เจาะลึกแรงงานอุตสาหกรรมไทย และความต้องการ 5 ปีข้างหน้า

ข่าวทั่วไป Monday July 20, 2015 13:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และแนวโน้มในช่วงต่อไปว่า เมื่อย้อนไปในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนกำลังแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 38.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2547) กำลังแรงงานไทยได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.64 ทั้งนี้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราผู้มีงานทำหรือสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2547 มีสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงานคิดเป็นอัตราร้อยละ 97.23 และได้เพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 98.35 ในปี 2557 ขณะเดียวกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานหรือสัดส่วนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงาน ก็ได้ปรับตัวลดลง จากอัตราร้อยละ 2.07 เป็นร้อยละ 0.95 สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในปัจจุบัน พบว่าตลาดแรงงานไทยในปี 2557 ได้เริ่มประสบปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.17 เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะเดียวกันก็มีจำนวนผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.18 เมื่อเทียบกับปี 2556 และจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการขยายตัวทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น สำหรับในภาคอุตสาหกรรม ในภาพรวมมองว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีจำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจ้างงานแรงงานต่างชาติภายในประเทศเพิ่มขึ้น ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างและค่านิยมการศึกษาของไทยที่ไม่ตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคนไทยนิยมเรียนสูงขึ้น หากพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานแบ่งตามระดับการศึกษา ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้น กำลังแรงงานไทยนิยมเรียนสูงขึ้นในระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่กลับมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กำลังแรงงานในระดับ ปวช.-ปวส. มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้ขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม เป็นเพราะว่าค่าจ้างภาคบริการดึงดูดแรงงานมากกว่า ซึ่งในปี 2556 ภาคบริการมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 17,623 บาท/เดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 10,968 บาท/เดือน อีกทั้งประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) และในปี 2573 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน โดยแรงงานจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ประมาณ 957,998 คน รองลงมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง จำนวน 571,607 คน และ 519,220 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝ่ายผลิต ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งยังขาดอยู่ประมาณ 34,717 คน อุตสาหกรรมที่ขาดแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 6,482 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายรวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ยังขาดแรงงานฝ่ายผลิตอยู่ประมาณ 6,421 คน และ 4,538 คน ตามลำดับ โดยแรงงานที่ยังขาดแคลนส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ สำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 290,604 คน เมื่อพิจารณาด้านอายุของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทย จะพบว่า แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ สำหรับปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน พบว่ามีการโยกย้ายแรงงานไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมโยกย้ายไปสู่ภาคบริการ อีกทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น แรงงานลาออก เพื่อไปเรียนต่อ หรือทำกิจการส่วนตัว แรงงานไม่มีความอดทน แรงงานไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แรงงานไม่มีความพร้อมในการทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ และปัญหาการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น ด้านแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการนั้น สามารถสรุปได้ว่า ปัญหาค่าจ้างแรงงานสูง แก้ไขโดยปรับลดโอทีในการจ้างงาน และจัดงานให้รองรับกับเวลางานที่กำหนด จ้างงานแรงงานต่างด้าวมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการจ้างงาน ประกอบกับควบคุมรายจ่าย และลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ปัญหาแรงงานย้ายไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แก้ไขโดยการจ้างแรงงานเพิ่มทดแทนส่วนที่ลาออก ส่งเสริมสวัสดิการ เช่น ประกัน เบี้ยขยันต่างๆ และเน้นหาแรงงานที่มีความรับผิดชอบ ไม่เน้นแรงงานวัยรุ่น ส่วนปัญหาแรงงานย้ายไปภาคบริการ แก้ไขโดยเปิดรับสมัครพนักงานเพื่อทดแทนส่วนที่ลาออกอย่างต่อเนื่อง และปัญหาแรงงานไม่มีฝีมือ แก้ไขโดยการจัดอบรม เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงาน และเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยตรงเปิดรับพนักงานที่เกี่ยวกับสายวิชชาชีพเพิ่มมากขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว เนื่องจากปัญหาแรงงานเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้าง การแก้ปัญหาข้างต้นเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเพื่อแก้และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาคุณภาพแรงงานและปัญหาแรงงานมีคุณสมบัติไม่ตรงต้องการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ