องค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติออกแถลงการณ์ 5 ข้อ คัดค้านรัฐส่งกลับชาวมุสลิม อุยกูร์ จำนวนกว่า 90 คน ไปโดยไม่สมัครใจ

ข่าวทั่วไป Thursday July 16, 2015 09:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--migrant working group องค์กรเครือข่ายทื่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติออกแถลงการณ์ 5 ข้อ คัดค้านรัฐส่งกลับชาวมุสลิม อุยกูร์ จำนวนกว่า 90 คน ไปโดยไม่สมัครใจ ชี้เป็นการขัดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมเสนอตรวจสอบกระบวนการตรวจสอบการส่งกลับ และเรียกร้องเปิดทางให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558ที่ผ่านมา พ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสักนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวอยางเป็นทางการภายหลังเกิดเหตุประชาชนในประเทศตุรกีทำการประท้วงและทำลายทรัพย์สินของสถานกงสุลไทยในกรุงอิสตัลบูล ประเทศตุรกี เนื่องมาจากไม่พอใจที่ทางการไทยส่งผู้อพยพชาวอุรกูร์ จำนวนกว่า 90 คน ไปยังประเทศจีน โดยกรณีดังกล่าวนี้ได้มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่สถานฑูตต่างประเทศจำนวนหลายแห่ง รวมทั้งสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ติดตามและสอบถามเจ้าหน้าที่ของไทยถึงกระบวนการส่งกลับชาวอุยกูร์ดังกล่าว แม้ทางตัวแทนรัฐบาลไทยจะยืนยันการตัดใจและการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และหลักสากล แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและ UNHCR เห็นว่ากระบวนการส่งกลับชาวอุยกูร์นั้น ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในหลักการไม่ผลักดันกลับไปสู่ความไม่ปลอดภัย (Non-Refoulement) อันเป็นหลักการสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดย UNHCR ยังได้แถลงว่า "ตกใจ" กับการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายข่าวระบุอย่างชัดเจนชาวมุสลิมอุยกูร์มีความประสงค์จะเดินทางไปประเทศตุรกีซึ่งทางประเทศตุรกีเองยินดีรับชาวอุยกูร์ทั้งหมด ล่าสุดเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติซึ่งประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch) .มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการกระทำดังกล่าวของรัฐ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะยืนยันว่าได้ดำเนินการให้มีการพิสูจน์สัญชาติโดยตัวแทนจากทั้งประเทศตุรกีและประเทศจีน แต่ดังที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ภายในพื้นที่บางส่วนของประเทศจีนยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติอุยกูร์และรัฐบาลจีน ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหลายรายต้องหนีภัยประหัติประหารออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง การตัดสินใจผลักดันกลับชาวมุสลิมไปยังประเทศจีนโดยไม่สมัครใจและไม่ตระหนักถึงการต้องเผชิญกับภัยประหัตประหาร หรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของผู้ถูกผลักดันกลับ จึงเป็นการละเมิดหลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary international law) ที่ผูกพันรัฐไทย แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้รับอนุสัญญาผู้ลี้ภัยก็ตาม นอกจากนี้ การส่งตัวชาวอุยกูร์จำนวนกว่า 90 รายแก่ประเทศจีน มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนดังกล่าวอาจได้รับการตั้งข้อหาที่ร้ายแรงโดยไม่เป็นธรรม โดยปราศจากกระบวนการเฝ้าระวังต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศจีน โดยองค์กรอิสระภายนอก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ และองค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ดังต่อไปนี้ 1.ขอให้รัฐบาลไทยทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เพื่อป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของผู้หนีภัยประหัติประหาร ซึ่งนอกจากจะเป็นการยึดหลักมนุษยธรรมและหลักสากลตามที่ไทยได้ยืนยันมาตลอดแล้ว ยังเป็นการช่วยให้รัฐไทยรอดพ้นจากความโกรธแค้นหรือเกลียดชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้ที่มีความเห็นใจต่อกลุ่มชายมุสลิมอุยกูรย์ในตุรกี ที่อาจจะต้องเผชิญกับภัยประหัติประหาร การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยยธรรม การทรมาน เป็นต้น 2.ขอให้รัฐบาลไทยมีมาตรการในการตรวจสอบการดำเนินการในครั้งนี้ และขอให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินการดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินการที่เกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดมาตรการในการจัดการต่อกรณีการดำเนินต่อผู้อพยพแสวงหาที่พักพิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ 3. ยินยอมให้ เจ้าหน้าที่จากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีความเป็นมืออาชีพ และได้รับการยอมรับโดยสมาชิกขององค์การสหประชาชาติด้วยกัน ในการเข้าไปดูแลและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัยของกลุ่มชาวมุสลิมอุยกูร์ได้อย่างเป็นอิสระ เพื่อสามารถกำหนดแนวทางให้การช่วยเหลือได้ตามกรอบหน้าที่ 4. ขอให้องค์กรด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ และภาคประชาสังคมของประเทศจีนเอง เฝ้าติดตามชะตากรรมและตรวจสอบการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลจีนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับกลุ่มดังกล่าว 5. ขอให้เรียกร้องให้รัฐบาลจีน เปิดโอกาสให้ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติ สนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อประกันการอยู่ร่วมกันของประชาชนที่มีวัฒนธรรม ภาษา ศาสนาที่หลากหลาย อย่างสันติ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 1.เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group) 2.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 3.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 4.โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch) 5.มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation) 6.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 7.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ