กระทรวงเกษตรฯ แจงผลการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง พร้อมเตรียมมาตรการรับมือฤดูการผลิตหน้า หวังรับมือภัยแล้งระยะยาว

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2015 10:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และแผนการบริหารจัดการน้ำในปี 59 ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่ามีปริมาณไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังในปี 2558 จึงได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลดการปลูกข้าวนาปรัง โดยประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 22 จังหวัด ขณะเดียวกันได้เสนอมาตรการรองรับโดยครม.มีมติอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในการจ้างแรงงานชลประทาน การชดเชยรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 1,000 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ และได้เร่งดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การงดส่งน้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและน้ำแม่กลอง การแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างเดิม การจ้างแรงงาน การติดตามความเสียหายในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าว การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ การปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่เพาะปลูก และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลไปยังเกษตรกร ร่วมกับการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์และปริมาณการปล่อยน้ำอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งได้เร่งดำเนินการขุดบ่อบาดาลตามมติครม.เศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในกรณีฉุกเฉินจำนวน 500 บ่อ และจัดตั้งชุดเยี่ยมเยียนเกษตรกร 273 ชุด นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอขอใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการช่วยเหลือและป้องกันผลกระทบทางการเกษตรจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา ได้แก่ปลูกพืชฤดูแล้งหลังฝน การปรับโครงสร้างการผลิตเป็นเกษตรกรรมทางเลือก และโครงการฟาร์มชุมชน นอกจากนี้ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป โดยหากมีพื้นที่เสียหาย ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง จะมีการชดเชยตามเกณฑ์ และเตรียมมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร ครั้งที่ 3 ในเดือนกันยายน ส่วนแผนเพาะปลูกพืชสำหรับฤดูกาลหน้า ได้เตรียมปรับโครงสร้างการผลิตในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยปรับระบบการผลิตพืช ปลูกพืชที่มีตลาดรองรับ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์อย่างเหมาะสม ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ มีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และรองรับพื้นที่การเกษตรได้ในบางส่วน หากยังมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม รวมทั้งได้สำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก พบว่ามีปริมาณลดเหลือ 272,000 ไร่ จากเดิม 1.5 ล้านไร่ สำหรับสถานการณ์น้ำในปีหน้า ต้องคาดการณ์จากปริมาณการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ทั้งปี คำนวณกับปริมาณน้ำในอ่างต่างๆ เมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคมที่จะถึง ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำในเขื่อนประมาณ 5,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอในการใช้ไปจนถึงเมษายนปี 59 ส่วนการพิจารณาปรับลดการระบายน้ำนั้น ต้องคำนึงถึงความต้องการน้ำในการเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้มีปริมาณลดลงเนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปบ้างแล้ว ด้านนายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดินรับผิดชอบการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ 1)โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 2)โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน 3)โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด1,260 ลบ.ม. และ 4)โครงการปรับปรุงระบบชลประทานและการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ สำหรับแผนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2559 กรมพัฒนาที่ดินได้เตรียมดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 173 แห่ง20,000 บ่อ สามารถกักเก็บน้ำได้ 28.8642 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 125,564 ไร่ 29,392 ครัวเรือน นายอภิชาต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ