“ชลบุรี” ขานรับ มติ ครม.สัญจร เดินหน้าจัดการศึกษาสู่ “การมีงานทำ”เปิด “ชลบุรีโมเดล” จับมือภาคอุตฯ พัฒนาหลักสูตร “การเตรียมความสู่โลกการทำงาน” ทุกระดับชั้น

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2015 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์ จังหวัดชลบุรี ขานรับมติการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จังหวัดเชียงใหม่ ด้านนโยบายการศึกษา เดินหน้าปฏิรูปการจัดการศึกษาทั้งจังหวัดเพื่อการมีสัมมาชีพ ตอบโจทย์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม พร้อมเปิดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้ “ชลบุรีโมเดล” ผสานความร่วมมือภาคการศึกษา-ธุรกิจ ร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในทุกระดับชู “อาชีวศึกษา” คำตอบ “เด็กชล” มุ่งสู่การศึกษาเพื่อการมีงานทำ พร้อมต่อยอด “สัตหีบโมเดล” เตรียมความพร้อมเยาวชนสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ สืบเนื่องจากมติการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ จึงให้ความสำคัญกับการเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น เมื่อเรียนจบแล้วต้องมีงานทำและมีทักษะ โดยอาศัยภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด และให้มีการไปจุดประกายเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2558 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 จังหวัดชลบุรี โดย คณะกรรมการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดชลบุรี และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัด “เวทีการประชุมคณะกรรมการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดชลบุรี” เพื่อเชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการผลักดันการจัดการศึกษาแบบ “ชลบุรีโมเดล” โดยจับมือ “ภาคการศึกษา-ภาคธุรกิจ” ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กชลบุรีมุ่งสู่การสร้างอาชีพและการมีงานทำ และพร้อมต่อยอดความสำเร็จ “สัตหีบโมเดล” ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาแบบ “ทวิศึกษา” ของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สู่การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสัมมาชีพทั้งจังหวัด นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า แนวคิดในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education) เป็นหนึ่งในนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ในการเพิ่มศักยภาพผู้เรียน ให้สอดคล้องกับความต้องการของบริบทในพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ร่วมคิดและร่วมกันกำหนดทิศทางและความต้องการในการจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนได้เอง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “คณะกรรมการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดชลบุรี” ขึ้น ประกอบด้วยคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ 1) คณะทำข้อมูลจังหวัด 2) คณะทำแผนยุทธศาสตร์ 3) คณะจัดทำหลักสูตร 4) คณะนิเทศติดตาม และ 5) คณะรณรงค์สื่อสาร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน “เมื่อวิเคราะห์ถึงรายได้หลักของจังหวัดชลบุรีที่มาจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม แต่สภาพความเป็นจริงกลับพบว่า จังหวัดชลบุรีขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับกลางและสูงมากถึง 248,862 คนต่อปี โดยกว่าร้อยละ 80 ต้องการแรงงานช่างฝีมือในระดับ ปวช.และ ปวส. และต้องการแรงงานในระดับปริญญาตรีเพียงร้อยละ 11 ฉะนั้นเพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำเพื่อตอบโจทย์เด็กเยาวชนจังหวัดชลบุรี คณะกรรมการฯดังกล่าวจึงร่วมกันจัดทำหลักสูตรการเตรียมความพร้อมของเด็กเยาวชนในทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงอุดมศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพในทุกช่วงชั้น ภายใต้ “ชลบุรีโมเดล” (CHONBURI Model) จึงมุ่งเน้นการเตรียมพร้อมผู้เรียนมีคุณลักษณะนิสัยอุตสาหกรรมในทุกระดับ ชั้นเพื่อเตรียมความพร้อมเด็กเยาวชนเข้าสู่การประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพ” ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. เปิดเผยว่า ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติที่มีการปรับปรุงแก้ไขกันในขณะนี้ ได้ผ่านการเห็นชอบจากแม่น้ำทั้ง 3 สายและอยู่ในระหว่างการนำเสนอเข้าในสภานั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการศึกษาของไทย โดยเฉพาะในมาตราที่ 48 ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ทางสสค.ได้ทำงานกับเครือข่ายมากกว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน “นับจากนี้การศึกษาจะไม่ใช่เรื่องที่จะมีการแบ่งกระทรวงหรือหน่วยงานในการทำงานอีกต่อไป แต่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาร่วมกันดูแลรับผิดชอบในการพัฒนากำลังคนของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ที่จะถูกจัดตั้งหลังจาก พรบ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีทุกภาคส่วนทั้งกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสภาหรือสมัชชาการศึกษา ที่หลายๆ จังหวัดได้จัดตั้งขึ้นมาและดำเนินงานไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา และพรบ.ฉบับนี้จะถูกประกาศใช้โดยไม่รอรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ทิศทางของการศึกษาที่ทุกจังหวัดพยายามขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เกิดการศึกษาที่หลากหลายและตอบโจทย์ชีวิตและการมีงานทำให้ทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นเกิดความมั่นคงและยั่งยืน” นายวัชรินทร์ ศิริพานิช ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า “สัตหีบโมเดล” เป็นการจัดการศึกษาแบบ “ทวิศึกษา” หรือ WIL (Work Integrated Learning) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณสมบัติและมีทักษะความรู้ความชำนาญที่สอดคล้องตรงตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด” ที่สามารถต่อยอดขยายผลไปสู่การจัดการศึกษา “ชลบุรีโมเดล” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กนักเรียนในทุกระดับตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา “เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะรับเด็กที่จบชั้น ม.3 มาเรียนไปด้วยและทำงานไปพร้อมกันจนจบ ปวช. และ ปวส. โดยจะมีรายได้ระหว่างเรียน เมื่อเขาได้เรียนรู้งานภาคทฤษฎีจากในวิทยาลัยแล้ว พอเข้ามาที่บริษัทเขาจะเรียนรู้เรื่องภาคปฏิบัติ ซึ่งจะมีการปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับวิชาในแต่ละช่วงที่เขาเรียน เด็กก็จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นรูปแบบที่ทางคณะทำงานของชลบุรีโมเดลได้มีการคุยกันว่า อะไรคือนิสัยพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่เด็กชลบุรีจะต้องมีและเราจะต้องปลูกฝังและใส่เข้าไปในตัวเด็กนั่นก็คือ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความประหยัด ความพอเพียง ความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ มุ่งผลสัมฤทธิ์งาน ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ” นางวรดา ชำนาญพืช ประธานชมรมบริหารงานบุคคลชลบุรี และกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัจจุบันทุกองค์กรในจังหวัดชลบุรีล้วนมีปัญหาขาดแคลนแรงงานช่างฝีมือในด้านต่างๆ เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยเน้นให้เด็กเรียนปริญญาตรี ซึ่งจบมาแล้วไม่มีงานทำ สิ่งสำคัญก็เราจะเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมของพ่อแม่ในเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้เราเรียนไปโดยที่ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยกำลังเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งชลบุรีโมเดลที่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดกำลังพยายามขับเคลื่อนในขณะนี้จึงเป็นทางออกด้านแรงงานฝีมือของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม “การเข้ามาร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เป็นโอกาสดีของเราที่จะสร้างพนักงานหรือบุคคลกรรุ่นใหมที่เก่งและดี ประกอบกับเราต้องการผลิตช่างฝีมือให้ตรงกับความต้องการ พร้อมกับปลูกฝังพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่เด็กชลบุรีจะต้องมีและเป็นทักษะพื้นฐานหรือค่านิยมที่ภาคธุรกิจต่างๆ ในชลบุรีต้องการ โดยเด็กๆ นอกจากจะได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้วได้โอกาส ยังได้ความรู้บวกประสบการณ์จริง ได้งานที่มั่นคง แล้วท้ายที่สุดประเทศแล้วไทยก็จะได้ประโยชน์ เพราะในฐานะผู้ประกอบการก็อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในด้านนวัตกรรม ไม่ใช่แค่เป็นประเทศที่ขายแรงงานราคาถูกเท่านั้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า ดังนั้นจุดขายของไทยจึงต้องคือการสร้างแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ