ส.อ.ท. เปิดตัว ศูนย์ FACT หวัง!! ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงข้อมูล เพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงทางธุรกิจและการเข้าสู่ตลาดอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2015 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า จากการที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี 2558 นั้น ส่งผลให้ทุกประเทศต้องมีความตื่นตัวในการเพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตและการค้าให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจัดเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่ในการเสริมสร้างสมรรถภาพและความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและประสานงานอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน หรือ F.T.I. ASEAN Center Thailand หรือศูนย์ FACT ขึ้น เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ด้วยเห็นว่าข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลจะสามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงทางธุรกิจและการเข้าสู่ ตลาดอาเซียน และแม้ว่าข้อมูลในปัจจุบันจะมีหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำอยู่มากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นยังกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ยาก และไม่ครบถ้วน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในฐานะกรรมการบริหารศูนย์ส่งเสริมและประสานงานอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน ส.อ.ท. ว่า ศูนย์ FACT จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน และข้อมูลสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม ที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการให้บริการข้อมูลที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐบาล มีหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อนำมาสู่การใช้ประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานและสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ กับภาคอุตสาหกรรม และเพื่อการส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและศูนย์อาเซียนในสถาบันอุดมศึกษา ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพในการทำการค้าและการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ด้วยตนเองในอนาคต และสามารถเพิ่มขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันในระดับชาติได้ อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ศูนย์ FACT ได้เปิดเผยถึง โอกาสของอุตสาหกรรมไทยในตลาดอาเซียนเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเต็มตัวในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคการผลิตของไทยต้องมองหาลู่ทางและเตรียมการทั้งในด้านการค้าขายและการเข้าไปลงทุน ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป ตลาดการค้าเสรีอาเซียนจะเปิดให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนใหม่ หรือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เข้าสู่ตลาดโดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การเคลื่อนย้ายแรงงาน การลงทุน ซึ่งแม้ว่าเจตนารมณ์ของการรวมเป็นอาเซียนหนึ่งเดียวคือการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค แต่อีกมุมหนึ่งของด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนคือการแข่งขันกันระหว่างต้นทุนการผลิต และความสามารถในการเข้าถึงตลาดด้วย ข้อมูลจากปี 2556 แสดงให้เห็นว่ามีการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนทั้งสิ้น 334,198.70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการลงทุนจากสหภาพยุโรปมากที่สุด 26,979.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 22.05 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และร้อยละ 17.51 เป็นการลงทุนของประเทศในอาเซียนเอง (มูลค่า 21,426.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) นำโดยอินโดนีเซียลงทุนในอาเซียนถึงร้อยละ 40.27 สิงคโปร์ ร้อยละ 26.35 และมาเลเซีย ร้อยละ 10.10 ส่วนประเทศไทยลงทุนในอาเซียนเป็นลำดับที่ 5 โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,256.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.80 ด้านการค้า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอาเซียนรวมทั้งสิ้น 1,909,592.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 26.1 ของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2557 โดยสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่เป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (มูลค่า 269,799 ล้านเหรียญสหรัฐ) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่า 211,396 ล้านเหรียญสหรัฐ) เคมีภัณฑ์ (มูลค่า 84,023 ล้านเหรียญสหรัฐ) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง (มูลค่า 79,092 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเม็ดพลาสติก (มูลค่า 78,092 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ และประเทศในอาเซียนที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยสูงที่สุดคือประเทศมาเลเซีย (มูลค่า 410,287.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้าที่เป็นที่นิยมของกลุ่มอาเซียนเดิม (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน) ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ส่วนกลุ่มอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ด้านการส่งเสริมการลงทุนของประเทศในอาเซียน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาเซียนเดิม จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเพื่อตลาดส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ (มาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ (ออแกนิค) สินค้านวัตกรรม (สิงคโปร์) เภสัชกรรม อุปกรณ์การสื่อสาร อู่ต่อเรือ (บรูไน) พลังงาน เครื่องสำอาง (ฟิลิปปินส์) โทรคมนาคม (อินโดนีเซีย) ส่วนกลุ่มอาเซียนใหม่ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน เช่น เกษตรแปรรูป พลังงาน สาธารณูปโภค เหมืองแร่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เพื่อให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับประเทศสิงคโปร์ที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ประชากรน้อย (ขาดแคลนกำลังแรงงาน) จะเป็นประเทศที่เน้นการลงทุนจากต่างประเทศในด้านโลจิสติกส์มากกว่าการลงทุนด้านการผลิต โดยสิงคโปร์สนับสนุนให้ต่างประเทศมาตั้งสำนักงานโดยมีจุดเน้นการเป็นศูนย์กลางธุรกิจในอาเซียน ส่วนประเทศบรูไนจะเน้นอุตสาหกรรมบริการ ได้แก่ ธุรกิจอาหารสำหรับสายการบิน ด้านเภสัชกรรม การแพทย์ สินค้าบริการ และการท่องเที่ยว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ส่งเสริมและประสานงานอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (FACT) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2345-1058

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ