นานมีบุ๊คส์เอาใจคอวรรรกรรมด้วย 6 วรรณกรรมล้ำค่าปลายปากกานักเขียนโนเบล

ข่าวบันเทิง Wednesday July 15, 2015 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--นานมีบุ๊คส์ นานมีบุ๊คส์จัดงาน "อ่านวรรณกรรม ฝีมือนักเขียนรางวัลโนเบล" แนะนำ 6 สุดยอดวรรณกรรมระดับโลกที่คนไทยควรอ่าน ได้แก่ รอยชีวิต, ฆ่ามันซะอย่าให้มันโต, กลองสังกะสี, ชะตาลิขิต, ไร้เกียรติยศ และลมหายใจที่ขาดห้วง ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ครั้งที่ 3 ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนของอุตสาหกรรมหนังสือโดยรวม จัดขึ้น ณ ร้านหนังสือก๊องดิด เมื่อเร็วๆ นี้ วงเสวนาได้รับเกียรติจากผู้คร่ำหวอดในวงวรรณกรรม อาทิ รศ. ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ประธานกรรมการประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์สกุล บุณยทัต นักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง ร่วมวิจารณ์กันอย่างออกรส และพรกวินทร์ แสงสินชัย บรรณาธิการที่ปรึกษา สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ คิม จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัดกล่าวในช่วงพิธีเปิดงานว่า "วรรณกรรมของนักเขียนรางวัลโนเบลนั้น ไม่เพียงแต่จะได้รับการยกย่องในด้านของผู้เขียนเท่านั้น ในด้านของตัวผลงานเองก็มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ ด้วยสำนวนภาษา คุณค่าทางวรรณศิลป์ ที่ถูกยกย่องนี่เอง นานมีบุ๊คส์ จึงมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการเสาะหาวรรณกรรมที่มากด้วยคุณค่าเช่นนี้ มานำเสนอให้แก่ผู้อ่านชาวไทยได้สัมผัส เราเชื่อมั่นว่าการอ่านวรรณกรรมของประเทศใด ชนชาติใดก็ตาม เราย่อมจะได้ซึมซับเอาวัฒนธรรม ค่านิยม และความคิดของชนชาติต่างๆ ควบคู่ไปกับการที่ได้รับอรรถรสของสำนวนภาษา และเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยชั้นเชิง มากกว่าคำว่าสนุกจนวางไม่ลง และวรรณกรรมทั้ง 6 เล่มที่เราคัดสรรมา ทุกเล่มต่างก็มีความโดดเด่น มีที่มา และมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไปที่จะตอบโจทย์ความต้องการของนักอ่านชาวไทยได้แน่นอน" รศ. ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวว่า "รางวัลโนเบลถือเป็นรางวัลที่การันตีคุณภาพทางวรรณศิลป์ที่สูงที่สุดแล้วของวรรณกรรม และยิ่งเมื่อได้อ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าเหมาะสมแล้วที่ได้รับรางวัลโนเบล เพราะแต่ละเล่มมีแง่มุมที่เราไม่เคยได้พบในวรรณกรรมไทย แต่ละเรื่องถูกกลั่นมาจากความรู้สึกและประสบการณ์จริง เพราะฉะนั้นถ้าเราได้อ่านงานเหล่านี้ก็คือคุณภาพที่สูงที่สุดของวงวรรณศิลป์ที่เป็นสากล เราจะเห็นชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ซึ่งสูงมาก แล้วมันมาจากประสบการณ์ตรงของนักเขียน หลายเรื่องเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ นักเขียนมีวิธีการเล่าเรื่องที่ชาญฉลาดที่จะเล่าบาดแผลเพื่อเยียวยาบาดแผลและเล่าออกมาไม่รุนแรงแต่ทำให้ผู้อ่านจินตนาการได้ถึงความรุนแรง หนังสือที่ดีจะดึงเราเข้าไปรวมประสบการณ์ และเมื่อเราได้เข้าไปอยู่รวมในประสบการณ์นั้น เราจะตะหนักดีว่ามันเกิดอะไรขึ้น เหมือนเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวละคร ในฐานะนักอ่าน ดิฉันคาดหวังว่าจะเจอสิ่งเหล่านี้ในวรรณกรรมไทย" อาจารย์สกุล บุณยทัต กล่าวเสริมว่า "วรรณกรรมโนเบลเป็นวรรณกรรมในศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของความสมจริง ที่พูดถึงมิติของชีวิตแบบถึงเลือดถึงเนื้อ วรรณกรรมทั้ง 6 เล่มนี้คือเนื้อหาของสงครามโลกที่มาเกี่ยวโยงกัน เรื่องนึงเขียนที่เยอรมัน อีกเรื่องเขียนที่ฮังการี แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้นักเขียนไทยน่าจะต้องอ่านถ้าอยากจะเป็นนักเขียน หรือนักอ่านที่ต้องการจะรู้ว่ามิติของชีวิตที่มันซับซ้อนเป็นภาพสะท้อนของภาพสะท้อนมันเป็นยังไง เพราะนักเขียนเหล่านี้มีวิธีคิดที่ดีมาก วิธีคิดสำคัญมากในงานเขียนโนเบล แต่ละคนจะมีความคิดที่สุดยอด รวมไปถึงการพรรณาในเชิงวรรณศิลป์เป็นอีกเรื่องที่คนไทยต้องเรียนรู้ ทั้งฉาก ทั้งภาษา เขียนได้ดีเหลือเกิน ทุกสิ่งถูกนำมาตีแผ่ ถูกกลั่นออกมาจากข้างใน ทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงมันสู้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยการอ่านวรรณกรรมไม่ได้ เพราะว่าการอ่านวรรณกรรมที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง มันสะท้อนถึงความคิด จิตใจ และอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง" วรรณกรรมจากนักเขียนรางวัลโนเบลที่ค่ายนานมีบุ๊คส์นำมาจัดพิมพ์ รวมทั้งหมด 6 เล่ม ได้แก่ รอยชีวิต เขียนโดย Kenzaburo Oe นักเขียนชาวญี่ปุ่น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1994 เรื่องราวของภรรยาให้กำเนิดลูกชายที่พิการทางสมอง เบิร์ดต้องตัดสินใจระหว่างความรับผิดชอบต่อลูกชายหรือความสุขสบายส่วนตัว ศีลธรรมกับตัณหาในใจของเขา ฝ่ายใดจะชนะในการต่อสู้ครั้งนี้...การที่ลูกชายของโอเอะถือกำเนิดมาในภาวะผิดปกติทางสมองถือเป็นจุดเริ่มต้นประสบการณ์ส่วนตัวอันแสนสาหัสของเขา โอเอะเขียน"รอยชีวิต" ในปีถัดมา โดยนำความรู้สึกเกี่ยวกับชะตากรรมอันหนักหน่วงนี้มาเสนอผ่านความคิดของ "เบิร์ด" แต่อาจเรียกได้ว่า ลูกชายที่ป่วยหนักเป็นประสบการณ์ร่วมประการเดียวของเขากับ "เบิร์ด" สำหรับโอเอะลูกเป็นแรงผลักดันให้เขาเข้มแข็งและยืนหยัดอย่างมั่นคง ในขณะที่เบิร์ดมีเพียงความปรารถนาที่จะหลีกหนีจากทารกปีศาจเท่านั้น ฆ่ามันซะอย่าให้มันโต เขียนโดย Kenzaburo Oe นักเขียนชาวญี่ปุ่น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1994 เรื่องราวเกิดเมื่อผู้ใหญ่คิดทำร้ายเด็ก เด็กจะรอดหรือ เด็กจะดีจะชั่ว ก็ผู้ใหญ่นั่นแหละเป็นสาเหตุ และดังนี้ ผู้ใหญ่มีสิทธิ์อะไรที่จะไม่ต้อนรับเด็กบางคน เพียงเพราะคำว่า เหลือขอ ผู้ใหญ่มีสิทธิ์อะไรที่จะ "ปลิด"หน่ออ่อนที่บิดเบี้ยวนั้น มิยอมให้เติบโตต่อไป สงครามก่อความสูญเสีย เจ็บปวด เท่าที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันมากพอแล้ว มากเกินกว่าคนเราจะถือเอาภาวะแห่งวิกฤตนั้นมาเป็นเหตุให้ห้ำหั่นกันอีก กลองสังกะสี นวนิยายเรื่องแรกและวรรณกรรมชิ้นเอกของ กึนเทอร์ กราสส์ นักเขียนชาวเยอรมัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1999 เรื่องราวของออสคาร์ มัทเซราท ชายผู้ปฏิเสธการเจริญเติบโตและหยุดอายุร่างกายของตัวเองไว้ในวัยสามขวบ เขียนบันทึกเล่าเรื่องครอบครัวตัวเอง และเหตุการณ์ช่วงก่อนสงครามโลครั้งที่ 1 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีกลองสังกะสีเด็กเล่นที่ได้เป็นของขวัญตอนครบรอบวันเกิดปีที่ 3 เป็นผู้ช่วยในการเล่า ชะตาลิขิต เป็นหนังสือรางวัลโนเบลปี 2002 เขียนโดย คาลติซ อิมเร่ นักเขียนชาวฮังการี ที่เคยถูกส่งตัวไปอยู่ค่ายกักกันชาวยิวที่เอาส์ชวิตส์และบูเคนวัลด์ เขาเขียนหนังสือตีแผ่เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมแห่งศตวรรษที่พูดถึงได้ไม่รู้จบ ชาวยิวอยู่ตรงโน้นอยู่ตรงนี้ จนดูเหมือนจะกระจายไปทั่วยุโรป สายเลือดชาวยิวเข้มข้น เก่งและแกร่ง ทว่าคุณสมบัติทั้งหลายนั้นกลับคำพิพากษาประหารชีวิตไม่ได้ โชคชะตาลิขิตให้พวกเขาต้องพบจุดจบร่วมกัน มีเพียงไม่กี่คนที่รอดพ้นจนมาเล่าเรื่องจริงอันแสนเศร้านี้ได้ และคาลติซ อิมเร่ คือคนหนึ่ง ไร้เกียรติยศ เป็นหนังสือนวนิยายรางวัลโนเบลปี 2003 และรางวัลบุ๊กเกอร์ไพรซ์ ปี 1999 เขียนโดย จอห์น แมกซ์เวลล์ คูตซี เรื่องราวของ เดวิด ลูรี ศาสตราจารย์วัย 52 ปี ต้องปิดฉากอาชีพตัวเองอย่างอัปยศ ด้วยข้อกล่าวหาอันน่าอับอายจากสังคม เมื่อไร้สิ้นทุกสิ่ง เขาหันไปหาลูกสาว ผู้เป็นชาวไร่อยู่ในหมู่คนผิวดำแห่งแอฟริกาใต้ ชีวิตชนบทอันงดงามเรียบร้อยเหมือนจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น จนกระทั่งเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น และเปลี่ยนชีวิตสองพ่อลูกไปตลอดกาล ลมหายใจที่ขาดห้วง นวนิยายรางวัลโนเบล ปี 2009 เขียนโดย แฮร์ทา มึลเลอร์ นักเขียนชาวโรมาเนียเชื้อสายเยอรมัน เล่าเรื่องราวของเด็กผู้ชายอายุ 17 ปีที่ถูกเกณฑ์ไปอยู่ในค่ายเชลย มีปัญหาหลายอย่าง และเมื่อไปอยู่ในค่ายก็ต้องประสบกับอารมณ์และภาวะที่กดดันอย่างมาก อย่างแรกคือเป็นรักร่วมเพศซึ่งบอกใครไม่ได้ สองคืออารมณ์คิดถึงบ้านแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้ สามคืออารมณ์หิว ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เด่นชัดมาก เขียนเอามาตีแผ่แบบน่าอ่านมาก คุณจะทึ่งว่านักเขียนเขียนได้อย่างไร ซึ่งในสังคมยุโรปจะมีความเชื่อว่าคนทุกคนจะมีทูตประจำตัวคอยปกปักษ์รักษาโดยเฉพาะในเด็ก แต่นักเขียนได้สมมุติให้มีทูตแห่งความหิวโหย คอยกดขี่ตัวเอก คอยสมน้ำหน้า คอยแกล้งอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทุรนทุรายซูบผอมลงไป ร่วมติดตามเรื่องราวสุดเข้มข้นจาก 6 วรรณกรรมล้ำค่าฝีมือนักเขียนรางวัลโนเบล จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด วางจำหน่ายแล้วที่ร้านแว่นแก้ว และนานมีบุ๊คส์ช็อปทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสอบถามที่ Nanmeebooks Call Center 02-662-3000 กด 1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ