กระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2015 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการปฏิบัติการฝนหลวง ณ เขื่อนลำตะคอง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ในการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ รวมถึงเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้ขึ้นบินสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ พร้อมพบปะเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งและอาสาสมัครฝนหลวงในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างการรับรู้ และร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความผันแปรของภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติและยังมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่การเกษตรขาดแคลนน้ำเป็นบริเวณกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยเติมสารฝนหลวงขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายสมปอง กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบินร่วมปฏิบัติการจำนวน 6 ลำ เป็นเครื่องบินเกษตร จำนวน 2 ลำ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 498 เที่ยวบิน สารฝนหลวงที่ใช้ จำนวน 528.70 ตัน ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอเป็นการเร่งด่วนในเขต อ.ปากช่อง และ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มน้ำให้กับเขื่อนสำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปัจจุบันเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำ 80.458 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25.58 จากความจุปกติที่ 314.49 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. จึงต้องมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปา การรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เพื่อให้เพียงพอในช่วงน้ำแล้งนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ