ไทยแอร์เอเชีย จับมือ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) วางแผนผลิตนักบินล็อตใหญ่ รองรับการเติบโตธุรกิจ

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday July 14, 2015 13:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย วางแผนผลิตนักบิน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม จับมือ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) เซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการผลิตนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial Pilot License) โดยไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าผลิตนักบินประมาณ 70 คนต่อปี เพื่อให้มีความพร้อมเพียงพอต่อการขยายธุรกิจของสายการบิน ที่จะรับเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 ใหม่ เพิ่มขึ้น 5 ลำต่อปี ชี้ความสำเร็จที่ผ่านมานักบินไทยแอร์เอเชีย สำเร็จหลักสูตรจาก BAC มาแล้ว 181 คน คิดเป็น 40% ของจำนวนนักบินทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย ที่มีอยู่ 450 คนในปัจจุบัน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียกล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง การผลิตนักบินที่มีความรู้ความสามารถให้ทันต่อการเติบโต จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งเรามีพันธมิตรที่ดีอย่างบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) ที่ร่วมผลิตนักบินให้กับเรา โดยปัจจุบันนักบินไทยแอร์เอเชีย สำเร็จการศึกษาจาก BAC แล้ว รวม 7 รุ่น จำนวน 181 คน "ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย(FD) มีนักบิน 450 คน แบ่งเป็นกัปตัน 206 คน และนักบินผู้ช่วย 244 คน โดยสัดส่วนนักบินที่ผ่านหลักสูตร BAC คิดเป็น 40% ถือเป็นสถาบันหลักที่ผลักดันการเติบโตของเราตลอด 11 ปีที่ผ่านมา โดยหลังจากการเซ็นความร่วมมือในวันนี้ เราก็ตั้งเป้าส่งนักบินเข้าฝึกหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ของ BACประมาณปีละ 70-80 คน โดยเป็นทุนของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของเราที่จะรับเครื่องบินใหม่ประจำการฝูงบินเฉลี่ย 5 ลำต่อปี" นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีนักบินทุนไทยแอร์เอเชียอยู่ในหลักสูตรของ BAC อีก 2 รุ่น รวม 49 คน โดยไทยแอร์เอเชียถือเป็นลูกค้าสายการบินหลักของ BAC? ด้านกัปตันปิยะ ตรีกาลนนท์ (Capt. Piya Tregalnon) ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (Chief Executive Officer ; CEO) กล่าวว่า BAC เป็นโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2545 และได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการและกรมการบินพลเรือน มีกำลังผลิตนักบินถึงปีละ 180 คน มีมาตรฐานและความพร้อมในทุกด้านการฝึก ทั้งพื้นที่การฝึก เครื่องบินและบุคลาการการบินที่ได้ลงนามร่วมกับกองทัพอากาศเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน BAC มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทย สำหรับตลาด Pilot Training ที่ประมาณ 80% และยังขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก จึงเชื่อมั่นได้ถึงศักยภาพของสถาบันได้อย่างดี "ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันร่วมกันของไทยแอร์เอเชีย และ BAC ในการผลิตนักบินพาณิชย์เข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ โดยนอกเหนือจากหลักสูตรตามข้อบังคับของคณะกรรมการกรมการบินพลเรือนที่ BAC ยึดเป็นแนวทางในการผลิตนักบินแล้ว เรายังลงทุนในการเสริมหลักสูตรนักบินตามโจทย์ของไทยแอร์เอเชีย ที่เน้นย้ำให้ศิษย์การบินมีประสบการณ์ที่กว้างและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งด้านการฝึกวินัย บุคลิกภาพและลักษณะพึงประสงค์ของนักบิน การศึกษาดูงานที่สนามบินต่างๆ และวิทยุการบิน การนำเสนอ Final Project การฝึกในFlight Simulator Airbus A320 Type VI ถึง 20 ชม.ก่อนจบหลักสูตร ซึ่งจะทำให้นักบินมีความพร้อมมากที่สุดก่อนปฏิบัติงานจริงกับสายการบิน" ทั้งนี้ปัจจุบัน BAC ได้ผลิตนักบินพาณิชย์ให้กับสายการบินระดับชาติหลายสายการบิน ทั้งไทยแอร์เอเชีย การบินไทย และไทยสไมล์โดยผลิตนักบินจบไปแล้ว 815 คน และอยู่ระหว่างการฝึก 180 คน โดย BAC วางเป้าหมายในการเป็นสถาบันหนึ่งในการผลิตนักบินไทยสู่ตลาดโลก เพื่อเพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทย เนื่องจากนักบินในต่างประเทศจะมีรายได้ที่สูงมาก อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาทต่อคนต่อปี หากนักบินไทยสามารถบุกตลาดในวิชาชีพนักบินนี้ได้ในระดับสากล (เช่นเดียวกับอาชีพแท็กซี่ในทวีปยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นชาวตุรกีกว่า 50%) หากมีนักบินไทยอยู่ในส่วนแบ่งของตลาดนักบินทั่วโลก เพียง 10% (จากความต้องการนักบินใหม่ถึง 460,000 คน ภายในปี 2031) คือราว 46,000คน ประเทศเราจะมีรายได้จากนักบินไทยเหล่านี้ถึงปีละ 270,000 ล้านบาทเลยทีเดียว นับเป็นรายได้ที่มหาศาลโดยที่ประเทศไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด (ไม่มีต้นทุนการผลิต)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ