Movieฟ.ฮีแลร์

ข่าวบันเทิง Friday June 5, 2015 12:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบฯ (ดรุณศึกษา เล่ม 3) บทอาขยานจากหนังสือแบบเรียน ดรุณศึกษา ที่หลาย ๆ คน ท่องจำกันมาจนขึ้นใจ โดยแบบเรียนชุดนี้ใช้เรียนกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 105 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันน้อยคนนักจะทราบว่า ผู้แต่งแบบเรียนชุดนี้เป็นใคร หรือ บางคนอาจหลงลืมไปแล้วว่า ผู้ที่แต่งตำราดรุณศึกษานี้ คือชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อ ฟร็องซัวตูเวอเนท์ หรือ ที่รู้จักกันในนามของ ฟ.ฮีแลร์ ภราดาฟร็องซัว ตูเวอเนท์ (Fronçois Touvenet) หรือที่รู้จักในนาม ฟ.ฮีแลร์ เป็นนักบวชคณะเซนต์คาเบรียล เจ้าของสมญานาม “ปราชญ์แห่งอัสสัมชัญ” ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับการยกย่องในด้านความแตกฉานภาษาไทยเป็นอย่างมาก ท่านเป็นชาวฝรั่งเศสมาแต่กำเนิด เมื่อได้มาอยู่ที่ประเทศไทย ท่านศึกษาภาษาไทยจนแตกฉาน สามารถแต่งหนังสือ “ดรุณศึกษา” แบบเรียนภาษาไทยให้คนไทยได้เรียนกันจนถึงปัจจุบันนี้ ฟ.ฮีแลร์ เกิดที่ตำบลจำโปเมีย (Champniers) เมืองปัวตีเย (Poitiers) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424) โดยได้เข้าศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นที่ตำบลบ้านเกิด จนอายุได้ 12 ปี ความศรัทธาในพระศาสนาได้บังเกิดขึ้นในดวงจิตของท่าน จึงได้ขออนุญาตบิดามารดาเข้าอบรมในยุวนิสิตสถาน (Novicate) ในคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ที่เมือง แซ็ง-โลร็อง-ซูร์-แซ็ฟวร์ (Saint-Laurent-sur-Sèvre) ในจังหวัดว็องเด(Vendée department) ประเทศฝรั่งเศส และได้บรรพชาเป็นภราดาเมื่ออายุได้ 18 ปี จนกระทั่ง คุณพ่อกอลมเบต์ (Emile August Colombet) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ขอให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ได้โปรดดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญต่อ แทนคุณพ่อกอลมเบต์ ซึ่งสุขภาพไม่เอื้ออำนวยและได้เดินทางกลับมารักษาตัวที่ฝรั่งเศส ซึ่งทางคณะเซนต์คาเบรียลก็ตอบตกลงด้วยดี และในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ภราดาชุดแรกมี ภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ เป็นประธาน ร่วมด้วย ภราดาอาแบล ภราดาออกุส ภราดาคาเบรียล ฟาเร็ตตี และภราดา ฟ. ฮีแลร์ ได้มาถึงกรุงเทพฯ ทางเรือ โดย ภรดา ฟ.ฮีแลร์ เป็นคนหนุ่มที่สุด มีอายุย่างเข้า 20 เท่านั้น ฟ.ฮีแลร์ได้รับมอบหมายในเบื้องต้น ให้ทำการสอนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันนั้นท่านก็ได้ศึกษาภาษาไทยไปด้วย โดยมีท่านมหาทิมเป็นครูสอนท่าน ด้วยความตั้งใจจริงท่านจึงพยายามฟังเด็กไทยท่อง “มูลบทบรรพกิจ” อยู่เป็นประจำ ถึงกับหลงใหลจังหวะและลีลาแห่งภาษาไทย เกิดมุมานะเรียนรู้ภาษาไทยจนสามารถแต่งตำราสอนเด็กได้ โดยในปี พ.ศ.2453 ท่านจึงเริ่มแต่งชุดหนังสือ ดรุณศึกษา เพื่อใช้เป็นตำราภาษาไทยสำหรับเด็กที่เริ่มเรียนแทนหนังสือมูลบรรพกิจ โดยได้ความกรุณาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ทรงตรวจแก้ให้ และหนังสือดรุณศึกษาเล่มแรก ก็ได้รับเกียรติคัดเลือกให้พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึก ในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 อีกด้วย หลังจากนั้น ท่านก็ได้ใช้ความพยายามแต่งหนังสือชุด ดรุณศึกษา จนครบ 5 เล่ม ภายในเวลา 11 ปี ปัจจุบัน ดรุณศึกษา ได้ถูกตีพิมพ์มาแล้วกว่า 60 ครั้ง ในระยะเวลา 105 ปีที่ผ่านมา (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี1910) และเนื่องจากท่านมีความรู้ภาษาไทยดีกว่าภราดาองค์อื่น ประกอบกับมีบุคลิกลักษณะน่าเกรงขาม กิริยาท่าทางที่แสดงออกก็ดูดุดันน่ากลัว ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ปกครองอีกตำแหน่งหนึ่ง และก็ดำรงตำแหน่งนั้นอยู่เป็นเวลานาน ท่านอบรมเน้นให้นักเรียนตั้งใจเล่าเรียนหาความรู้ มีกริยามารยาทเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน กตัญญูต่อพ่อ แม่ ผู้มีพระคุณ และประเทศชาติ ท่านมีจิตวิทยาสูง วาทศิลป์ดี มีอารมณ์ขัน ทำให้การอบรมไม่น่าเบื่อ นักเรียนอัสสัมชัญรุ่นแล้ว รุ่นเล่า รวมทั้งผู้ปกครองจึงรัก เคารพ และเสื่อมใสท่านมาก เรียกท่านว่า บราเดอร์ฮีแลร์ จนติดปากทุกคน บราเดอร์ฮีแลร์ เป็นที่รู้จักของสานุศิษย์และผู้ปกครองอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ท่านจึงมักได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ต้องขอความร่วมมือจากศิษย์เก่าและผู้ปกครองนักเรียนอยู่เสมอ เช่น เมื่อโรงเรียนอัสสัมชัญเตรียมจัดสร้าง ”อาคารสุวรรณสมโภช” เพื่อเป็นอนุสรณ์การดำเนินกิจการด้านการศึกษาในประเทศไทยของภราดาคณะเซนต์คาเบลียลครบ ๕๐ ปี บราเดอร์ฮีแลร์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุนจากศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธา “อาคารสุวรรณสมโภช” สร้างเสร็จ และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ในวันเปิดอาคาร บราเดอร์ฮีแลร์ดีใจมาก เพราะท่านเป็นหนึ่งเดียวของคณะภราดาชุดแรกที่ยังมีชีวิตอยู่ จุดเด่นของ ”อาคารสุวรรณสมโภช” ก็คือหอประชุมใหญ่ ที่ประดับด้วยประติมากรรมชิ้นใหญ่ ซึ่งนักเรียนอัสสัมชัญเรียกว่า “ประติมากรรมนูนสูง” ซึ่งบราเดอร์ฮีแลร์ริเริ่มให้จัดสร้างขึ้น ท่านเป็นผู้ติดต่อเชิญให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและปั้น โดยให้สื่อความหมายตามบทกลอนที่ท่านแต่งไว้ว่า จงตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้ เรียนคำครูคำพระเจ้าเฝ้าขยัน จะอุดมสมบัติปัจจุบัน แต่สวรรค์ดีกว่าเราอย่าลืม ท่าน ฟ. ฮีแลร์ เป็นภราดาคู่บุญของโรงเรียนอัสสัมชัญโดยแท้ ท่านเป็นภราดาเพียงรูปเดียวที่ไม่เคยถูกย้ายไปสอนโรงเรียนอื่นในเครือของคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งรับผิดชอบบริหารโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ท่านไม่เคยรับตำแหน่งเป็นอธิการหรือรับผิดชอบด้านบริหารของโรงเรียนเลย ทั้งๆที่ท่านมีคุณสมบัติเพียบพร้อม บราเดอร์ฮีแลร์ พอใจเสียสละอุทิศตน กว่า ๖๐ ปี ด้วยการเป็นเพียง “ครู” ที่ให้ความรู้ อบรมสั่งสอนเยาวชนไทย ให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีของไทย โดยไม่หวังผลตอบแทน หรือผลประโยชน์เพื่อตัวเองเลย ท่านรักและเมตตาศิษย์ของท่านโดยไม่ทอดทิ้ง ศิษย์คนใดได้ดี ท่านก็แสดงความยินดีอวยชัยให้พรให้ประสพความสำเร็จยิ่งขึ้น ศิษย์คนใดลำบากเดือดร้อน ท่านก็ให้ความช่วยเหลือจนความลำบากคลายลง ท่านเป็นชาวต่างชาติที่เป็นปูชนียบุคคล ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างเอนกอนันต์ ท่านรักและผูกพันกับเมืองไทยมาก โดยท่านเคยกล่าวไว้อย่างน่าประทับใจว่า “ ...ครูตั้งใจยึดสยามเป็นเมืองนอนอย่างแท้จริง เพราะสยามเป็นประเทศที่ทำให้ครูได้ทำให้ศิษย์ได้ดี...” ท่านมาเมืองไทยตัวเปล่า แล้วก็ตายจากไปตัวเปล่า คงทิ้งไว้แต่คุณงามความดี ที่จารึกอยู่ในใจของสานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านไม่รู้ลืม มูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ เป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกและยกย่องเชิดชูเกียรติ ภราดา ฟ.ฮีแลร์ มีวัตถุประสงค์ที่ช่วยเหลือ ครู อาจารย์ ในสถานศึกษาในเครือคณะอัสสัมชัญที่ตกทุกข์ได้ยาก และส่งเสริมการศึกษาของ นักเรียน ในเครือฯ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย โดยมูลนิธิฯ ได้จัดทำโครงการที่จะเผยแพร่ ประกาศเกียรติคุณของบราเดอร์ ฮีแลร์ สู่คนรุ่นใหม่ให้รู้จักมากขึ้น ซึ่งมูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ ได้แยกการทำงานเป็น 2 โครงการด้วยกันคือ โครงการจัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง ฟ.ฮีแลร์ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการเรียนการสอนภาษาไทย และเป็นบุคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ผลงานชิ้นเอกของท่านคือการแต่งแบบเรียน ดรุณศึกษา ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นตำราเรียนของคนไทยมาเป็นเวลากว่าร้อยปี ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่คนไทยในปัจจุบันควรรู้จัก ประวัติและผลงานการเขียนของบราเดอร์ฮีแลร์ มากยิ่งขึ้น ผ่านการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดย เจสัน ยัง, ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม กำกับการแสดงโดย สุรัสวดี เชื้อชาติ โครงการจัดเก็บเอกสารเก่าของบราเดอร์ ฟ.ฮีแลร์ ที่เป็นรูปสิ่งพิมพ์ และเอกสารจดหมายส่วนตัวของบราเดอร์ เพื่อที่จะใช้ศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็น ประวัติของโรงเรียน ประวัติศาสตร์สำคัญ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 , สงครามอินโดจีน และการปฏิวัติ 2475 เป็นต้น ซึ่งบราเดอร์ฮีแลร์มส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งเอกสารเหล่านี้มีอายุเป็นร้อยปี กระจัดกระจายตามที่ต่างๆในโรงเรียน ดังนั้นควรจะจัดเก็บในรูปของระบบดิจิตอลเพื่อการเผยแพร่และค้นคว้า เก็บรักษาต้นฉบับ ไว้ให้อยู่คู่กับโรงเรียนสืบไปซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวนาน ที่จะดำเนินการสืบเนื่องต่อไปทางคณะทำงานฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความอนุเคราะห์จากทาง สานุศิษย์อัสสัมชัญ โรงเรียนในเครือเซนต์คาเบรียล โรงเรียนอื่นๆ ที่เรียนหนังสือดรุณศึกษา และประชาชนทั่วไป สนับสนุนการทำงานในการเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณของบราเดอร์ ฮีแลร์ ให้เป็นที่รู้จักแก่สาธรณชนรุ่นใหม่ พร้อมผลักดันให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศต่อไป เส้นทางสู่ ภาพยนตร์ ฟ.ฮีแลร์ เนื่องด้วยกลุ่มคณะอัสสัมชนิกอาสามุทิตาจิต ประกอบด้วย อัสสัมชนิกหลายรุ่น นักเรียนปัจจุบัน ชมรมครูเกษียณ และคณะภราดาที่จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มีดำริที่จะเชิดชูเกียรติให้แก่ บุคลากรผู้เสียสละให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ ในโอกาสนี้ทางคณะฯ ได้เลือกบุคคลที่ทรงคุณค่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย และมีคุณูปการต่อการศึกษาภาษาไทย บุคคลท่านนั้นก็คือ ภราดา ฟ.ฮีแลร์ หรือที่นักเรียนอัสสัมชัญรู้จักในนาม บราเดอร์ฮีแลร์ นั่นเอง ฟ.ฮีแลร์ เป็นภราดารุ่นแรกของคณะเซนต์คาเบรียล ที่เข้ามาบริหารงานต่อจากคุณพ่อกอลมเบต์ ตั้งแต่ปี 1902 (113ปี) ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ท่านได้มอบไว้ให้ตั้งแต่ที่ท่านมาอยู่เมืองไทยก็คือการแต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชุด ดรุณศึกษา จากความมุ่งมั่น ฟันผ่าอุปสรรคของ บราเดอร์ฮีแลร์ ในการศึกษาภาษาไทย ปัจจุบันหนังสือแบบเรียนชุดนี้ยังเป็นแบบเรียนใช้มาต่อเนื่องนับร้อยปี และแพร่ขยายจากโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญ ไปสู่โรงเรียนคาทอลิกทั่วประเทศอย่างแพร่หลายอีกด้วย นอกจากนี้บราเดอร์ยังริเริ่มการจัดพิมพ์หนังสือรายเดือน และหนังสือรายปีได้แก่ หนังสืออุโฆษสมัย และหนังสืออุโฆษสาร ซึ่งบันทึกความเป็นไปของความคิดผู้คน ความสนใจ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการเมือง (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1914 รวมอายุ 101 ปี) และวรรณกรรมเหล่านี้ยังได้สร้างความคิดความอ่านให้แก่บุคคลสำคัญของไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาด้วย เช่น อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ , อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ , อ.เสนีย์ ปราโมช , อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น ดังนั้นทางคณะฯ จึงเห็นสมควรที่อยากให้ทางโรงเรียนทำการเผยแพร่คุณงามความดีของบราเดอร์ ฮีแลร์ ให้ปรากฎแก่เด็กรุ่นหลัง และประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ทางคณะฯ ได้รับความเมตตาจาก บราเดอร์สุรสิทธิ์ สุขชัย, บราเดอร์หลุยส์ ชาแนล วิริยะ ฉันทวโรดม อดีตประธานมูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ และ บราเดอร์เดชาชัย ศรีพิจารณ์ ประธานมูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ในปัจจุบัน โดยท่านทั้ง 3 ได้บรรจุโครงการนี้เข้าเป็นวาระการทำงานของมูลนิธิบราเดอร์ ฮีแลร์ ทางมูลนิธิฯ ได้ทำการระดมทุน และดำเนินการจัดสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา เรื่องย่อ ฟ.ฮีแลร์ เรื่องราวของพงศธรครูในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องการจะมีเงินเดือนที่มากขึ้น ทางเดียวที่เขาจะทำได้คือการลงเรียนต่อปริญญาโท เพื่อนำวุฒิการศึกษามาปรับขึ้นเงินเดือน พงศธรซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยจึงลงเรียนปริญญาโทสาขาวรรณกรรมและเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ฟ.ฮีแลร์ เป็นงานจบของเขา ฟ.ฮีแลร์ คือนักบวชชาวฝรั่งเศส ผู้ที่เดินทางมายังประเทศไทยเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เพื่อมาเป็นครูและเป็นครูฝรั่งที่นั่งเรียนภาษาไทยกับนักเรียนจนพูดภาษาไทยได้ และไม่ใช่เพียงพูดได้เท่านั้น ฟ.ฮีแลร์ยังเก่งถึงขนาดเขียนตำราให้คนไทยเรียน ยิ่งพงศธรค้นคว้าเรื่องราวของฟ.ฮีแลร์ใหม่ลึกลงไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนเป็นการตบหน้าตัวเอง เพราะเขาค้นพบว่า ฟ.ฮีแลร์ก็เป็นครูเช่นเดียวกับเขา แต่ความเป็นครูเขาเทียบอะไรไม่ได้กับฟ.ฮีแลร์เลย ขณะที่เขาสอนเพื่อแลกเงิน แต่ฟ.ฮีแลร์กลับสอนเพื่อต้องการให้ความรู้ เขาได้ค้นพบความจริงที่ว่า ตำราดรุณศึกษาที่เขาใช้สอนนักเรียนทุกวันนี้ ประพันธ์โดย ฟ.ฮีแลร์ นักบวชชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งอุทิศตัวเพื่อการศึกษาของไทยแม้ว่าจะไม่ใช่คนไทยก็ตาม พงศธรเริ่มค้นพบปรัชญาชีวิตบางอย่างจากการค้นคว้าชีวิตของฟ.ฮีแลร์ แต่พงศธรยังคงไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดฟ.ฮีแลร์จึงได้เลือกอยู่ในประเทศเล็ก ๆ อย่างประเทศไทยจนวันสุดท้ายของชีวิต และเมื่อพงศธรได้รู้เหตุผลนั้น มันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาตลอดไป... ภาพยนตร์ ฟ.ฮีแลร์ กำกับการแสดงโดย ผู้กำกับมากประสบการณ์ “แหม่ม มาม่าบลู” สุรัสวดี เชื้อชาติ บทภาพพยนตร์โดย เอก เอี่ยมชื่น, พงศธร โกศลโพธิทรัพย์, สุรัสวดี เชื้อชาติ กำกับศิลป์โดย เอก เอี่ยมชื่น กำกับภาพโดย ชาญกิจ ชานิวิกัยพงศ์ นักแสดงนำ ประกอบด้วย เจสัน ยัง รับบทเป็น ฟ. ฮีแลร์, ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม รับบทเป็น พงศธร นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจาก นักแสดงกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รับบทเป็น อาจารย์ชาติชาย (อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์) “ครูมืด” อาจารย์ปราสาท ทองอร่าม รับบทเป็น มหาทิม (ครูสอนภาษาไทยแก่ ฟ.ฮีแลร์) อีกด้วย ประวัติ เจสัน ยัง เจสัน ยัง เกิดวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2521 เป็นนักร้อง นักแสดงชาวไทย เชื้อชาติออสเตรเลีย เป็นลูกคนเดียว ผลงานชิ้นแรกที่เข้าสู่วงการบันเทิง คือ การถ่ายแฟชั่นนิตยสาร เคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลของโรงเรียนปทุมคงคาอีกด้วย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ จาก Columbia College-Hollywood ประเทศสหรัฐอเมริกา เจสัน ยัง มีผลงานเพลงอัลบั้ม ยัง เจสัน ในปี 2538 และ เจสัน ยังสเตอร์ ในปี 2539 และมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ดังนี้ - ชื่ออุ้มมีบุญนำหน้า (2539) - 6:66 ตายไม่ได้ตาย (2552) - ฟ. ฮีแลร์ (2558) รับบท ฟ. ฮีแลร์ และยังมีผลงานละคร อาทิ - คลับฟรายเดย์ เดอะซีรียส์ 4 ตอน หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ (2557) จีเอ็มเอ็มวัน - สิงห์สี่แคว (ชาติเจ้าพระยา 2) (2558) ช่อง 3 - หงส์ (เลือดมังกร) (2558) ช่อง 3 - เจ้าบ้าน เจ้าเรือน (2558) ช่อง 3 ประวัติ แทค ภรัณยู ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม (ชื่อเล่น แทค) เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2527 เป็นนักแสดง จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ จังหวัดเชียงใหม่และสายอาชีพจาก โรงเรียนเมโทรเทคโนโลยี เชียงใหม่ และระดับอุดมศึกษาจากนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในปี 2550 แทคได้เข้ารับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ในฐานะเยาวชนที่มีความรู้จน ทำให้ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน จากศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในโครงการ "รวมพลังไทย ขจัดภัยยาเสพติด ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน" ผลงานภาพยนตร์ คลับซ่า ปิดตำราแสบ (2546) น้ำตาลแดง2 (2553)หอแต๋วแตกแหวกชิมิ (2554) ปล้นนะยะ 2 อั๊ยยยย่ะ (2555) หอแต๋วแตกแหกมว๊ากก (2555) ตายโหง ตายเฮี้ยน (2557) สตรีเหล็ก ตบโลกแตก (2557) ฟ. ฮีแลร์ (2558) รับบท พงศธร “วรรณกรรมหลายเล่มบนโลกใบนี้มีความหมายสำคัญซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้อ่านนับไม่ถ้วน การได้มีโอกาสเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ “ฟ.ฮีแลร์” ก็เท่ากับได้มีโอกาสศึกษาวรรณกรรมของ “ฟ.ฮีแลร์” ในทุกบทกวี บราเดอร์ฮีแลร์ อาจจะเป็นครูของใครหลายๆคนในอดีต แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ท่านคือมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งสอนให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ว่า เมื่อเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เราควรอุทิศตนให้แก่ผู้อื่นตอบแทนโลก ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน “มากกว่ามัวแต่คิดแค่เรื่องของตัวเอง” สุรัสวดี เชื้อชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์ “ฟ.ฮีแลร์” Director’s Note การเดินทางสุดขอบโลก เพื่อค้นหาสัจธรรมของมนุษย์ ศาสนาเป็นเพียงสิ่งสมมุติเพื่อให้มนุษย์เชื่อและกลัวเกรงโดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผล ปริศนาธรรมที่มนุษย์หลายผู้นามพยายามค้นคว้าหาคำตอบมาเนิ่นนาน กับการเดินทางที่ไม่เคยจบสิ้นของคนบางคนทำไมโลกจึงวุ่นวายหนอ ทำไมมนุษย์จึงไม่พยายามผดุงโลกไว้ หรือเป้นเพราะมนุษย์ไม่รู้จักตั้งคำถาม หรืออ่อนแอเกินกว่าที่จะฟังความจริงที่ปวดร้าว ความกลัวจึงเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในจิตใจมนุษย์ตลอดมา กลัวเหงา กลัวเจ็บ กลัวแก่ กลัวโดนเอาเปรียบจึงละเลยที่จะกล้า ไม่กล้าในทุกเรื่อง ไม่กล้าเสีย ไม่กล้าล้ม ไม่กล้าแพ้ ไม่กล้าสู้ ไม่กล้าทำ..... การยกตัวอย่างเรื่อง ฟ. ฮีแลร์ จึงเป็นเรื่องของการตั้งคำถามผ่านความสงสัยของผู้ที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องของความเป็นมนุษย์เลยด้วยซ้ำ พงศธรตั้งคำถามผ่านการเดินทางของชีวิต ฟ. ฮีแลร์ เขาเริ่มจากแค่อยากทำวิทยานิพนธ์โดยไม่ได้รู้ลึกถึงบุคคลคนนั้นด้วยซ้ำ แต่การค้นคว้าที่จำเป็นต้องทำ กลับทำให้คนไม่ค่อยเอาอ่าวอย่างพงศธรตกหลุมและหยั่งลึกเข้าไปในปริศนาธรรมที่ทำให้พงศธรเจอะเจอคำถามและคำตอบในเรื่องของความเป็นมนุษย์มากมายไปหมดความสงสัยใคร่รู้ที่ค่อย ๆ หยั่งลึกของพงศธรคงไม่ใช่แค่วิทยานิพนธ์ 1 เล่มเสียแล้ว หากแต่เขาเริ่มไม่เข้าใจว่า เหตุใตชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสที่เป็นนักบวชตั้งแต่เยาว์วัย ต้องยอมทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว ทิ้งพ่อแม่ไว้ที่ฝรั่งเศสเพียงเพื่อเดินทางพลิกโลกมาอีกซีก มายังทวีปอันไกลโพ้น เขาเดินทางฝ่าคลื่นลมแห่งความยากเย็นเพียงเพื่อมาเป็นครูที่เมืองสยามแค่นั้นหรือ หรือ ฟ. ฮีแลร์ เป็นพระหนุ่มที่กำลังตามหาความหมายของชีวิตการค้นคว้าของพงศธร คงไม่ใช่แค่การขุดเจอศักยภาพของฝรั่งคนหนึ่ง ที่แต่งหนังสือไทยได้สำเร็จ แต่การเพียรพยายามที่จะสื่อสารมากกว่ากลับเป็นเรื่องที่น่าค้นหาเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสื่อสารได้ และได้ดีมาก ก็เท่ากับทำให้เราได้เจอคำตอบต่างๆ ที่สงสัยอีกมากมายการค้นคว้าเพื่อทำวิทยานิพนธ์ของพงศธรเป็นเส้นขนานคู่ไปกับความวิริยะของฟ.ฮีแลร์ ฟ.?ฮีแลร์เองก็ค้นคว้าด้านภาษา จนรู้ความหมายอย่างลึกซึ้งของคำหลายๆคำ ฟ. ฮีแลร์ท่านอาจเดินทางมาไกล จนไม่จำเป็นต้องหวนกลับ การก้าวข้ามคำว่าดินแดน คำว่าอาณาเขตและคำว่าศาสนา ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ฟ. ฮีแลร์ตระหนักรู้ว่าจุดหมายของชีวิตอยู่ตรงไหน ความสุขของมนุษย์บกพร่องเพราะตัวมนุษย์เองการขาดแคลนจึงจำเป็นต้องเติมให้เต็มเพื่อมนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในดินแดนที่ใครๆ ปรารถนาแต่มนุษย์ไม่เคยทำได้ ฟ. ฮีแลร์หาคำตอบพร้อมๆกับการค้นคว้าของพงศธรจนกระทั่งคน 2 ยุคได้ค้นพบคำตอบ นั้นไปด้วยกัน เมตตา metta mercy...... ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี เขมร ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส คำว่าเมตตามีรากศัพย์เดียวกัน ความหมายเหมือนกัน และก็เป็นคำคำเดียวที่มนุษย์ควรมีให้แก่กันและกันอย่างยิ่งและมันก็เป็นกุญแจดอกเดียวที่จะทำให้โลกสวย พงศธรยังเป็นครูแบบไหน....ต่อไป ได้เรียนรู้วิถีของครูแบบ ฟ.ฮีแลร์ ได้พบคำตอบมากมายจากวิทยานิพนธ์ฉบับที่เขาศึกษาและค้นคว้าเองหรือไม่... จึงเป็นเรื่องที่ล้ำลึกและค้นคว้าไปพร้อม ๆ กัน ครูสมัยก่อนกับครูสมัยนี้จะวัดกันได้ด้วยกุญแจของความเป็นมนุษย์ผู้ให้ได้ต่อไป หรือไม่ คำตอบ....อยู่ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ของพงศธรนั่นเอง วิทยานิพนธ์เรื่อง....... ฟ. ฮีแลร์.....ครูฝรั่งในเมืองสยาม. ผู้กำกับภาพยนตร์ สุรัสวดี เชื้อชาติ คุณสุรัสวดี เชื้อชาติ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกวิชาโฆษณา และภาพยนตร์ เธอมีความใฝ่ฝันมาตั้งแต่สมัยเรียนว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นผู้กำกับหนังไทย และด้วยความเป็นคนรักหนังเธอก็ได้สร้างสมประสบการณ์หลังจากการทำงานในสายงาน ครีเอทีฟ จากบริษัทโฆษณาชั้นนำอย่างลีโอ เบอเนทท์ เเละ ดีวายแอนด์อาร์ ด้วยระยะ เวลา 10 ปี เข้าสู่เส้นทางเดินบนถนนสายแรกของอาชีพคนทำหนังอย่างแท้จริงที่ บริษัทแม็ทชิ่ง สตูดิโอ สุรัสวดี ได้เรียนรู้สายอาชีพนี้ ในบทบาทของผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาอย่างเต็มตัว ค่อย ๆ เติมความรู้และประสบการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เธอบอกกับทุกคนที่เคยชักชวนเธอเข้าสู่วงการหนังไทยตลอดมาว่า “ขอเวลาบ่มอีกสัก หน่อยนะ…รอวันพร้อมอีกสักนิด รอมีเรื่องดี ๆ ที่จะเล่า แล้ววันนั้นจะได้มีผู้กำกับหญิง อีกสักคนที่ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ให้ชื่นชม“ เกือบ 15 ปี ในบทบาทของผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา สุรัสวดี ได้เดินทาง ได้ผจญภัย และ ได้ค้นเจอในเรื่องราวมากมาย จนเธอรับรู้อย่างชัดเจน ว่าความเป็นคนไทยเชื้อสายปักษ์ใต้อย่างเธอพร้อมแล้วที่จะถ่ายทอดเรื่องราวแบบไหน ในที่สุดผลงานภาพยนตร์โฆษณา ที่เธอได้ฝากไว้บนแผ่นดินและมีความเป็นตัวตนของ เธอเองมากสุด คือผลงานชุดสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งเป็นภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมสังคม ของบริษัทดีแทคทั้ง 11 เรื่อง เช่น แม่โพสพ ลิเกฮูลู ลูกชาวนา ข้าวแลกปลา และตอนนี้เธอก็พร้อมแล้วทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิกับการก้าวเข้าสู่การ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอย่างเต็มตัว ผู้กำกับภาพ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ เกิด 27 มิถุนายน 2501 การศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ สาขาช่างภาพ ประสบการณ์ 1989 - ปัจจุบัน ช่างภาพ, ผู้กำกับภาพ, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะ ฟิล์ม แฟคตอรี่ จำกัด 1988 – 1986 TV Commercial Producer at J. Walter Thompson 1980 – 1986 พนักงานผู้ช่วยช่างภาพ, ช่างภาพ บริษัทซาลอน ฟิล์ม ประเทศไทย จำกัด ผลงาน - 2540 ฝัน บ้า คาราโอเกะ ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง - 2542 เรื่องตลก 69 ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง - 2545 มนต์รักทรานซิสเตอร์ ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง - 2546 โอเค เบตง ภาพยนตร์โดย นนทรีย์ นิมิบุตร - 2548 มหา’ลัย เหมืองแร่ ภาพยนตร์โดย จิระ มะลิกุล - 2549 ปืนใหญ่จอมสลัด (ถ่ายภาพใต้น้ำ) ภาพยนตร์โดย นนทรีย์ นิมิบุตร - 2549 เปนชู้กับผี (ที่ปรึกษาด้านการกำกับภาพ) ภาพยนตร์โดย วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง - 2550 พลอย ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง ***ได้รับรางวัลสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากเทศกาล Tallinn Film Festival, Estonia - 2552 นางไม้ ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง - 2554 ฝนตกขึ้นฟ้า ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง ***ได้รับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากเทศกาล Sitges 2012, 45 Festival International De Cinema Fantastic De Catalunya ประเทศสเปน (http://sitgesfilmfestival.com/eng/noticies/?id=1003140#01) - 2557 แรงดึงดูด ภาพยนตร์โทรทัศน์ โดยเป็นเอก รัตนเรือง (True Visions) ผู้ออกแบบงานสร้าง เอก เอี่ยมชื่น เกิด : 14 ตุลาคม 2508 การศึกษา : อนุบาลและประถมต้น โรงเรียนเปี่ยมสุวรรณวิทยา : ประถมปลายและมัธยม โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน : อุดมศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปกร คณะมัณฑณศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ การทำงาน : 2530 จบปริญญาตรี ร่วมทุนกับเพื่อน เปิดบริษัท MACTH WORK SHOP รับงาน PRE-PRODUCTION และART DIRECTOR สำหรับงาน MUSIC VEDIO และ ภาพยนตร์โฆษณา : 2535 อิ่มตัวจากงานโฆษณาหันทำธุรกิจร้านเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสไตล์ คันทรี แฮนด์เมดชื่อร้าน PUMPKIN PARADE : 2540 เกิดวิกฤติการณ์ฟองสบู่แตก ปิดกิจการทุกสาขา หวนกลับมารับงาน PRODUCTION DESING ภาพยนตร์ไทย จนถึงปัจจุบัน ผลงานที่ผ่านมา 2540 : 2499 อันธพาลครองเมือง 2542 : นางนาก 25423 : ฟ้าทลายโจร 2544 : จัน ดารา 2545 : 15ค่ำ เดือน11 2546 : โอเค เบตง และ เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก 2547 : มหาลัย เหมืองแร่ 2550 : ปืนใหญ่จอมสลัด 2552 : องค์บาก2 รางวัลที่ได้รับ รางวัล ตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม 2540 : 2499 อันธพาลครองเมือง 2542 : นางนาก 25423 : ฟ้าทลายโจร 2544 : จัน ดารา 2545 : 15ค่ำ เดือน11 รางวัล ภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ทองคำ สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม 2540 : 2499 อันธพาลครองเมือง 2542 : นางนาก 2544 : จัน ดารา 2545 : 15ค่ำ เดือน11 2547 : มหาลัย เหมืองแร่ รางวัล ชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม 2540 : 2499 อันธพาลครองเมือง 2542 : นางนาก 25423 : ฟ้าทลายโจร 2544 : จัน ดารา 2545 : 15ค่ำ เดือน11 2547 : มหาลัยเหมืองแร่ 2550 : ปืนใหญ่จอมสลัด รางวัล STAR AWARD สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม 2547 : มหาลัย เหมืองแร่ รางวัล STAR PIC AWARD สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม 2550 : ปืนใหญ่จอมสลัด รางวัล ต่างประเทศ สาขาผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม 2542 : ASIA PACIFIC AWARD BEST ART DIRECTOR งานประกวดภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ ภาพยนตร์ เรื่องนางนาก 25423 : BEST ART DIRECTOR งานประกวดภาพยนตร์นานาชาติ ประเทศสเปน ภาพยนตร์ เรื่อง ฟ้าทะลายโจร
แท็ก Movie:  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ