ปลัดกระทรวงการคลังเข้าร่วมพิธีลงนามในความตกลงในการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2015 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมพิธีลงนามในความตกลง ในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของ AIIB ในระยะต่อไป รวมถึงแนวทางการคัดเลือกตำแหน่งประธานชั่วคราว (President-Designate) เพื่อทำหน้าที่บริหารธนาคารฯ ในช่วงก่อนที่ AIIB จะมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2559 ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครั้งนี้มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งจำนวน 50 ประเทศได้ลงนาม ในความตกลงฯ ดังกล่าว มีสมาชิกผู้ก่อตั้งบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งยังไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอความเห็นชอบตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ โดยในกรณี ของประเทศไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน เนื่องจาก AIIB จะมีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ จำเป็นจะต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือนในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกที่ยังไม่สามารถลงนามได้ ยังสามารถลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าวได้จนถึงสิ้นปี 2558 นี้ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2559 เป็นต้นไป การจัดตั้ง AIIB มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาคเอเชีย ในด้านต่าง ๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น AIIB จึงเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางเลือกหนึ่งของไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังมีความต้องการเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และภายในภูมิภาค โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ