ครึ่งปี 58 ลีสซิ่งกสิกรไทย สินเชื่อโต 3.76% เตรียมแผนบุกตลาดสินเชื่อรถยนต์ครึ่งปีหลังอย่างมีคุณภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2015 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ธนาคารกสิกรไทย สินเชื่อลีสซิ่งรถยนต์ครึ่งปีแรกยังทรงตัว ลีสซิ่งกสิกรไทยปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 30,414 ล้านบาท เพิ่ม3.76% กำไร 293 ล้านบาท เชื่อครึ่งปีหลังตลาดรถยนต์มีทิศทางดีขึ้น จากประกาศโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ในปีหน้าช่วยเร่งยอดขายรถยนต์ 1,500 ซีซีขึ้นไป รถยนต์มือสอง บิ๊กไบค์ ตลาดยังโต พร้อมออกแคมเปญอัดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กสิกรไทย และสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรก 2558บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด สามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ได้ 30,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3.76% แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 15,273 ล้านบาท ลดลง 7.44% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 15,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.20% โดยเฉพาะในไตรมาสสอง สินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตถึง28.64% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 88,903 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.96% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.29% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 293 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ทั้งระบบมีจำนวน 8.52 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 57ประมาณ 7 พันล้านบาท หรือลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนพ.ค.57 ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกปี 58 ยังอยู่ในสภาพซบเซา โดยมียอดจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่369,109 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน 16.3% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลง คือ รายได้ประชากรที่ลดลง จากทั้งภาคการเกษตรและการส่งออก ทำให้มีความกังวลในการใช้จ่ายมากขึ้น จึงชะลอการซื้อรถยนต์ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินก็เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องที่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกติดล็อคกับข้อบังคับให้ถือครองรถยนต์ 5 ปี ทำให้โอกาสในการซื้อรถใหม่เพื่อหมุนเวียนลดลง ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าว คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้น่าจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 760,000-780,000 คัน หรือคิดเป็นราว 12-14% ด้านตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) พบว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดตั้งแต่ 126 ซีซีขึ้นไป ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 มียอดจดทะเบียนรายเดือนเฉลี่ย 13,792 คันต่อเดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 41% เมื่อเทียบกับยอดจดทะเบียนรายเดือนเฉลี่ยปี 2557 อยู่ที่ 9,786 คันต่อเดือน ซึ่งแนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ คาดว่าจะยังมีโอกาสขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีความนิยมสูง ขณะที่มีรถจักรยานยนต์ใหม่หลายรุ่นให้เลือกซื้อมากขึ้นด้วยระดับราคาที่ต่ำลง จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดมองว่า แนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ในปี 2558 นี้ น่าจะมีโอกาสขยายตัวได้กว่า 15-20% ส่วนตลาดรถยนต์มือสอง มีทิศทางดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2558 โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ลูกค้าที่ต้องการรถยนต์เริ่มมองหารถยนต์มือสองสภาพดีที่เข้าสู่ตลาดค่อนข้างมาก ตามยอดการยึดคืนรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่ลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้ นายสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กรมสรรพสามิตรองรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายรถยนต์ใหม่ปีหน้า โดยรถยนต์ขนาดเล็กเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,500 ซีซี หรืออีโคคาร์ ราคาขายจะปรับลดลง ขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,500 ซีซีขึ้นไป มีโอกาสปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100,000 บาทต่อคัน ทำให้คนที่ต้องการซื้อรถยนต์ขนาด 1,500 ซีซีขึ้นไป จะรีบซื้อในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ ส่วนคนที่ต้องการซื้อรถยนต์ขนาดเล็กจะชะลอซื้อไปก่อน และกลับมาซื้อช่วงต้นปีหน้าที่ราคารถปรับลดลง และหากรัฐบาลประกาศปลดล็อคเงื่อนไขโครงการรถยนต์คันแรก ก็น่าจะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนตลาดรถยนต์ได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นบริษัท ฯ ได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานในช่วงครึ่งหลัง ปี 2558 จะยังคงเน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และลีสซิ่งรถยนต์กับผู้จำหน่ายรถยนต์กลุ่มเป้าหมาย และยังคงลุยตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์รวมถึงกลุ่มฟลีท (Fleet) โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทยยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผลการดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังคงเน้นความร่วมมือกับกลุ่ม OEM อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครบวงจรด้วยหลักการ Synergy กับธนาคารกสิกรไทย และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในการวางแผนแนวทางธุรกิจสู่ตลาดอาเซียน (CLMV)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ