วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว โครงการ Pilgreens Project 2 นักศึกษาDouble Degree ชาวฝรั่งเศส ขับรถตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า จากกรุงเทพฯ สู่ฝรั่งเศส ครั้งแรกของโลกตะลุย 16 ประเทศ ใน 120 วัน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 3, 2015 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มหิดล ตอกย้ำมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย วาง 6 กลยุทธ์ รุกตั้งเป้า สู่ “Eco University” เต็มรูปแบบ ในปี 59 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการ Pilgreens ของ 2 นักศึกษาหลักสูตรDouble Degree ชาวฝรั่งเศส ระหว่างวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นโปรเจคต่อยอดจากการศึกษา วิชา Project Management และ Cross Culture Management ที่ต้องการส่งเสริมแหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดและการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ด้วยการกระตุ้นเตือนและชี้ให้คนทั่วโลกหันมาตระหนักถึงการใช้พลังงานทางเลือก โดยทั้งคู่จะขับรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ คันแรกของโลกซึ่งจะออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังเมืองตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 10 มิถุนายน – วันที่ 10 ตุลาคม 2558 ใช้เวลาเดินทาง 120 วัน ผ่าน 16 ประเทศ รวมระยะทาง 20,000 กิโลเมตร รถตุ๊กตุ๊กซึ่งถือเป็นยานพาหนะประจำชาติไทยและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มาพัฒนาให้สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคารถ โดยกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ลิเธียม 72 โวลล์ ความจุ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถเดินทางได้ 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์ตไฟ 1 ครั้ง (6-8 ชั่วโมง) คิดเป็นค่าไฟ 0.7 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 14,000 บาท ตลอดการเดินทาง พร้อมตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย โดยการวาง 6 กลยุทธ์มุ่งสู่การเป็น Eco University อย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2559 อันได้แก่ 1.สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค 2.การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3.การจัดการขยะ 4.การใช้น้ำ 5.การจัดการระบบขนส่ง และ 6.การศึกษา สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายด้านต่างๆ เพื่อลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมบุคลากรและนักศึกษา ให้หันมาใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานน้ำ และน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย(Green Campus) อย่างจริงจัง ส่งผลให้ในปี 2556 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการคัดเลือกเป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia Green Metric World University Ranking 2013) เป็นอันดับที่ 31 ของโลก อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับที่ 1 ของประเทศไทย จากจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้นกว่า 301 แห่ง โดยได้คะแนนรวมที่ 6,370 คะแนน จากเกณฑ์การประเมิน 6ด้าน คือ 1.สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค 2.การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3.การจัดการขยะ 4.การใช้น้ำ 5.การจัดการระบบขนส่ง และ 6.การศึกษา โดยถือเป็นอันดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้อันดับที่ 36 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของประเทศไทย อย่างไรก็ดี เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และการพัฒนาที่ไม่หยุดเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต โดยนำเอาเกณฑ์การประเมินทั้ง 6 ด้านข้างต้น มากำหนดเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการลดใช้พลังงานด้านต่างๆ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ ไม่เพียงช่วยให้สภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยร่มรื่น และมีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ แต่ต้นไม้ยังถือเป็นช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันถือเป็นปัญหาใหญ่ที่นานาชาติต้องร่วมกันวางมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการโครงข่ายพื้นที่สีเขียว โครงการสร้างทางจักรยานและจุดจอดจักรยาน และโครงการรถไฟฟ้าสำหรับเดินทางภายในมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยตั้งเป้าเป็น Eco University และมุ่งสู่ Mahidol Sustainable University อย่างเต็มตัวภายในปี 2559 รศ.ดร. อรรณพ ตันละมัย คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้การสนับสนุนนักศึกษา Double Degree ชาวฝรั่งเศส 2 คน ในการทำโครงการ Pilgreens โดยทั้งคู่ จะขับรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังเมืองตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 10 มิถุนายน – วันที่ 10 ตุลาคม 2558 ใช้เวลาเดินทาง 120 วัน ผ่าน 16 ประเทศ รวมระยะทาง 20,000 กม. ทั้งนี้ แนวคิดการจุดประกายให้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในข้างต้นนั้น ไม่เพียงสอดคล้องกับนโยบายหลักของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบของประเทศ ในการลดใช้พลังงานและเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างครบวงจร แต่ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับการเรียนการสอนของวิทยาลัยการจัดการ ซึ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษาโดยนำหลักสูตร PBL ( Problem based learning) หรือการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม สำหรับนำมาคิดวิเคราะห์หากระบวนการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียน ดังนั้นวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเดินหน้าสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพราะการเดินทางรอบโลกด้วยรถตุ๊กตุ๊กในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตามที่กล่าวในข้างต้น และเป็นการรณรงค์เพื่อลดใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว อีกด้านหนึ่งยังถือเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยว และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยสู่สายตาชาวโลกด้วยเช่นกัน ด้าน มร.ลูดวิก แมร์ส (Mr. Ludwig Merz) นักศึกษาหลักสูตร Double Degree ระหว่างวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยตูลูช หนึ่งในสมาชิกผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั่วโลก ต้องเผชิญกับภัยพิบัตินานาประการ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการปล่อยมลพิษจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า จริงๆ แล้วในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สามารถช่วยให้คนเราใช้พลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการเรียนที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทางวิทยาลัยฯได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (Practical Learning) ตนและเพื่อนชาวฝรั่งเศสจึงได้ริเริ่มโครงการรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น เพื่อพิสูจน์ให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าการเดินทางไกลข้ามทวีป ระยะทางรวมกว่า 20,000 กิโลเมตร โดยใช้เพียงพลังงานไฟฟ้านั้นเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าเราสามารถนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการเดินทางคมนาคมขนส่งได้จริง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเดินทางด้วยรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวนั้น จะไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ช่วยให้เมืองใหญ่ๆ ในอนาคตน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เพราะหากเราสามารถเดินทางบนท้องถนนด้วยรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด ก็ไม่ต้องเผชิญกับควันพิษหรือมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นโลกแห่งอนาคตที่ทุกคนต่างใฝ่ฝันและต้องการให้เกิดขึ้นจริง มร.ลูดวิก กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ