บทความพิเศษ เรื่อง พี่ใหญ่พี่รองประคองเศรษฐกิจเอเชียอย่างไรให้สงบสุข

ข่าวทั่วไป Monday August 17, 2015 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ซูม พีอาร์ ในห้วงช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานั้น ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นพี่ใหญ่แห่งเอเชีย น้องๆ มีปัญหาก็จะหันหน้าไปพึ่งพาพี่ใหญ่อย่างจีน ซึ่งในอดีตก็ทำหน้าที่สมกับที่น้องๆ ในกลุ่มอาเซียนเรียกขาน ว่าพี่นี้มีแต่ให้ ทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงในอีกหลายเรื่องที่ไทยได้เคยเอ่ยปาก ก็จะได้รับความช่วยเหลือทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เพราะจีนในปัจจุบันนั้นมีอิทธิพลที่มักจะเกี่ยวดองกับความมั่นคงในภูมิภาคแถบนี้ จนแซงญี่ปุ่น และเกือบๆจะทัดเทียมอเมริกา ถ้ามองแง่เศรษฐกิจ แต่ถ้าหากเทียบกันด้านแสนยานุภาพทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ยังคงห่างกับมหาอำนาจอย่างอเมริกาอย่างลิบลับ เพราะตอนนี้ อเมริกามีเรือรบมากถึง 2,384 ลำ จีนมี 972 ลำ รัสเซียมี 233 ลำ อเมริกามีเครื่องบินรบ 18,234 ลำ จีนมี 2,749 ลำ รัสเซียมี 5,176 ลำ อเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ จีนกับรัสเซียมีประเทศละ 1 ลำ จากตัวเลขนี้ก็คงจะเห็นภาพชัดเจนนะครับว่าใครใหญ่กว่า แต่จะอย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่การค้าการขายจีนกับญี่ปุ่นสองประเทศนี้ก็เคยได้ดุลอำนาจเหนืออเมริกา เมื่อมองย้อนไปในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน หากจะพูดถึงในขณะนี้พี่ใหญ่จีน กับพี่รองญี่ปุ่นทั้ง 2 ประเทศนี้ กำลังอยู่ในสถานะที่กำลังทรงตัว เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ถดถอยในระดับภายใน และระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ต้องลงไปสำรวจตรวจตราหนี้เสีย (NPL) ด้วยตนเอง จากการบริหารที่ล้มเหลวโดยผู้นำท้องถิ่นตามมณฑลต่างๆ จนมีหนี้เสียมากมาย สำหรับญี่ปุ่นเองก็มีการปรับเปลี่ยนระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 5 % เพิ่มขึ้นเป็น 8% จึงทำให้สถานการณ์ในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมเงียบเหงาเป็นพิเศษ ซึ่งในตอนแรกก็เกรงว่าจะกระทบกับนโยบายการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ในช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 แต่ก็ยังดีที่ตัวเลขการนำเข้าก็ไม่ได้ลดลงไปมากนัก สำหรับปัญหาเรื่องระหองระแหงที่ค่อนข้างรุนแรงในเรื่องเกาะที่ชื่อว่าหมู่เกาะเตียวหยู หรือ เตี้ยว หวี ไถ (ชื่อที่จีนใช้เรียก) แต่ถ้าญี่ปุ่นจะเรียกอีกชื่อหนึ่งคือหมู่เกาะเซ็น กา กุ ซึ่งจีนและญี่ปุ่นถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในเรื่องกรรมสิทธิ์ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่จีนและก่อให้เกิดการประท้วงการกระทำของ รัฐบาลญี่ปุ่น และยังขยายวงกว้างจากระดับรัฐบาลไปถึงระดับประชาชน อาทิ การระงับเดินทางไปท่องเที่ยวระหว่างกัน การเข้าทำลายทรัพย์สิน บริษัท และร้านค้าสัญชาติญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในจีน รวมถึงแนวโน้มที่จะระงับการลงทุน และเคลื่อนย้ายแหล่งการผลิตออกจากกัน และการเพิ่มอุปสรรค์ในการตรวจสอบสินค้านำเข้าของจีนจากญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งสร้างความกังวลต่อนานาประเทศในระดับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศทั้ง 2 เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลก การระงับการลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น จะทำให้เงินทุน นักท่องเที่ยวจากจีนและญี่ปุ่น ที่มีแผนจะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันเปลี่ยนแผนไปยังแหล่งเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ใกล้เคียงแทน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย จึงก่อให้เกิดผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในแง่ดังกล่าว นี่ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ที่พี่ใหญ่อย่างจีนเที่ยวทะเลาะเบาะแว้งกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เหนือน่านน้ำทะเลอีกระรอกหนึ่ง ความจริงพื้นที่หมู่เกาะเหนือน่านน้ำทะเลที่มีอยู่เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่อย่างจีน แต่ใต้ท้องทะเลนั้นมีแร่ธาตุและก๊าซธรรมชาติมากมายมหาศาลที่จีนจ้องตาเป็นมัน และประเทศที่ต้องพึ่งจีนอย่าง เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว จะเชียร์จีนหรือไม่ ประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ที่คุ้นเคยพึ่งพามหาอำนาจอเมริกาก็คงต้องไปอีกทาง แล้วน้องไทยในปัจจุบันจะไปทางไหนดี อย่างไรก็ต้องไตร่ตรองตั้งสติกันให้ดีๆ ยังไม่อยากจะนึกถึงการรวมตัวของพี่น้องอาเซียนเลยว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าต้องให้ตัดสินใจเลือกข้าง แบบนี้แล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะไปรอดไหมเนี่ย ???? สนับสนุนบทความโดย นายมนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ) สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ