เปิดวิสัยทัศน์อธิการบดีคนใหม่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งผลิตบัณฑิต “คิดแบบสร้างสรรค์-คิดแบบเจ้าของ”

ข่าวทั่วไป Friday June 26, 2015 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดร.อุตตม สาวนายน แถลงวิสัยทัศน์หลังเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอกย้ำกระบวนการเรียนรู้แห่งอนาคตคือการผสานความคิดแบบสร้างสรรค์ไปพร้อมกับความคิดแบบเจ้าของกิจการที่มีความกล้าลงมือทำ แจงยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการศึกษาแนวใหม่ในระดับอุดมศึกษาเน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรสามส่วน "สถาบันการศึกษาต่างประเทศ – ภาครัฐ – ธุรกิจเอกชน" เสริมประสบการณ์การเรียนรู้จากของจริงให้นักศึกษามีทักษะการทำงาน ส่งให้เป็นบุคลากรคุณภาพตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของตลาด อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีมติแต่งตั้ง ดร.อุตตม สาวนายน รองอธิการบดีอาวุโสด้านกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558 และประกาศความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนรายแรกและรายเดียวที่มุ่งเน้นการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะโดดเด่นที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ มีความคิดแบบสร้างสรรค์ (Creativity) และความคิดแบบเจ้าของ (Entrepreneurship) มุ่งมั่นและกล้าลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ดร.อุตตม สาวนายน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อโลกธุรกิจถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน สังคมเศรษฐกิจไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจและมีความกล้าทำในสิ่งที่คิด ขณะที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีความต้องการบุคลากรคุณภาพที่มีทั้งความรู้ มีมุมมองสากล และมีทักษะการทำงานร่วมกันด้วยความคล่องตัว แนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงกำหนดยุทธศาสตร์มุ่งไปที่การผลิตบัณฑิตคุณภาพเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของสังคม เนื่องจากการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องใช้ทั้งกระบวนการคิดและการลงมือทำ เพราะจะทำให้นักศึกษาทุกคนสามารถพัฒนาความคิดให้เป็นนวัตกรรมซึ่งทำประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม มหาวิทยาลัยจึงเน้นการสร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือทางการศึกษาใน 3 ส่วนคือ สถาบันการศึกษาต่างประเทศ ความร่วมมือกับภาครัฐ และธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้พวกเขาได้รู้จักใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ได้ลองทำในสิ่งที่คิด ความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือกับ Babson College สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกในด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินงานที่ให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่ระหว่างการผสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งมีโครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วม โครงการยกระดับความรู้นักธุรกิจ และโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ด้านเครือข่ายความร่วมมือภาคเอกชน มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพพัฒนาหลักสูตรอบรมให้ผู้ประกอบการที่สนใจศึกษาและฝึกอบรมความรู้ด้านการระดมทุน ส่วนการสร้างเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐ ล่าสุด คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ตกลงความร่วมมือกับสำนักอัยการสูงสุดเพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านกฎหมายสมัยใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้บริบททางการค้าและเศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ กฎหมายการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ "เมื่อเราทำตัวเป็นระบบเปิด เราจึงเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย แปลว่าเราจะไม่หวงความรู้ของเรา และต้องแบ่งปันออกไป ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วในบริบททั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่ไม่ใช่แค่ผลิตนักศึกษาคุณภาพที่มีความรู้ แต่ต้องเป็นสถาบันแห่งความรู้ที่สังคมธุรกิจสามารถนำองค์ความรู้ที่เรามีไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เราจึงเปิดตัวเองออกไปให้กว้างด้วยการสร้างเครือข่ายขยายพันธมิตรการศึกษาและสร้างองค์ความรู้ เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้นักศึกษาทั้งที่กำลังศึกษาอยู่และที่จบไปแล้ว รวมทั้งนักธุรกิจ องค์กรธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมได้รับประโยชน์มากที่สุด" ดร.อุตตมะ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ