สบส. ส่ง อสม.ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับหมอครอบครัว เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส(Middle East Respiratory Syndrome ; MERS) เน้นมาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคเมอร์สทั่วไทย

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2015 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เน้น 3 มาตรการป้องกันเมอร์ส ย้ำอสม.เฝ้าระวังผู้ต้องสงสัย ที่เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว เน้นใช้มาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อความปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดต่อตนเองและผู้ใกล้ชิด ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแลโรงพยาบาลภาคเอกชน/คลินิก ได้มีการประชุมสัมมนาหาแนวทางการเฝ้าระวัง ควบคุม โรคเมอร์ส ที่มีมาตรฐานเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติและชาวตะวันออกกลาง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เน้น 3 มาตรการ ดังนี้ 1).การเฝ้าระวังโรคเมอร์ส มีการติดโปสเตอร์ หรือแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีระบบการคัดกรองผู้ป่วย OPD มีจุดแยกผู้ป่วยเป็นช่องทางด่วน มีผู้รับผิดชอบการรายงานผู้ป่วยต้องสงสัย และมีแนวทางการเฝ้าระวัง การดำเนินการให้กับแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประจำจุดบริการ 2).เฝ้าระวังสอดส่องและจัดตั้งหน่วยคัดกรองในโรงพยาบาล โดยมีระบบ One Stop Service เป็นช่องทางเฉพาะ แยกจากผู้ป่วยนอกทั่วไปหรือห้องฉุกเฉิน และห้องแยกโรคให้บริการสำหรับผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัย โดยจัดให้มีจุดล้างมือ เจลล้างมือ ผ้าปิดจมูก ที่จุดบริการเป็นต้น เน้นการป้องกันอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมป้องกันการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3).สถานพยาบาลเอกชนหากมีการนัดหมายผู้ป่วยจากต่างประเทศที่กำลังมีภาวะระบาด ให้มีกระบวนการคัดกรองจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด หากมีข้อสงสัยให้งดรับผู้ป่วยดังกล่าวในระยะนี้ 4).ในการส่งต่อและรายงานผู้ป่วย ในกรณีที่มีผู้ป่วยต้องสงสัยและเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังเข้มงวดต้องแจ้งสายด่วน 1422 ทันที เพื่อจัดระบบส่งต่อและห้ามมิให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษาต่อด้วยตนเอง หากสถานพยาบาลเอกชนใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้สถานพยาบาลได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือกับสถานการณ์โรคเมอร์ส (MERS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ทำงานร่วมกับทีมหมอครอบครัว ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ติดตามและให้คำแนะนำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด หากจำเป็นต้องเดินทางไป เมื่อกลับถึงประเทศไทยภายใน 14 วัน ให้สังเกตอาการ ดังนี้ หากมีไข้ ไอ น้ำมูก และเจ็บคอ พบอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทันที หรือแจ้ง อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทราบทันที หากพบผู้ต้องสงสัยหรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้กรม สบส. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือประธาน อสม.จังหวัดทั่วประเทศ และจัดทำชุดความรู้เบื้องต้นของโรคไวรัสเมอร์ส เพื่อเผยแพร่ให้ อสม.ในพื้นที่จังหวัดได้รับรู้เป็นการเบื้องต้น และขอเตือนประชาชนอย่าได้ตระหนก แต่ขอให้ตระหนกในการดูแลสุขภาพ โดยเน้นย้ำมาตรการป้องกัน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือเป็นประจำ และอย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อตนเองและผู้ใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ