กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2558 เพื่อนำเสนอผลงานด้านภูมิปัญญาการผลิตไหมไทยให้ได้รับการเชิดชู

ข่าวทั่วไป Monday July 13, 2015 17:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2558 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคาร B) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม จัดให้มีการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหมขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 - 14 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคาร B) ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการนำเสนอผลงานด้านภูมิปัญญาการผลิตไหมไทยให้ได้รับการเชิดชู เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานให้กับบุคคลและชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู เยาวชน บุคคล ชุมชน และหมู่บ้านที่ผลิตผลงานคุณภาพและสามารถรักษาวิถีการผลิตเส้นไหม และการทอผ้าไหมให้อยู่คู่ชุมชนอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2558 ได้แบ่งประเภทการประกวดออกเป็นทั้งสิ้น 29 ประเภท ประกอบด้วย 1) การประกวดเส้นไหมไทยพื้นบ้าน จำนวน 6 ประเภท 2) การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน จำนวน 16 ประเภท 3) การประกวดผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม / รังไหม จำนวน 4 ประเภท 4) การประกวดออกแบบชุดผ้าไหม จำนวน 2 ประเภท และ 5) การประกวดผลิตภัณฑ์จากหม่อน จำนวน 1 ประเภท "ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในด้านความสวยงามและความเอกลักษณ์ การผลิตผ้าไหมไทยเป็นภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย และเผยแพร่ให้ทั่วโลกรู้จักถึงคุณค่าของผ้าไหมไทย ซึ่งการจัดให้มีการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ผลิตงานที่มีคุณภาพแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกษตรกร เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไป มีความตื่นตัวในการร่วมกันสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ตระหนักถึงคุณค่าของไหมไทย เกิดความภูมิใจในการนำผ้าไหมไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ตลาดผ้าไหมไทยขยายตัวมากยิ่งขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม คงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป" นายอำนวย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ