สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 27-31 ก.ค.58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 3-7 ส.ค.58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2015 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.03เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Reuters เผยบริษัทน้ำมันแห่งชาติยักษ์ใหญ่ของจีน CNPC และ Sinopec มีแผนที่จะเริ่มดำเนินการแหล่งน้ำมันดิบในประเทศอิหร่าน โดยมีปริมาณการผลิตรวมถึง 160,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบด้วยแหล่งYadavaran 85,000 บาร์เรลต่อวัน และ แหล่ง North Azadegan 75,000 บาร์เรลต่อวัน · Baker Hughes รายงาน ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 664 แท่น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 · กระทรวงพลังงานญี่ปุ่น เผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 58 ลดลง 11.2% จากเดือนก่อนหน้ามาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี · Chevron บริษัทน้ำมันสัญชาติสหรัฐฯ ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศปรับลดจำนวนพนักงานลง 1,500ราย หรือประมาณ 2% ของกำลังพนักงานทั่วโลก และบริษัท Shell ปรับลดจำนวนพนังงานลงกว่า 6,000 ราย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ · Reuters ร่วมกับ University of Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index) เดือน ก.ค. 58 ลดลง 3 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 93.1 จุด และต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดไว้ที่ 94.0 จุด ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · บริษัทน้ำมันข้ามชาติรายใหญ่อาทิ Exxon Mobil, Chevron, Shell, BP, Total มีแนวโน้มพิจารณาปรับลดCAPEX อีกในช่วงนี้ ตามปกติบริษัทปรับงบการลงทุนปีละครั้ง แต่ผลกำไรสุทธิไตรมาส 2/58 ที่ลดลงกว่า 40%อาจทำให้บริษัทปรับลดค่าใช้จ่ายในปี 2558 ลงอีกหลังจากที่ช่วงต้นปีได้ปรับลดลงแล้ว 10-15% จากปี 2557 · Wood Mackenzie ประเมินว่าโครงการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทะเลลึกที่ถูกชะลอออกไปในช่วงวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระทบต่อปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรวม 1.06 หมื่นล้านปริมาณเทียบเท่าบาร์เรลน้ำมันดิบ · กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24ก.ค. 58 ลดลง 4.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 459.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะทรงตัว · กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 58 ลดลง 180,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมากสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 54 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากปริมาณอุปทานที่ล้นตลาด โดย Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุด เพิ่มขึ้น 5 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 664 แท่น บ่งชี้การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ดี ทางด้านกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ในกลุ่ม OPEC ต่างมีท่าทีเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด โดยบริษัท South Oil Co. ของอิรักเผยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากท่าส่งออกทางตอนใต้ เดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้น 44,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.064 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการส่งออกจากทางเหนือของประเทศอยู่ที่ 40,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของอิรักรวมอยู่ที่ระดับ 3.104 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งนาย Bijan Zanganeh รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิหร่านเผยแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ให้เร็วที่สุดหลังจากมาตรการคว่ำบาตรยกเลิก ซึ่งในระยะเวลาอันสั้นจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 3.8 - 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ได้แจ้ง OPECเป็นลายลักษณ์อักษรถึงปริมาณการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันหลังมาตรการคว่ำบาตรยกเลิก อนึ่งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.03 - 54.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46.1-50.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49.03-53.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากบริษัท Bangladesh Petroleum Corp. (BPC) ของบังคลาเทศจะนำเข้าน้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 76,500 บาร์เรล ในช่วงครึ่งหลังของปี 58 ลดลงจาก 127,500บาร์เรล ในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับบริษัท Formosa Petrochemical Corp. จากไต้หวันได้เริ่มดำเนินการหน่วยRFCC (ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 45,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงไปเมื่อวันที่ 31ก.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์บริเวณ ARAสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค. 58 เพิ่มขึ้น 11.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.30 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ต้นปี 58เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำไรน์ต่ำมาก เรือ Barge บรรทุกได้ปริมาณจำกัด ทำให้ส่งออกน้ำมันเบนซินได้น้อย ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในยุโรปผลิตน้ำมันเบนซิน เต็มที่เพื่อเน้นส่งออกไปยังไนจีเรียและสหรัฐฯ ซึ่งอุปสงค์สูงมากในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ของสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ค. 58ลดลง 640,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 11.62 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.18 – 72.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล JX Nippon & Energy Corp. ซึ่งมีกำลังการกลั่น 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 36 % ของกำลังการกลั่นของประเทศญี่ปุ่น มีแผนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ในเดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้น 2.42 % จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 820,000 บาร์เรล อีกทั้งกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลเดือน มิ.ย. 58 ที่ระดับ 168,000 บาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เพิ่มขึ้น 83% จากเดือนก่อนหน้า หรือ 41% จากปีก่อนหน้า) เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวและจีนอยู่ในช่วงห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ นอกจากนี้ Reuters รายงาน Arbitrage ของน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางและเอเชียสู่ยุโรป ในเดือน ก.ค. 58 จะลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 7.45 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกันกับ Arbitrage จาก Gulf Coast ของสหรัฐฯ สู่ยุโรปที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 11.92 ล้านบาร์เรล เนื่องจากน้ำในแม่น้ำไรน์ต่ำมาก จำกัดการนำเข้า ประกอบกับ Platts รายงานว่าอุปทานน้ำมันดีเซลในเอเชียล้นตลาด โดยเฉพาะจากการส่งออกของจีน ขณะที่Arbitrage สู่ยุโรปปิดจากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูง ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค. 58 ลดลง 1.9% จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.18 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ของสิงค์โปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่29 ก.ค. 58 ลดลง 250,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 12.92 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55.83 – 60.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ