และควบคู่กับการรับประทานยารักษาอาการอักเสบของกล่องเสียง หากไม่รับการรักษา หรือปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 5 ปี อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งกล่องเสียงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ แพทย์หญิงวนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ยังกล่าวว่า การตั้งครรภ์ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ว่าที่คุณแม่เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นสำหรับอาการที่คุณแม่จะสามารถสังเกตได้คือ จะมีอาการแสบร้อนบริเวณด้านหลังของกระดูกหน้าอก ซึ่งอาจจะเกิดร่วมกับอาการอึดอัดไม่สบายบริเวณลิ้นปี่ ลำคอ ด้านนอกในช่องคอ และด้านหลังในช่องคอ นอกจากนั้น ยังมีอาการ เรอ กลืนลำบาก รู้สึกร้อนในกระเพาะ แล้วมีน้ำในปริมาณค่อนข้างมากในปาก โดยอาการเหล่านี้ มักเป็นในช่วงหลังอาหาร หรืออาจจะเกิดช่วงกลางคืน ยิ่งถ้างอตัว อาการก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน 30-50% จากจำนวนคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั้งหมด แม้บางคนไม่เคยมีประวัติมาก่อนก็ตาม เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนและระบบต่างๆ ในร่างกายอาจมีการเปลี่ยนแปลง สาเหตุแรกคือ แรงบีบของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างที่ต่อกับส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำงานได้น้อยลง กรดในกระเพาะเลยไหลย้อนได้ง่ายขึ้น สาเหตุที่สอง มาจากทารกในครรภ์ที่ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มขยายขนาด กดและดันกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยมีโอกาสไหลย้อนมากขึ้น แต่กรดไหลย้อนไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เนื่องจากมดลูกกับบริเวณกระเพาะอาหารอยู่คนละส่วนกัน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงนั้น ตกอยู่ที่ตัวแม่ เพราะหากปล่อยในระยะยาว จะทำให้โรคกรดไหลย้อนเรื้อรังและรุนแรง จนกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ในอนาคต วิธีการป้องกันรักษาโรคกรดไหลย้อนเบื้องต้นสำหรับว่าที่คุณแม่คือ ลดอาหารและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็น โรคกรดไหลย้อน หรือกินยาน้ำเพื่อป้องกันกรดไหลย้อน ซึ่งไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ไม่มีผลต่อแม่และเด็ก อย่างไรก็ดีต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยามากินเอง และสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แพทย์แนะว่า สามารถป้องกันกรดไหลย้อนได้ด้วยการปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันสูง, อาหารรสจัด, อาหารที่มีกรดสูง เช่น น้ำมะเขือเทศ, ส้ม, มะนาว, เป็นต้น, ช็อกโกแลต หัวหอม ชาและกาแฟ โซดา, สุรา รวมถึงลดปริมาณอาหารให้มีขนาดน้อยลง โดยเฉพาะมื้อเย็น นอกจากนี้ ไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรเว้นอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง และนอนศีรษะสูง โดยปรับหัวเตียงสูงประมาณ 30 องศา หรือ 6-8 นิ้ว, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่, ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดหรือคับเกินไป เนื่องจากจะทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้น อาหารและกรดจะถูกดันให้ย้อนขึ้นมา และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดภาวะเครียดและรีบเร่ง โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ