วสท.ลงพื้นที่ตรวจสอบวิเคราะห์พื้นที่ทรุดในโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัลเวียนนา บทเรียนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

ข่าวอสังหา Wednesday July 15, 2015 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายก พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ ,ผศ.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช (Asst.Prof.Dr.Nunthawath Charusrojthanadech) คณะอนุกรรมการ วสท.พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมืออุปกรณ์ เดินทางลงพื้นที่เข้าตรวจสอบโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัลเวียนนา รัชวิภา ที่เกิดปัญหาพื้นที่บ้านทรุดเมื่อวัน 2 ก.ค. 2558 เวลา 10.30 น. หลังจากผู้อยู่อาศัยและ สคบ.ต้องการให้ วสท.เข้าตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เกี่ยวกับพื้นดินใต้หมู่บ้านทรุดตัวต่อเนื่องจนถนน พื้นบ้าน กำแพงพังเสียหาย ใต้บ้านบางส่วนเห็นพื้นดินหายเป็นโพรง เผยเบื้องแรกตัวบ้านยังแข็งแรง แต่มีปัญหาพื้นลานรอบบ้านและถนน แนะควรวิเคราะห์ดินและสถานะของการทรุดตัวของดิน เพื่อกำหนดเสาเข็ม การบดอัดก่อนการก่อสร้างและการซ่อม โดยเสนอแนะให้ทำคอนทัวร์ (Contour) แสดงระดับพื้นดินการทรุดตัวทั้งหมู่บ้าน เจาะชั้นดินไปตรวจสอบ เพื่อการซ่อมและแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า " วสท.ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญเดินทางเข้าตรวจสอบโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัลเวียนนา รัชวิภา พร้อมผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือตรวจสอบทางวิศวกรรม หลังรับเรื่องร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยในโครงการกว่า 200 หลังคาเรือนในหมู่บ้านที่ประสบปัญหาพื้นดินในหมู่บ้านทรุดตัว วสท.ได้สำรวจทางกายภาพในเบื้องต้นลักษณะบ้านในโครงการเป็นทาวน์โฮม 3 ชั้นเป็นส่วนใหญ่ โครงสร้างของตัวบ้านยังไม่มีรอยร้าวแต่พื้นลานจอดรถด้านหน้าบ้านและหลังบ้าน รวมทั้งถนนหมู่บ้านมีการทรุดตัวมากในบริเวณเฟส 2 ของโครงการ ถนนที่ทรุดตัวตามการทรุดของพื้นดินได้ดึงพื้นหน้าบ้านของผู้อาศัยเอียงตามลงไป 50 -100 ซม. ลานจอดรถหน้าบ้าน และพื้นหลังบ้านหลายหลัง กลายเป็นแอ่งกระทะ ปูดบวม ประตูรั้วบ้านปิดไม่ได้ และบ้านบางส่วนมองเห็นพื้นดินใต้ตัวบ้านเป็นโพรงลึก บ้านที่ได้รับผลกระทบมีกว่า 130 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 330 หลังคาเรือน พื้นดินทรุดตัวเร็วผิดปกติ วัตถุประสงค์ของวสท. ในการตรวจสอบ 1.เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมได้สำรวจและตรวจวิเคราะห์ เจาะชั้นดินตามความจำเป็น 2.ศึกษาถึงสาเหตุ ลักษณะของผลกระทบต่อบ้านในโครงการและสาธารณูปโภค เช่น ท่อร้อยสายไฟ สายโทรศัพท์และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและปลอดภัย 3.เสนอแนะแนวทางแก้ไขตามหลักวิศวกรรมและมาตรฐานสากล บ้านที่ได้รับผลกระทบทรุดหนักจำนวน 69 หลัง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เฟส2 นี้เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยเอกชน และบ่อบัว ส่วนบ้านที่มีรอยร้าวแผลเล็กน้อยทรุดไม่มาก 213 หลัง จากจำนวนทั้งหมด 330 หลังคาเรือน ปัญหาเริ่มมาตั้งแต่ประมาณ 5 - 6 ปีหลังมานี้ พื้นดินในหมู่บ้านเริ่มมีการทรุดตัว โดยเฉพาะพื้นถนน ทำให้กำแพง พื้นหน้าบ้าน หลังบ้าน เกิดการแตกร้าวเสียหาย แรกๆ ดินก็ทรุดลงเล็กน้อย ระยะหลังเริ่มทรุดหนักขึ้น เป็นโพรง ที่ตัวบ้านยังมั่นคงอยู่ได้เพราะ เสาเข็มกับคาน ส่วนกำแพงบ้านหลายหลังก็ฉีกและแตก พื้นที่หน้าบ้านที่เป็นลานจอดรถก็ทรุดแตกร้าว บางที่ทรุดลงไปกว่า 1 เมตร ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นหมู่บ้านถูกขายทั้งหมด 2 โซน คือโซน 5 - 6 ปี และโซน 3 ปี มีปัญหาทั้ง 2 โซน เริ่มมีปัญหาพื้นถนนทรุดตัวเห็นชัดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และค่อยๆ ทรุดตัวลงเรื่อยๆ พื้นถนนซึ่งมีการซ่อมแซมแล้ว แต่ยังมีรอยแตกร้าวและทรุดตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะที่จอดรถในบ้านซึ่งทรุดตัวลง 50-100 ซม. น่าจะมาจากการทรุดตัวของดินที่ผิดปกติ เพราะว่าปกติพื้นที่กรุงเทพฯ มีการทรุดตัวของดินไม่เกิน 10 ซม. ต่อปี จะต้องศึกษาที่ดินว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตอนสร้างได้มีการอัดดินให้แน่นหรือไม่ โดยสรุป ตัวบ้านทาวน์โฮมยังมั่นคงแข็งแรง แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือพื้นรอบตัวบ้านและถนนที่มีการทรุดตัวมากกว่าปกตินั้น เป็นส่วนที่ไม่มีเสาเข็มรองรับ โดยวางวางอยู่บนพื้นดิน เมื่อพื้นดินมีการทรุด พื้นหน้าบ้านจึงทรุดตาม โดยปกติบ้านที่สร้างเกิน 5 ปี การทรุดน่าจะอยู่ในช่วงอยู่ตัวหรือเปลี่ยนแปลงน้อยลงแต่ที่พบในพื้นที่เฟส 2 มีการทรุดลง 50-100 ซม. ในระยะ 3 ปี ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ ข้อควรระวังในกรณีทรุดรุนแรง คือ ปัญหาการทรุดตัวของดินใต้บ้านอาจมีแรงดึงเสาเข็มให้หลุดจากตอม่อโดยมักจะเกิดรอยร้าวขึ้นก่อน การแก้ไขทางวิศวกรรมธรณีเทคนิค คือ ควรมีการวิเคราะห์ตรวจชั้นดิน และทำการศึกษาการทรุดตัวของพื้นที่นั้นว่า มีสถานะของการทรุดตัวอยู่ในช่วงใด เนื่องจากสภาพดินและวัสดุถมที่ต่างๆ กันในแต่ละพื้นที่ หากเป็นการทรุดตัวในช่วงกราฟสูงชันจะมีการทรุดเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่หากการทรุดตัวในระยะลาดต่ำจะเปลี่ยนแปลงน้อยหรือเริ่มอยู่ตัวแล้ว ทั้งนี้เพื่อนำผลวิเคราะห์มาออกแบบเสาเข็ม หรือกำหนดขนาดเสาเข็มและเทคนิคการถมดินให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่นั้นสำหรับโครงการสร้างใหม่ หรือการซ่อม ไม่เช่นนั้นจะต้องมีการซ่อมและถมดินกันบ่อยๆ นอกจากนี้การถมดินโดยไม่รู้ข้อมูลของสถานะทรุดตัวอาจไปเพิ่มภาระน้ำหนักจากดินที่ถมลงไปทำให้พื้นดินเดิมเกิดการทรุดตัวเร็วมากขึ้น ดังนั้นการถมดินเพื่อซ่อมแซม ขอให้รอข้อมูลวิเคราะห์และคำแนะนำจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) เสียก่อน ในขั้นตอนต่อไปหลังจากวสท.ได้เก็บข้อมูลและนำตัวอย่างดินตามจุดต่างๆ ในโครงการไปวิเคราะห์ ทำคอนทัวร์ (Contour) แสดงลักษณะการทรุดตัวของพื้นดินในบริเวณต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับดำเนินการแก้ไขในจุดพื้นที่ที่เป็นปัญหาต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ " ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมการก่อสร้าง เราสามารถก่อสร้างที่พักอาศัยหรืออาคารโครงการขนาดใหญ่ได้ในทุกพื้นที่หากดำเนินการอย่างถูกต้อง มีการตรวจสอบสภาพดินและคำนวณการทรุดตัวเพื่อออกแบบเสาเข็ม และการถมที่ให้เหมาะสมในการก่อสร้าง สำหรับการซ่อมที่บ้านกลางกรุง มีเจ้าของบ้านบางหลังได้ลงเสาเข็มบริเวณลานที่จอดรถหน้าบ้าน ด้วยเสาเข็มขนาด 33 เมตร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เราขอแนะนำให้ตัดแยกส่วนพื้นที่ซ่อมใหม่นี้ออกจากตัวบ้านเพื่อไม่ให้มีแรงดึงจากการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน โดยทั่วไปสำหรับบ้านที่สร้างใหม่นั้น ตัวบ้านและลานบ้านควรมีเสาเข็มขนาดเท่ากันเพื่อเวลาดินทรุดจะได้ทรุดลงเท่ากัน ในการวัดอัตราการทรุดตัวว่าอยู่ในสถานะใด เราจะหาพื้นที่บริเวณที่มั่นคงที่สุด เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ (Benchmark ) แล้วนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับอัตราการทรุดของพื้นที่โครงการ ทั้งนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เป็นอย่างน้อยในการศึกษาวิเคราะห์ นับเป็นกรณีศึกษา สำหรับผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์ ไม่เพียงเน้นที่ทำเลที่ตั้ง รูปแบบดีไซน์บ้าน และบริการเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบให้ถูกต้องตามกฏหมาย ในพื้นที่ดินอ่อนมากๆต้องเพิ่มระบบป้องกัน มากกว่าที่กฏหมายกำหนด มีการวิเคราะห์สภาพดิน อัตราการทรุดตัวในพื้นที่ด้วย รวมทั้งที่มาและลักษณะของพื้นที่นั้น เพื่อที่จะได้กำหนด วัสดุ เทคนิค การก่อสร้างที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เช่น ที่ลุ่ม ที่นา และบริเวณที่มีแหล่งน้ำ ส่วนแลนด์แบงค์ ของผู้ประกอบการ ควรมีระยะของการบดอัด ถมที่ให้ดินอยู่ตัวนานเพียงพอด้วย ควรแนะลูกบ้านให้ทำประกันบ้านเพิ่มหลังหมดระยะประกันกับโครงการ สำหรับผู้บริโภค ควรมีการตรวจสอบก่อนซื้อบ้าน อาทิ ตรวจสอบพื้นที่รอบโครงการ ตรวจสอบการถมดินและระยะเวลาให้ดินเซ็ตตัว ขอดูแบบก่อสร้าง ลานหน้าบ้าน-หลังบ้านตอกเสาเข็มหรือไม่ ถ้ารั้วและที่จอดรถไม่มีเสาเข็ม ไม่ควรให้เชื่อมติดกับต้วบ้าน ควรขอรายการเสาเข็มกับโครงการ ตรวจสอบการรับประกันตัวบ้านของโครงการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ