วธ.หารือรับมือเสนอ“เมืองเชียงใหม่” ขึ้นบัญชีมรดกโลกเบื้องต้นเดือนก.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 30, 2015 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังการร่วมประชุมหารือเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเสนออนุสรณ์สถาน สถานที่ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา เพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีเป็นบัญชีเบื้องต้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยในการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2558 ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ ได้เห็นชอบท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 39 รวมถึงในการเสนอเชียงใหม่ เพื่อขึ้นบัญชีเป็นบัญชีเบื้องต้นของยูเนสโกเรียบร้อยแล้ว นายวีระ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญมีวาระที่เกี่ยวข้องกับ วธ. 2 วาระ ได้แก่ วาระ 7Bการรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก คือ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และวาระที่ 8A การเสนอรายชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เพื่อขอบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ซึ่งในวาระนี้จะมีการพิจารณาเมืองเชียงใหม่ขึ้นบัญชีเป็นบัญชีเบื้องต้น ดังนั้นจึงได้ประชุมหารือร่วมกับนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมศิลปากร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและแผนงานการดำเนินการหลังจากเมืองเชียงใหม่ได้การับรองขึ้นบัญชีเป็นบัญชีเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากการผลักดันแหล่งมรดก เพื่อขึ้นเป็นมรดกโลกนั้น ตามกฎของยูเนสโกต้องได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นบัญชีเบื้องต้นก่อน จากนั้นต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารต่างๆ ตามที่ยูเนสโกกำหนด รวมถึงแผนบริหารจัดการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและประกาศให้เมืองเชียงใหม่ เป็นมรดโลกอย่างสมบูรณ์ รมว.วธ. กล่าวว่า ดังนั้น จึงเชิญกรมศิลปากรและคณะทำงานมาหารือถึงการเตรียมความพร้อมและการขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ ทั้งนี้จากการหารือทางคณะทำงานได้จัดทำเอกสารคืบหน้าไปบ้างแล้ว ได้แก่ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถบริหารจัดพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อพื้นที่มรดกโลก รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบแหล่งมรดกโลกอย่างเช่น เมืองหลวงพระบาง เมืองเกียวโต เมืองมะละกา เพราะแต่ละมีความโดดเด่น เพื่อนำข้อมูลมาศึกษาและใช้ในการนำเสนอของเชียงใหม่ และการบริหารจัดการ มีกฏหมายรองรับ เช่น เขตเมืองเก่าต้องมีการควบคุมความสูงของอาคาร ไม่เกิน 12 เมตร อาคารที่สร้างต้องเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา การทาสีอาคารตามสีที่กำหนด เช่น ขาว ครีม และน้ำตาล มีสีอื่นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาคารเก่าก่อนที่มีการประกาศเทศบัญญติ ก็จะขอความร่วมมมือและจูงใจโดยมาตรลดหย่อนภาษี เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและสอดคล้องกัน นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับการผลักดันมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 3 แห่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และเมืองเชียงใหม่ กำลังดำเนินการผลักดันให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งนี้แหล่งมรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีรายชื่อชั่วคราวของคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว 2 แห่ง คือ เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย และศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช และกำลังเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารเพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกได้แก่ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารและเสาชิงช้า กรุงเทพฯ และสถาปัตยกรรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดวงศ์ โดยกรมศิลปากรได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะมาใช้ประกอบการเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ