รมว.พม. เผยมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

ข่าวทั่วไป Monday July 27, 2015 12:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.พม. เผยมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ เอื้อต่อการจัดระเบียบหอพัก พร้อมเร่งช่วยเหลือเด็กวัย ๑๒ ขวบถูกข่มขืนคลอดลูก ที่ จ.นครศรีธรรมราชและอดีตนักพากษ์ภาพยนตร์ ป่วย พิการ ที่ จ.ปทุมธานี วันนี้ (๒๔ ก.ค.๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๒๐๖/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยห้ามรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะพฤติการณ์ที่จะนำไปสู่การแข่งรถ จะต้องรับโทษว่าด้วยการจราจร ทางบก และให้อำนาจเจ้าหน้าที่นำรถมาเก็บไว้ชั่วคราวจนกว่าพฤติการณ์จะสิ้นสุด และให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน ไม่สนับสนุนให้เยาวชนมั่วสุม แข่งรถ และให้อำนาจพนักงานจราจรเอาผิดผู้ปกครองได้หากเด็กและเยาวชนกระทำผิดซ้ำ ผู้ปกครองจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน ปรับไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะ ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ดัดแปลง หรือมีส่วนเป็นธุระจัดหา จำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพัก และลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น มาตรการฯ ดังกล่าวที่ออกมานี้เป็นการยับยั้งพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของเยาวชน เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนมั่วสุม และการจัดระเบียบหอพัก ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เร่งดำเนินการในขณะนี้เป็นอย่างมาก คาดว่าจะทำให้สังคมทุกภาคส่วนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการสัญจรไปมา พ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนนักเรียนนักศึกษา มีความสบายใจขึ้น ในสภาพแวดล้อมที่ดีของสถานศึกษาและหอพัก พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีเด็กหญิง อายุ ๑๒ ปี ถูกชายหนุ่ม อายุ ๒๒ ปี ข่มขืนกระทำชำเราจนตั้งครรภ์ และต้องออกจากโรงเรียน ขณะนี้ได้คลอดลูกสาว วัย ๒ เดือน ต้องให้ญาติช่วยเลี้ยงดูเอง เนื่องจากเด็กหญิงกำพร้าพ่อ-แม่ และไม่มีรายได้ ส่วนฝ่ายชายไม่รับผิดชอบแต่อย่างใด ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตนได้กำชับ ให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราช (พมจ.นครศรีธรรมราช) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กหญิงและครอบครัวโดยด่วน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กหญิงในระยะยาวต่อไป และกรณีชาย อายุ ๗๘ ปี อดีตนักพากษ์ภาพยนตร์และสมาชิกสมาคมศิลปินแห่งประเทศไทย พิการหูหนวก นอนป่วยมีแผลกดทับหลายที่ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล อาศัยอยู่กับภรรยา อายุ ๗๓ ปี ในบ้านสภาพเก่าทรุดโทรม ที่จังหวัดปทุมธานี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด นครปทุมธานี (พมจ.ปทุมธานี) เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลและสิทธิต่างๆต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ