กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง พร้อมหามาตรการโดยเฉพาะการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2015 02:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ที่สนามบินกองบิน 2 จังหวัดลพบุรี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เกษตรกรรมและเขื่อนต่าง ๆ ในเขตภาคกลางที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงและกว้างขวาง รวมถึงมอบนโยบายและเร่งรัดการปฏิบัติการฝนหลวงให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์เพาะปลูกพืช จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ทำการเกษตร 2.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว 1.2 ล้านไร่ พืชไร่ 1.5 ล้านไร่ และพืชผัก/ไม้ผล 10,000 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มีพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดลพบุรี ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย. 58 รวมทั้งสิ้น 800,000 ไร่ ปลูกข้าวไปแล้ว 237,885 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 562,115 ไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ปลูกข้าวไปแล้ว 195,763 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 297,962 ไร่ และนอกเขตชลประทาน ปลูกข้าวไปแล้ว 42,122 ไร่ ยังไม่ได้เพาะปลูก 264,153 ไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งหามาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งลงพื้นที่พบปะเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง เพื่อสำรวจสถานการณ์ของผลกระทบและร่วมหารือแนวทางการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงออกไปให้การช่วยเหลือประชาชน รวม 2 หน่วย คือ ที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดลพบุรี โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 จนถึงปัจจุบัน ขึ้นบินไปแล้ว 69 วัน รวม 285 เที่ยวบิน มีฝนตก 66 วัน สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ได้ตั้งหน่วยตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 58 จนถึงปัจจุบัน ขึ้นบินแล้วจำนวน 65 วัน รวม 202 เที่ยวบิน มีฝนตก 58 วัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงเน้นปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปี และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ