บ่อบาดาลกับความคืบหน้าของรัฐบาล ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและอุทกภัย:

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2015 10:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง บ่อบาดาลกับความคืบหน้าของรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและอุทกภัย: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,039 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 55.6 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 28.8 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.0 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 5.1 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.5 ระบุไม่ได้ติดตามเลย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนเกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวบ้านในหมู่บ้าน/ชุมชนที่เกิดจากปัญหาภัยแล้งนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 48.1 ระบุชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก-มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 11.8 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 27.8 ระบุน้อย-ไม่เดือดร้อนเลย ทั้งนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งของหมู่บ้าน/ชุมชนนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 49.5 ระบุหมู่บ้าน/ชุมชนของตนมีการเตรียมรับมือไว้บ้างแล้ว โดยวิธีการที่ใช้อยู่ได้แก่ จัดหาที่สูบน้ำให้ชาวบ้าน/การใช้น้ำจากบ่อบาดาลที่มีอยู่/ชะลอเรื่องการเกษตรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย/การขุดลอกคลอง /เตรียมโอ่งน้ำไว้บรรจุน้ำ/เตรียมเครื่องสูบน้ำในการทำนา /การแจกน้ำให้ชาวบ้านจาก อบต. /การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน/มีการแจ้งชาวบ้านให้เตรียมตัวประหยัดน้ำของแต่ละชุมชน/ให้ลูกหลานศึกษาเรื่องการใช้น้ำช่วยกันประหยัดน้ำ/ให้เปิดปิดน้ำเป็นเวลา /ทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยและการสำรองน้ำไว้ใช้ อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชน ร้อยละ 50,.5 ระบุหมู่บ้าน/ชุมชนของตนยังไม่ได้มีการเตรียมรับมือใดๆ เลย สำหรับความเชื่อมั่นของแกนนำชุมชนต่อการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งเป็นการเฉพาะหน้านั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 78.7 ระบุเชื่อมั่นว่าบ่อน้ำบาดาลจะสามารรถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ในขณะที่ร้อยละ 21.3 ระบุไม่เชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการได้รับประโยชน์จากโครงการบ่อน้ำบาดาลที่กำลังดำเนินการอยู่นี้นั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 67.8 ระบุได้รับประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุ ไม่ได้รับประโยชน์เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการเลย และสภาพน้ำไม่สามารถนำมาใช้ในการเกษตรหรืออุปโภคบริโภคได้/เป็นน้ำเค็ม อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ 6 ด้านนั้น พบว่าร้อยละ 77.1 ระบุเห็นความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ การปลูกป่าทดแทน และการปลูกหญ้าแฝก รองลงมาคือร้อยละ 70.2 ระบุเห็นความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ/การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ร้อยละ 62.1 ระบุเห็นความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านการจัดสร้างและการพัฒนาคุณภาพประปาหมู่บ้าน/ชุมชนเมือง ร้อยละ 59.6 ระบุเห็นความคืบหน้าของการดำเนินการด้านการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดวัชพืช/ขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ ร้อยละ 54.9 ระบุเห็นความคืบหน้าด้านการจัดการปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัย ในขณะที่ร้อยละ 35.1 ระบุเห็นความคืบหน้าด้านการผลักดันน้ำเค็ม ตามลำดับ ประเด็นสำคัญสุดท้าย ผลสำรวจความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อรัฐบาลและ คสช.ในโครงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยโดยภาพรวม พบว่าได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 7.47 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม แกนนำชุมชนร้อยละ 87.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 12.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.4 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 32.7 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 60.9 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 34.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 46.6 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 4.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 14.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ แกนนำชุมชนร้อยละ 73.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 14.1 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 12.7 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิรับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัว พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 30.3 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 18.4 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 23.5 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 27.8 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
แท็ก community   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ