โรงพยาบาลกรุงเทพ จัดอบรมเพิ่มทักษะการช่วยชีวิตสำหรับตำรวจจราจร กู้เหตุวิกฤตฉุกเฉิน และช่วยคลอดบนท้องถนน

ข่าวทั่วไป Thursday June 18, 2015 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ โรงพยาบาลกรุงเทพ จัด “การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน ครั้งที่ 8” ให้แก่ ตำรวจจราจรฝ่ายปฏิบัติการพิเศษการจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร (โครงการพระราชดำริ) ตำรวจทางด่วน และตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน / ทองหล่อ / ห้วยขวาง / คลองตันและดินแดง กว่า 100 นาย โดยมี พล.ต.ท.ดร.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ไพศาล จันทร์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ เป็นประธานเปิดงาน ที่รพ.กรุงเทพ โดยในงานนี้ได้มีการจัดฝึกสอนการทำคลอดโดยสถานการณ์จำลอง และการสอนผายปอด ปั๊มหัวใจที่ถูกวิธี ให้กับตำรวจจราจรทุกนาย ได้รับทั้งความรู้และสนุกสนานไปตลอดการฝึกอีกด้วย นาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ไพศาล จันทร์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันตำรวจจราจรนอกจากจะมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแล้ว ยังให้บริการประชาชนในด้านการนำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดนำส่งโรงพยาบาล ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับผู้ประสบเหตุต่างๆ ก่อนถึงโรงพยาบาล รวมไปถึงการจัดการบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำกับทีมผู้ช่วยเหลือและผู้บาดเจ็บ เพื่อให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เตรียมการรักษา ซึ่งจะพบเห็นได้จากการช่วยนำทางส่งผู้บาดเจ็บมายังแผนกฉุกเฉินและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในหลายๆ ครั้ง เพื่อให้การปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวของตำรวจจราจร มีประสิทธิภาพและผู้ประสบเหตุได้ประโยชน์สูงสุด โรงพยาบาลกรุงเทพได้จัดโครงการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน สำหรับตำรวจจราจร ฝ่ายปฎิบัติการพิเศษการจราจร (โครงการพระราชดำริ) ในหลักสูตรดังกล่าวมาติดต่อกันเป็นปีที่ 8 โดยจัดอบรมเรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น ให้มีความปลอดภัย ณ จุดเกิดเหตุ (Scene Safety) การช่วยคลอดในสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงการดูแลทารกแรกคลอดก่อนนำส่งโรงพยาบาล ให้แก่ ตำรวจจราจรฝ่ายปฏิบัติการพิเศษการจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร (โครงการพระราชดำริ) ตำรวจจราจรสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน / ทองหล่อ / ห้วยขวาง / ดินแดง / คลองตัน และตำรวจทางด่วน ประมาณ 100 นาย ซึ่งโรงพยาบาลได้จัดการบรรยาย สาธิตและฝึกปฏิบัติโดยบุคลากรและทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ของโรงพยาบาลให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรม และจัดให้มีการทดสอบภาคปฏิบัติด้วย นพ. ไพศาล กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยให้ตำรวจผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้และประสบการณ์เพื่อสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เมื่อพบผู้ประสบเหตุ โดยเฉพาะการดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องก่อนถึงมือแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเบื้องต้น และยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือและส่งต่อผู้ป่วย เพื่อประสานงานด้านการจราจรเมื่อมีการลำเลียงผู้ป่วยและเป็นการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย แพทย์หญิงสมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ กล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้มีการออกประกาศภายใต้ พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน 2551 เรื่องกำหนดให้การใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจแบบอัตโนมัติ หรือ AED เป็นการปฐมพยาบาลตามกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 2558 เป็นต้นไป อีกทั้งได้รณรงค์ให้มีการฝึกอบรมเตรียมพร้อมการช่วยฟื้นคืนชีพ Cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR ควบคู่ไปกับการติดตั้งและฝึกใช้เครื่อง AED ในที่สาธารณะ สถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สนามบิน สนามกีฬา บนยานพาหนะ เช่น เครื่องบิน รถไฟ หรือป้อมจราจร เป็นต้น เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเครื่องมือให้ได้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้ติดตั้งเครื่อง AED ในระยะเริ่มต้น อย่างน้อย 3,000 แห่ง ทั่วประเทศภายใน 3 ปี สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติสงสัยว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นจะต้องได้รับการกู้ชีพด้วยการกดหน้าอกหรือ CPR ร่วมกับการใช้ AED : Automated External Defibrillator ก่อนที่บุคลากรการแพทย์จะมาถึง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดยการกู้ชีพนั้นทุกคนสามารถทำได้ด้วยการกดหน้าอกอย่างเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่ต่างกับการกดหน้าอกสลับกับการเป่าปากที่ทำกันในอดีต และการใช้เครื่องAED ภายในช่วงไม่กี่นาทีแรกหลังเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนั้น จะช่วยให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมีมากขึ้น 2-3 เท่า นับเป็นเรื่องที่ดีมากที่เราได้เริ่มมีการให้ความรู้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับหลายประเทศ หวังว่าในอนาคตเราจะมีคนที่มีความรู้ มีเครื่องมือที่พร้อมเพื่อให้เราสามารถช่วยเหลือผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมามีชีวิตรอด และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้น แพทย์หญิงวนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง การช่วยคลอดในภาวะฉุกเฉินว่า การคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติที่หากได้รับการดูแลเบื้องต้นที่ดี โอกาสเกิดปัญหากับมารดา และทารกก็น้อยลง สิ่งแรกที่ผู้พบเหตุต้องทำคือ การประเมินผู้คลอดว่าใกล้คลอดหรือไม่ ด้วยคำถามเบื้องต้น เช่น เคยคลอดบุตรมาก่อนหรือไม่ เจ็บถี่เพียงไร มีน้ำเดินหรือไม่ ปวดคล้ายเบ่งถ่ายหรือไม่ หากพบอาการข้างต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยคลอดบุตรมาแล้วและมีลมเบ่งเหมือนอยากถ่ายมักจะคลอดอย่างรวดเร็ว ควรเตรียมตัวช่วยคลอดในทันที ซึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยคลอดคือ ถุงมือปลอดเชื้อ ลูกยางแดง ผ้าสำหรับเช็ดและห่อตัวเด็ก ขั้นตอนสำคัญในการช่วยคลอดคือ การประคองศีรษะและลำตัวทารกไม่ให้ตกกระแทกพื้น ดูดเมือกจากปากและจมูกทารกเพื่อป้องกันการสำลัก เช็ดตัวและให้ความอบอุ่นกับทารก สำหรับสายสะดือหากไม่มีอุปกรณืที่ปลอดเชื้อไม่ควรตัดสายสะดือ สามารถนำทารกไปตัดสายสะดือที่โรงพยาบาล ทั้งๆที่รกยังติดกับสายสะดือ ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์ยังไม่มีอาการที่จะคลอดเดี๋ยวนั้น แต่พบว่าไม่มียานพาหนะในการขนย้าย หรือคาดว่าทารกจะคลอดภายในไม่เกิน 5 นาที โดยไม่มีแพทย์หรือโรงพยาบาลใกล้เคียงรองรับ ไม่ควรพยายามเคลื่อนย้ายผู้คลอด แต่ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ในการช่วยคลอดให้ครบ เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก รวมทั้งผู้ช่วยคลอด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ