ผลสำรวจแกรนท์ ธอนตัน เผยธุรกิจทั่วโลกขานรับระบบอัตโนมัติ ชี้งานที่ใช้ทักษะต่ำอาจเสี่ยงถูกเลิกจ้าง

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2015 12:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย ในประเทศไทยอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียแรงขับดันทางเศรษฐกิจได้ นับเป็นเวลากว่า 50 ปีภายหลังจากคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเครื่องแรกของโลก ได้ถูกผลิตในเชิงอุตสาหกรรมจำนวนมากเพื่อจำหน่าย รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton International Business Report: IBR) ฉบับล่าสุดซึ่งทำการสำรวจผู้บริหารธุรกิจ 2,571 คนใน 36 กลุ่มเศรษฐกิจ เปิดเผยผลการสำรวจเกี่ยวกับอิทธิพลของเทคโนโลยีต่อธุรกิจ โดยธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการวางแผนใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งผลจากการสำรวจดังกล่าว อาจทำให้หน้าที่การงานบางประเภทต้องถูกยกเลิกไป ดังจะเห็นได้จากธุรกิจประเภทโรงงานผลิต ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสะอาด (Cleantech) หรือการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว และด้วยปัจจัยค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ลดลง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ผลการสำรวจยังชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขตในการปฏิบัติงานที่เครื่องจักรกลจะสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ในที่สุด รายงาน IBR ให้ข้อมูลว่า 2 ใน 3 ของนักธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียแปซิฟิกกำลังวางแผนใช้ระบบอัตโนมัติกับขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ร้อยละ 56) เล็กน้อย โดยผู้ที่กำลังวางแผนไว้นั้น ต่างอยู่ในระหว่างการมองหาวิธีลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความแม่นยำ ตลอดจนเพื่อความยืดหยุ่นในการเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตได้ง่าย ในขณะที่ 3 ใน 5 ของธุรกิจคาดหวังว่าระบบอัตโนมัติจะสามารถแทนที่คนงานได้ อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 36 ของผู้ร่วมสำรวจในประเทศไทย ที่วางแผนจะใช้ระบบอัตโนมัติกับขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญในอีก 12 เดือนข้างหน้า แม้จะมีความจริงที่ว่าประเทศไทยนั้นมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมากและปัญหาประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงประเทศไทยอาจเสี่ยงต่อการรั้งท้ายอยู่เบื้องหลัง หากไม่มีการผลักดันให้เกิดความสนใจในเรื่องการพัฒนาความสามารถในการผลิตและระบบอัตโนมัติ ตันตระ ตันตราภรณ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า "ระบบอัตโนมัติดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เมื่อธุรกิจต้องทนต่อการทำงานด้วยแรงงานมนุษย์ในระดับที่รู้สึกว่า หากใช้เครื่องจักรทำหน้าที่เดียวกันนั้นอาจจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบอัตโนมัติโดยที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในรายละเอียดของแต่ละฟังก์ชั่นงานที่เกี่ยวข้อง อาจกลับกลายเป็นปัญหาได้ ดังนั้นเราจึงควรใช้เวลาในการศึกษากระบวนการแต่ละขั้นตอน เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดที่จำเป็นก่อนจะประเมินเลือกเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และเมื่อต้องเกิดประเด็นในการลดจำนวนพนักงานขึ้นมานั้น การหาตำแหน่งหน้าที่อื่นให้แก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบ อาจช่วยลดความเสียหายต่อชื่อเสียงของธุรกิจที่จะเกิดตามมาจากการลดการจ้างงานได้ แต่หากการเลิกจ้างนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรแจ้งข้อมูลล่วงหน้าให้ทราบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 56 ของธุรกิจทั่วโลกที่ได้รับการสำรวจโดยแกรนท์ ธอนตัน กล่าวว่า หากตนเองยังไม่มีความพร้อมในการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อปฏิบัติการ ณ เวลานี้ ก็อาจจะดำเนินการในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยเมื่อพิจารณาเป็นภาคอุตสาหกรรมแล้วร้อยละ 43 ของภาคการผลิตคาดหวังว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่อย่างน้อยร้อยละ 5 ของจำนวนแรงงานในที่สุด ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาดอยู่ในอันดับรองลงมาที่ร้อยละ 39 ตามด้วยธุรกิจเทคโนโลยีและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อยละ 35 เท่ากัน ขณะที่อีกด้านหนึ่งของผลการสำรวจเปิดเผยว่ามีเพียงร้อยละ 9 ของธุรกิจการให้บริการ ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจด้านสุขภาพที่คาดหวังว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่อย่างน้อยร้อยละ 5 ของจำนวนแรงงาน สตีเวน เพอร์กิ้นส์ ผู้นำสายงานด้านเทคโนโลยีทั่วโลกของแกรนท์ ธอนตัน กล่าวว่า "ในยุคดิจิตอล นักธุรกิจต่างกำลังมองหาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอัตราที่สูงขึ้น โดยภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงิน ธุรกิจยังคงพยายามเสริมความมีประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังห้าสิบปีนับจากที่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวได้รับการผลิตเป็นจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการลงทุนอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานกลับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการพิจารณาว่าจะลงทุนในการจ้างบุคลากรหรือเครื่องจักร ทำให้หลายธุรกิจเริ่มมองว่าเครื่องจักรกำลังกลายเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ามากกว่าในการลงทุน" นอกจากนี้ การสำรวจเพิ่มเติมโดยแกรนท์ ธอนตัน ยังเปิดเผยว่านักธุรกิจมีการใช้จ่ายทางด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนามากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยเมื่อปี 2554 ธุรกิจร้อยละ 23 ทั่วโลกกล่าวว่ากำลังวางแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายทาง ด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งในปี 2557 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26 และ ณ ปัจจุบันในปี 2558 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 29 ซึ่งสูงที่สุดในรอบห้าปี สตีเวน เพอร์กิ้นส์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "หากถามว่าหุ่นยนต์สามารถเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ได้หรือไม่ เราคิดว่าคงยังไม่ถึงเวลานั้น เทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และก็ถูกปรับเปลี่ยนบทบาทการใช้งานมาโดยตลอด ดังนั้น คำถามดังกล่าวอาจจะเป็นการถามที่ผิด เราควรจะตั้งคำถามว่าอะไรคือขีดความสามารถสูงสุดที่มนุษย์สามารถทำได้ มันชัดเจนที่ว่าการเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และระบบเซ็นเซอร์ ที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงเรื่องราวในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการทำงาน การชำระค่าใช้จ่าย และเปลี่ยนแปลงวิถีทำงานของเรา เราอาจจะยังคงเห็นการย้ายพนักงานไปสู่ตำแหน่งหน้าที่บริการที่ได้ค่าจ้างต่ำลง ในขณะที่หน้าที่การงานที่เคยมีอำนาจและได้รับค่าจ้างสูงนั้นกลายเป็นหน้าที่ของเครื่องจักรอัจฉริยะแทน หากปราศจากการแทรกแซงใดๆ เราน่าจะยังเห็นช่องว่างที่กว้างขึ้นของรายได้และโอกาสระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจและอาชีพที่ใช้ความรู้เป็นหลักกับกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก" "ปรากฎการณ์นี้เป็นปัญหาที่สำคัญต่อสังคม เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราในแบบเราไม่อาจคาดคิดได้เมื่อสองทศวรรษก่อน จากการริเริ่มของเทคโนโลยี Big Data มาสู่การพัฒนาแอพพลิเคชั่น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และหมายความว่ารูปร่างและขนาดของกำลังแรงงานในอนาคตจะดูแตกต่างกับในปัจจุบันอย่างมาก ซึ่งธุรกิจและรัฐบาลจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไรนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว" "ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาจนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดการลดการจ้างงาน แต่เทคโนโลยีก็สามารถช่วยเติมเต็มและเสริมประสิทธิภาพให้กับความสามารถของมนุษย์ด้วยเช่นกัน อันจะช่วยให้ทั้งคุณภาพและปริมาณของผลงานเพิ่มสูงขึ้น" ผลสำรวจจากแกรนท์ ธอนตันยังนำเสนอว่า แรงงานกำลังจะมีโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น โดยกว่าครึ่งของบริษัทที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติทั่วโลก (ร้อยละ 54) คาดว่าจะโยกย้ายพนักงานไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ใหม่ ซึ่งร้อยละ 28 กล่าวว่าแรงงานจะได้รับการฝึกอบรมการใช้งานเครื่องจักรใหม่ และแม้แต่ในสายงานการผลิต ร้อยละ 44 ได้วางแผนจะโยกย้ายพนักงานไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ใหม่แทนการเลิกจ้างงาน สตีเวน เพอร์กิ้นส์ กล่าวว่า "ตำแหน่งหน้าที่ที่มีไว้สำหรับมนุษย์อาจจะดูแตกต่างไปอย่างมากในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับในเวลานี้ ซึ่งคนบางกลุ่มจะรับรู้ได้ถึงผลกระทบได้อย่างรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยปราศจากคนขับ จะส่งผลให้อาชีพคนขับรถแท็กซี่ขาดความจำเป็น ส่วน Yahoo Finance ได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจะดำเนินการทั้งหมดด้วยระบบงานควบคุมอัตโนมัติสำหรับห้องข่าว ทำให้หมดความจำเป็นในการมีนักข่าว ดังนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพคนขับรถแท็กซี่และนักข่าว ณ ปัจจุบัน อาจกลายเป็นนักวิเคราะห์ควบคุมคุณภาพ หรือเจ้าหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องจักรในอนาคตแทน ทั้งนี้ เครื่องจักรอัตโนมัติในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ส่วนครั้งที่สองช่วยเพิ่มความรวดเร็วให้แก่เรา และในครั้งที่สามนั้นเราจะมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยความเป็นไปได้นั้นกว้างใหญ่ไพศาลมาก "ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าแรงงานมนุษย์มีความทนทานและมีความสามารถในการปรับตัว แต่การริเริ่มของการใช้เครื่องจักร ระบบวิเคราะห์ประมวลผล และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Internet of Things: IoT) นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งไม่มีภาคอุตสาหกรรมหรืออาชีพการงานใดที่จะไม่ได้รับผลกระทบ ในการนี้ หากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา มีการปรึกษาหารือกันมากขึ้น ก็จะช่วยให้เราเข้าใจว่าตลาดแรงงานยังคงมีช่องว่างอยู่ที่ไหน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาและอบรมเพื่อเข้ามาอุดช่องว่างเหล่านั้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ