The case of hana & alice ฮานะ &อลิซ ปริศนาโรงเรียนหลอน

ข่าวบันเทิง Tuesday August 18, 2015 17:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม คุยกับ อิวาอิ ชุนจิ ผู้แต่งเรื่อง, ผู้เขียนบท, ผู้ประพันธ์ดนตรี และผู้กำกับ ภาพเหมือนที่ร่างโดย ผู้กำกับ อิวาอิ ‘ฮานะ กับ อลิซ อยู่ในใจผมเสมอมา’ คุณกลับมาเล่าเรื่องของฮานะกับอลิซอีกครั้ง ด้วยนักแสดงนำคู่เดิมคือ ยู อาโออิ กับ แอนน์ ซูซูกิ ที่ไม่ได้เจอกันอีกเลยเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ฉบับหนังเรื่อง hana and alice (2004) “คราวนี้ไม่เหมือนกับการทำหนังเรื่องใหม่ แต่คล้ายๆกับการใส่ฟุตเตจเพิ่มเติมลงไปในหนังเรื่องเดิม แล้วทำให้มันมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วยส่วนของปมปริศนาคาใจ มันเป็นเรื่องง่ายมากๆขึ้นด้วยเมื่อผมได้นักแสดงคู่เดิมกลับมา คราวนี้พวกเธอเพียงแต่มาเล่าในส่วนที่ต่างออกไปจากคราวก่อน แต่ในคราวต่อไปผมหวังว่าจะได้พวกเธอกลับมาแสดงร่วมกันจริงๆ นับตั้งแต่หนึ่งปีหลังจากหนังเรื่องนั้น ผมก็อยากจะเขียนบทภาคต่อของมันมาตลอด เรื่องราวใน hana and alice ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ คล้ายๆกับซีรีส์ทีวีเรื่อง ซาซาเอะซัง (มังงะในปี1946-1974 เขียนโดย มาจิโกะ ฮาเซงาวะ ซึ่งภายหลังถูกดัดแปลงไปเป็นแอนิเมะ มาตั้งแต่ปี1969 จนบัดนี้ก็ยังคงมีตอนใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ) เหมือนเป็นเรื่องที่จะมีตัวนำคือ ฮานะกับอลิซ อยู่ในทุกตอน และบทจะถูกพัฒนาคลี่คลายขึ้นด้วยการที่พวกเธอทำอะไรบางอย่างขึ้นมา ในหนังหลายๆเรื่องของผมก่อนหน้านี้ ผมมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะเล่าแต่ละเรื่อง ดังนั้นในแง่นี้ Hana & Alice จึงเป็นหนังที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆของผมอย่างสิ้นเชิง” “แม้ว่าหลังจากฉบับหนังเรื่องนั้นจะจบลงไปแล้ว มันก็ยังไม่จบไม่สิ้นสำหรับผม และผมยังคงคิดถึงมันเสมอมาว่า “พวกเธอทำอะไรกันมาก่อนที่เรื่องราวเหล่านี้จะเริ่มต้นขึ้นนะ?” อลิซย้ายเข้ามาใหม่ ส่วนฮานะก็อยู่บ้านเพียงลำพังและไม่สุงสิงกับใคร... ฮานะเล่าถึงเหตุผลที่เธอไม่สุงสิงกับใคร ในฉากจบของฉบับหนังเรื่องเดิมเพียงสั้นๆ ซึ่งฟังดูเหมือนเธอพูดลอยๆ เป็นเหมือนความคิดชั่วูบ แต่สิ่งนั้นก็ถูกหยิบมาเป็นเหตุผลหลักของฉบับแอนิเมชั่นนี้ เพื่อขยายเรื่องราวให้ชัดเจนขึ้น ในหนังฉบับเดิมแม้ว่าพวกเธอจะเป็นนักเรียนมัธยมปลายกันแล้ว แต่ก็ยังคงทำตัวแก่นๆเหมือนเด็กๆ ด้วยคาแร็คเตอร์นี้คราวนี้ผมจึงอยากจะเขียนให้พวกเธอเด็กลงไปกว่าเดิมอีก และแต่งเติมเรื่องราวให้เหมือนกับวรรณกรรมเยาวชน ผมจึงเขียนให้พวกเธอเป็นนักเรียนมัธยมต้นในหนังเรื่องนี้ แต่จริงๆแล้วก็อยากจะให้พวกเธอเป็นเด็กประถมมากกว่า แต่ก็ยังคงพูดจาแบบในฉบับหนัง ซึ่งจะทำให้ฮานะกับอลิซดูแก่แดดขึ้นอีกนิด คือเรื่องบางอย่างจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ในบางช่วงอายุ ยกตัวอย่างเช่น การที่เธอหลอกล่อเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่พวกเธอหลงรัก ให้เขาเชื่อว่าเขาเป็นโรคความจำเสื่อม เรื่องแบบนี้จะกลายเป็นอาชญากรรมไปทันทีถ้าพวกเธออายุสัก 27ปี แต่พอพวกเธอเป็นแค่เด็กมัธยมปลาย สิ่งนี้ก็สามารถจะให้อภัยได้ แต่ถ้าเปลี่ยนให้พวกเธออายุอ่อนกว่าในเรื่องเดิม พฤติกรรมแบบนี้ก็สามารถทำความเข้าใจได้ว่าพวกเธอก็เป็นแค่เด็กแก่แดดแก่นๆไม่ประสีประสา สิ่งนี้ยังคงอยู่เหมือนในฉบับหนังแต่ถูกทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในฉบับแอนิเมชั่นเรื่องใหม่นี้ ฮานะไม่ได้เข้าไปยุ่งกับชีวิตของอลิซ และอลิซก็ไม่ได้ยุ่งกับชีวิตของฮานะ แต่พวกเธอต่างยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกัน ผมอยากจะสื่อถึงอะไรแบบนี้ด้วยว่า ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย อันเป็นธีมพื้นๆที่ผมใช้มาตลอดในหนังทุกๆเรื่องของผม มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมองชีวิตในแง่มุมไหน ในทุกๆเหตุการณ์ถ้าคุณมองมันในแง่บวกมันก็จะมีแต่เรื่องดีๆ เช่นกันถ้าคุณมองมันในแง่ลบ เรื่องนั้นก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับคุณไปในทันที” “แต่สิ่งที่ผมไม่ต้องการเลยคือการทำให้ตัวละครถูกทรมานแล้วก็เล่าเรื่องราวของพวกเธอแบบเศร้ารันทดหดหู่ ผมเชื่อถือในทุกชีวิต ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน ทุกคนล้วนมีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันอยู่อย่างละครึ่ง ฮานะกับอลิซก็เช่นกัน แม้ว่าพวกเธอจะชอบพาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยงๆ ไปเดินอยู่บนเชือกที่เขม็งเกลียว หรือบนขวากหนามแหลมคม คือผมชอบนะที่จะทำให้ตัวละครไปเจอเรื่องอันตรายหน่อยๆ ออกจะฟังดูซาดิสม์อยู่บ้าง แล้วแม้ว่ามันอาจจะร้ายแรงและเป็นสถานการณ์ยุ่งยากสำหรับคนอื่นๆ แต่สำหรับฮานะกับอลิซแล้วพวกเธอกลับไม่ยี่หร่ะกับเรื่องโหดร้ายสักเท่าไหร่ เพียงแต่พวกเธอแค่ไม่มั่นคงและเปลี่ยวเหงาก็เท่านั้นเอง อลิซเป็นเด็กแสบที่ย้ายเข้ามาใหม่ในโรงเรียน เธอถูกกลั่นแกล้งแต่เธอก็ไม่ได้ใส่ใจกับอะไรพวกนี้เลย (หัวเราะ) และนี่คือการมองโลกในแง่บวกที่ผมหมายถึง แสดงให้เห็นว่าเธอแข็งแกร่งกว่าที่คิดเอาไว้” มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นภายใน “โรงเรียน” อันเป็นสถานที่เชื่อมโยงระหว่างหนังเรื่องเดิมกับแอนิเมชั่นเรื่องใหม่นี้ “ตอนนี้ผมไม่ได้ทำงานให้กับค่ายหนังที่ไหนแล้ว บางโอกาสผมก็ไปพบปะผู้คนและดื่มบ้างเป็นบางที ผมเป็นพวกไม่คงเส้นคงวาในการเป็นสมาชิกลุ่มองค์กรใดใด ทำให้ผมมองนักแสดงและทีมงานว่าพวกเขาก็แค่มาร่วมกันทำงาน แล้วก็ต่างจากกันไปตามวิถีทางของตนเองหลังจากถ่ายทำหนังเสร็จแล้ว แต่สำหรับผม “โรงเรียน” คือสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ผู้คนได้รับการอบรมหล่อหลอมจากที่นี่ ตอนผมยังเป็นเด็ก วงสังคมแห่งแรกที่เราจะนึกถึงก็คือ “ละแวกบ้าน” ซึ่งจะมีเด็กๆอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมกับพวกพ่อๆแม่ๆของเด็กพวกนั้นอาศัยอยู่ แล้วบางครั้งเด็กๆก็มักจะต่อสู้กันแบบเด็กๆ แต่มันน่าประหลาดใจมากเมื่อพวกเขาไปโรงเรียน พวกเขากลับจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีกต่อไป ผมมักจะนึกถึงเรื่องแบบนี้อยู่เสมอ ลองนึกดูว่ามีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีทั้งเด็กๆและพวกผู้ใหญ่ แล้วพอพวกเขาย้ายไปสู่สังคมที่มีแต่เด็กๆเท่านั้น แล้วแม้ว่าจะมีกันอยู่แค่นั้น พวกเขาก็จะสร้างลำดับชั้นการปกครองขึ้นมาในกลุ่ม กลายเป็นการแบ่งชนชั้นระหว่างพวกเข้มแข็งกับพวกอ่อนแอ สมัยผมยังเป็นเด็ก พวกเราจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม พวกกลุ่มที่เกิดต้นปีจะได้อยู่ในกลุ่มดอกวีโอเลต และพวกที่เกิดปลายปีก็จะไปอยู่ในกลุ่มดอกเบญจมาศ และแม้ว่าพวกดอกวีโอเลตจะแก่เดือนกว่าแค่ครึ่งปี พวกนี้ก็มักจะชอบกลั่นแกล้งพวกกลุ่มดอกเบญจมาศอยู่เสมอ มันฟังดูไม่มีเหตุผลเลย แต่ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่จนเดี๋ยวนี้ สำหรับผมแล้วโรงเรียนก็เหมือนกับเครื่องจักรที่แบ่งแยกพวกเราและหล่อหลอมสร้างบุคลิกต่างๆให้กับผู้คนด้วยการแบ่งแยกชนชั้นออกจากกัน คล้ายๆกับการยัดบางอย่างเยอะๆลงไปในกล่องด้วยการจัดระบบระเบียบ แต่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น บนรถไฟฟ้าแน่นๆก็เหมือนกัน ตอนนี้ถ้ามีใครหกล้มตรงหน้าผม ผมก็จะถามเขาว่า “คุณเป็นอะไรไหม?” แต่บางทีผมอาจจะทำแบบนั้นไม่ได้ถ้าอยู่บนรถไฟฟ้าแน่นๆ... ผมว่าโลกนี้มีเครื่องจักรมากมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อหล่อหลอมมนุษย์ และด้วยเหตุผลเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจ เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนห้องเรียนใหญ่ๆที่กำลังทรมานและกลั่นแกล้งประชาชน เช่น “นั่นไม่ถูกต้องนะ” เมื่อคุณร้องขอให้รัฐแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง มันไม่มีอะไรดีเลยที่เราต้องเดินไปตามจังหวะที่มีคนอื่นมาขีดให้เราเดิน” กฎข้อบังคับถูกแทรกซึมอยู่ในโลกของภาพยนตร์ด้วย “ภาพยนตร์ทุกวันนี้กลายเป็นธุรกิจมากจนเกินไป แล้วมันก็ให้ความบันเทิงแก่สังคม ขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นดูไม่มีพิษมีภัย หนังไม่ใช่ละครทีวี ดังนั้นเราจึงควรขยายขอบเขตออกไปให้หนักแน่นกว่านั้น แต่กลายเป็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เดี๋ยวนี้หนังมีความสุภาพมากขึ้น แต่ผมกลับคิดว่าเราควรจะออกไปจากกรอบเดิมๆบ้าง มีความห่ามหยาบบ้าง บางทีผู้คนก็มีพยายามมากจนเกินไปที่จะอยู่แต่ในสนามเดียวกัน บางทีเรายกย่องภาพยนตร์ว่ามันเป็นสิ่งที่เลิศลอยมากจนเกินไป และด้วยสิ่งเหล่านี้ เราจึงจำกัดทางเลือกของเราและบีบให้มันแคบลงด้วยการยึดติดขนบเดิมๆมากจนเกินไป บางทีตัวหนังเองไม่ได้ต้องการทิศทางในแบบที่ผู้ชมต้องการ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้มีหนังอีกหลายโปรเจ็คต์ไม่ได้ถูกสร้างออกมา คือจริงๆเราควรจะทำหนังในแบบที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ว่า “หนังแนวนี้กำลังฮิต งั้นเรามาทำอะไรคล้ายๆแบบนี้กันดีกว่า” เราควรที่จะทำอะไรที่แปลกต่างออกไป ก้าวข้ามอุปสรรคพวกนี้เพื่อไม่ให้หนังยึดติดรูปแบบเดิมๆ” อิวาอิ ชุนจิ เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม ปี1963 เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการเมื่อปี1988 ด้วยการเป็นทีมผลิตมิวสิควิดีโอ และรายการทางช่องเคเบิลทีวี จนภายหลังขยายผลงานออกไปสู่การกำกับละครทีวี และกำกับมิวสิควิดีโอ ผลงานของเขามีความโดดเด่นแปลกต่างจากคนอื่นๆ จนรูปแบบของเขากลายเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นว่าเป็น “ความสุนทรีย์แบบอิวาอิ” ภายหลังเขาก้าวสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ แล้วกำกับหนังดังๆอีกหลายเรื่องอาทิ PiCNiC และ Swallowtail ในปี1998 เขากำกับ April Story ด้วยภาพที่งดงามราวกับใช้มือพริ้วไหวอย่างอิสระในการร่างภาพ กระทั่งปี 2000 เขาก็ปล่อยนิยายทางออนไลน์เรื่อง All About Lily Chou-Chou แล้วก็สร้างเหตุการณ์บนเว็บบอร์ดที่ผู้อ่านสามารถโต้ตอบพูดคุยกันและกันได้ ส่วนตัวเขาก็แอบเขาเข้าไปพูดคุยกับชาวบอร์ดแห่งนั้น แล้วพัฒนาสิ่งที่พวกเขาคุยกันกลายมาพล็อตหนัง แล้วอีกหนึ่งปีต่อมาพล็อนั้นก็ถูกพัฒนากลายมาเป็นหนัง, ในปี2003 เขาปล่อยหนังสั้นเรื่อง hana and alice บนอินเตอร์เนตซึ่งกำลังจะถูกทำเป็นหนังยาวสำหรับฉายโรงในปีถัดมา เขายังคงสนุกกับแนวทางทดลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็วๆนี้เขาได้โปรดิวซ์สารคดีหลายๆเรื่อง เช่น friends after 3.11 และหนังสั้นแอนิเมชั่นอีกหลายเรื่อง the case of hana & alice เป็นแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของเขา เขาไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำหนังเท่านั้น เขาแตกแขนงพรสวรรค์ไปสู่สนามอื่นๆอีกหลากหลาย อาทิ นวนิยาย และดนตรี the case of hana & alice นอกจากเขาจะกำกับแล้ว เขายังแต่งเรื่อง เขียนบท และประพันธ์ดนตรีประกอบเองอีกด้วย การทำหนังแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกเป็นอย่างไรบ้าง? “ผมต้องการที่จะทำหนังแอนิเมชั่นในสไตล์ของผม ก่อนหน้านี้ผมทำหนังแอนิเมะสั้นๆมาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับแอนิเมะเรื่องยาวเรื่องแรกของผม the case of hana & alice ที่ผมก็ยังอยากจะให้ฮานะกับอลิซ ยังคงแสดงโดย แอนน์ ซูซูกิ กับ ยู อาโออิ แต่เมื่อพิจารณาถึงอายุจริงๆของพวกเธอในตอนนี้แล้ว ก็ยากที่จะให้พวกเธอมาแต่งชุดเครื่องแบบนักเรียนมัธยมอีกต่อไปแล้ว แต่ผมก็ยังคงเลือกจะใช้เสียงของพวกเธอ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมแอนิเมชั่นจึงเป็นทางออกเดียวสำหรับหนังเรื่องนี้” “ผมทำหนังเรื่องนี้ด้วยการถ่ายทำให้นักแสดงมาแสดงจริงๆ เพื่อใช้เป็นต้นแบบในขั้นตอนวาดแอนิเมชั่น แต่ความแตกต่างกันระหว่างหนังคนแสดงกับแอนิเมชั่นคือ มันเป็นเรื่องง่ายดายที่จะใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในแอนิเมชั่น แต่ยากที่จะดึงความเป็นมนุษย์ออกมาให้คนดูรู้สึกว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องราวในการ์ตูนเท่านั้น คือเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องยากแล้วในการวาดภาพต่างๆออกมา แต่ยากที่จะทำให้คนดูรู้สึกได้ว่ามันไม่ใช่แค่ภาพวาด จริงๆแล้วผมเพิ่งจะมารู้ทีหลังว่าเดี๋ยวนี้น้อยคนนักที่จะเลือกถ่ายทำหนังออกมาก่อนแล้วทำเป็นแอนิเมะ แล้วปกติหนังแอนิเมชั่นจะต้องมีผู้กำกับแอนิเมชั่นอีกคนมาช่วยให้การเคลื่อนไหวดูเรียบลื่นขึ้น เช่น มาช่วยเกลี่ยสีบนใบหน้าที่เปลี่ยนไปตามแสงเงาของแต่ละช่วงเวลา แต่ด้วยความที่ผมไม่เคยรู้เรื่องอะไรพวกนี้เลย จึงกลายเป็นว่าผมต้องทำเองทุกอย่างอยู่คนเดียว โดยไม่มีแอนิเมเตอร์ ดังนั้นเมื่อผมจะวาดฉากต่อไป ผมก็จะต้องถ่ายทำฉากนั้นโดยใช้คนแสดงขึ้นมาก่อนจริงๆ มันจึงเป็นขั้นตอนการทำหนังที่มีขั้นตอนซับซ้อนมากขึ้นกว่าหนังเรื่องก่อนๆของผม จากนั้นก็ใช้วิธีโรโตสโคป คือทำให้มันเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องด้วยการวาดตามภาพที่ถูกถ่ายเอาไว้นั้น ซึ่งจะมีนักวาดการ์ตูนนับร้อยคนที่มีความสามารถ มาช่วยกันวาดจากทุกสารทิศเรียกว่าทั่วญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แต่ไม่มีใครอยากจะช่วยลงสีในส่วนของใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่แสดงความรู้สึกมากที่สุด ดังนั้นผมจึงทำสิ่งนั้นด้วยตัวผมเอง ทั้งหมดทำบนดิจิตอล แต่ผมก็ได้พบว่าการวาดสีหน้าเป็นงานที่โหดหินมาก แม้แต่แอนิเมเตอร์มืออาชีพยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเลย คือเราต้องระบายทับไปบนฟุตเทจพวกนี้ไม่ให้ภาพเดิมมันโผล่ออกมาแม้แต่พิกเซลเดียว แล้วจริงๆคนเรามีสีหน้าเป็นหมื่นๆสีแค่เฉพาะบนใบหน้าเดียว แต่ละเฟรมกว่าจะเสร็จจึงใช้เวลาอย่างน้อยสามวัน จากนั้นก็มาร้อยต่อกันด้วยโปรแกรมแอนิเมชั่น” “พูดง่ายๆว่ามันคือการทำแอนิเมชั่นให้เคลื่อนไหวสมจริงเหมือนอย่างดูหนัง ผมคิดว่าคุณภาพทางแอนิเมชั่นที่ผมทำไม่ได้แพ้ผลงานแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆเลย ในหนังดิสนีย์บางฉากที่มีการเคลื่อนไหวมากๆ พวกเขาก็ใช่วิธีโรโตสคโปแบบนี้แหละ ด้วยการวาดบนฟุตเทจที่ถูกถ่ายทำมาจริงๆ แต่ในฝั่งของแอนิเมะญี่ปุ่นจะมีความจำกัดในด้านการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อก่อนแอนิเมะญี่ปุ่นจะใช้จำนวนเฟรมน้อยกว่า แต่เดี๋ยวนี้ก็มีผลงานแอนิเมะดีๆหลายเรื่องที่มีการเคลื่อนไหวละเอียดซับซ้อนขึ้นมาก แล้วรสนิยมของผมก็ค่อนข้างจะห่างไกลจากแอนิเมะญี่ปุ่นทั่วไป เพราะผมเติบโตมาจากการดูการ์ตูน Gundam กับการ์ตูนของสตูดิโอจิบลิ ที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากในแง่เนื้อหาและการเคลื่อนไหว” แต่ผมไม่ต้องการที่จะทำหนังตามขนบ หรือทำให้คนรู้สึกเหมือนกำลังดูแอนิเมชั่นญี่ปุ่นแบบเดิมๆ ตัวอย่างเช่น เส้นผมในแอนิเมะมักจจะเคลื่อนไหวเท่าๆกันอยู่ในทุกอิริยาบท แต่ผมไม่ต้องการอะไรแบบนั้น เพราะว่าผมทำงานบนบนฟุตเตจที่ถูกถ่ายทำออกมาจริงๆ แล้วแต่ละการเคลื่อนไหวก็ทำให้ทรงผมพริ้วไหวแตกต่างกันออกไป” “เรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหายุ่งยากมากคือสี ส่วนที่ดูสว่างสดใสบนใบหน้าของตัวละครจริงๆแล้วคือการฉายแสงลงไปบนใบหน้าในขั้นตอนการถ่ายทำจริง การจัดแสงเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่แล้วแต่กับการถ่ายทำหนังที่ใช้คนแสดงจริงๆ แต่การจัดแสงบนใบหน้าในแอนิเมะก็ยุ่งยากมากๆไม่แพ้กัน เพราะระดับความเข้มของแสงของแอนิเมะทั่วๆไปมักจะดูเท่ากัน แต่แสงในแอนิเมะของผมจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา ข้อดีอีกอย่างของการถ่ายทำด้วยการใช้คนแสดงออกมาก่อน ก็คือรายละเอียดของฉากหลัง ทุกวันนี้มีแอนิเมะน้อยมากที่จะใส่ใจกับการลงรายละเอียดของฉากหลัง แล้วอะไรแบบนั้นมันก็ดูน่าเบื่อเอามากๆ ในหนังที่มีโลเคชั่นเดียว การจะอธิบายแต่ละฉากโดยไม่ขัดอารมณ์คนดูหรือสร้างความสับสนก็คือคุณต้องกำหนดช่วงเวลาของแต่ละฉากด้วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทิศทางของแสงและการจัดแสง และนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะลองทำในหนังเรื่องนี้ คือคนดูจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าแต่ละฉากนั้นเป็นช่วงเวลาใด” “ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นหนังคนแสดง หลังจากที่ผมตัดต่อเสร็จแล้ว มันจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากทันทีถ้าผมจะต้องกลับไปรีชูตถ่ายทำใหม่ แก้บางฉากเพิ่มเติม แล้วไหนยังจะต้องมีทีมงานอีกชุดใหม่ในการถ่ายทำแต่ละฉาก แต่แอนิเมะไม่เหมือนกัน คุณสามารถจะตัดต่อและทำถ่ายทำได้ในเวลาเดียวกันเลย ดังนั้นจะว่าไปแล้วแอนิเมะเรื่องนี้เหมือนดึงเอาส่วนดีที่สุดของทั้งหนังแบบที่มีคนแสดง และหนังแอนิเมชั่นมาผสมเข้าด้วยกัน” “ในเรื่องนี้มีมืออาชีพหลายๆคนมาช่วยกันทำหน้าที่ในส่วนต่างๆ เช่น การออกแบบตัวละคร เราได้ ซาโตโกะ โมริคาว่า ผู้ออกแบบคาแร็คเตอร์ให้กับหนังเรื่อง The Cat Returns and Princess Arite, นักออกแบบสี คือหลังจากเราวาดลงไปบน 3DCGแล้ว นักออกแบบสีจะมาช่วยวางว่าแต่ละฉากควรใช้โทนสีแบบไหน ซึ่งเราได้ ยูมิโกะ คัตตายาม่า จาก JIN-ROH และ East of Eden, ในส่วนของการถ่ายทำ ผมจะเป็นคนเขียนสตอรีบอร์ดเองทั้งหมด แต่ในส่วนของการถ่ายทำผมให้ ชิกิ คันเบะ ผู้กำกับเรื่อง I Have to Buy New Shoes มากำกับในส่วนของฟุตเตจต้นฉบับที่ใช้คนแสดงจริงๆ, ส่วนของกำกับศิลป์ ผมได้ ฮิโรชิ คากิงูจิ จาก The Garden of Words, รายละเอียดอื่นๆด้าน 3DCG เช่นการลงเฉดสีในแต่ละฉาก ทำโดย ยูเฮ ซากุรางิ แอนิเมเตอร์จาก 009 RE: CYBORG” 1.บทภาพยนตร์ บทร่างแรกของ the case of hana & alice เขียนเสร็จตั้งแต่ปี2004 ปีเดียวกับที่ hana and alice ออกฉาย เรื่องราวยังคงคล้ายๆกันคือเป็นเหตุการณ์ก่อนที่ฮานะกับอลิซจะมาพบกันจนทั้งคู่ได้รู้จักกัน แต่ในบทร่างแรกทั้งคู่จะเป็นเด็กประถม ซึ่งฉบับแอนิเมชั่นได้เปลี่ยนเป็นมัธยมต้น แทนที่จะเป็นมัธยมปลายแบบในฉบับหนัง 2.สตอรี่บอร์ด ผู้กำกับอิวาอิวาดสตอรี่บอร์ดสำหรับหนังทั้งเรื่องก่อนการถ่ายทำ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นที่ผู้กำกับจะทำสิ่งนี้เอง สตอรี่บอร์ดของเขาแตกต่างจากแอนิเมชั่นทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น จะมีบทพูดกำกับอยู่ในบับเบิลแบบเดียวกับการ์ตูน รวมถึงเสียงซาวด์เอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆอยู่ภายในเฟรมเลย ซึ่งเป็นสตอรี่บอร์ดสำหรับใช้เป็นไกด์เพื่อการถ่ายภาพต้นฉบับคนแสดง (ก่อนจะนำภาพเหล่านั้นมาทำเป็นแอนิเมชั่นอีกที) 3.ออกแบบคาแร็คเตอร์ ตัวการ์ตูนดัดแปลงจากรูปโฉมของ ยู อาโออิ และแอนน์ ซูซูกิ รวมถึงนักแสดงคนอื่นๆด้วย รวมถึงการดึงเอาบรรยากาศต่างๆที่ถูกวาดเอาไว้ในสตอรี่บอร์ดของอิวาอิ ทั้งหมดออกแบบโดย ซาโตโกะ โมริคาว่า ผู้ออกแบบคาแร็คเตอร์ให้กับ The Cat Returns กับ Princess Arite ถ้าเปรียบเทียบกับแอนิเมชั่นอื่นๆจะพบว่าในเรื่องนี้ใช้ลายเส้นเรียบง่ายกว่ามาก มันคือต้นแบบสำหรับทำเป็นภาพ 3DCG 4.การจัดเรียงโครงสร้างของกลุ่มสี (Color scheme) เมื่อตัวการ์ตูนถูกร่างด้วย 3DCG เรียบร้อยแล้ว นักออกแบบสี ยูิโกะ คาตะยามะ จาก JIN-ROH และ East of Eden จะเป็นผู้จัดโครงสร้างกลุ่มสีและโทนภาพในแต่ละฉาก สีแต่ละสีจะมีสามโทน "ธรรมดา" สำหรับแสงทั่วไป "เงา" สำหรับสีในที่ร่ม และ "ไฮไลท์" สำหรับที่มีแสงเข้ม มีหลายเฟรมในหนังเรื่องนี้ที่ต่างจากเรื่องอื่นๆคือมักจะใช้แสงที่เจิดจ้ามากๆส่องมาจากฉากลัง หรืออีกหลายๆฉากจะเป็นในทีร่ม มีเพียงไม่กี่ฉากเทานั้นที่เป็นสีปกติ หน้าที่นี้จึงสำคัญมาก เพื่อไม่ให้คนดูรู้สึกขัดตาในฉากที่แสงเปลี่ยน 5.ฟุตเตจไกด์ที่ถ่ายด้วยนักแสดงจริง การถ่ายทำฟุตเตจนักแสดงจริงเพื่อมาเป็นต้นฉบับสำหรับทำออกมาเป็นแอนิเมชั่น จะถูกถ่ายทำตามสตอรี่บอร์ดที่อิวาอิเขียนเอาไว้ ซึ่งต้องวางแต่ละชอตเอาไว้เป๊ะมากเพราะแต่ละชอตจะมีผลอย่างยิ่งเมื่อนำไปแปลงเป็นแอนิเมชั่น ตัวฟุตเตจถ่ายทำโดย จิกิ คันเบะ จาก I Have to Buy New Shoes 6.กำกับศิลป์ ผู้กำกับศิลป์คือ ฮิโรชิ คากิงูจิ ซึ่งเคยมีผลงานที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ใน The Garden of Words เขาเกลี่ยภาพเบลอและเลนส์ที่มีแสงจ้าในพื้นหลัง ทุกวันนี้การใช้เทคนิคภาพเบลอกับเลนส์แฟรร์เป็นสิ่งที่จะมาทำเพิ่มทีหลังในขั้นตอนการตัดต่อ แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ถูกวาดขึ้นตั้งแต่ต้นมีอยู่ในฉากเลย เป็นการช่วยให้ภาพมีรายละเอียดเพิ่มและดึงดูดใจ 7.3DCG อลิซ, ฮานะ และตัวละครหลักอื่นๆถูกวาดขึ้นด้วยเทคนิค 3DCG ที่เรียกว่า cel shading หรือ toon shading (แต่มีบางซีนใช้วิธีโรโตสโคป) ตัวละครแต่ละตัวจะถูกวาดขึ้นด้วยการทำให้มีมิติลึกขึ้นด้วยโปรแกรม 3D จากนั้นจึงใช้เทคนิค toon shading เพื่อทำให้ตัวละครกลมกลืนกับฉากหลังเหมือนวาดขึ้นด้วยมือ ส่วนของ 3DCG จะกำกับโดย ยูเฮ ซากุรางิ 3Dแอนิเมเตอร์ จาก 009 RE: CYBORG toon shading เป็นเทคนิกสำหรับการทำ 3DCG เพื่อให้ดูลื่นไหลราวกับการวาดด้วยมือ หลังจากที่มีการร่างเส้นรอบนอกไว้แล้ว เทคนิคนี้จะเข้ามาช่วยในการทำให้เกิดแสงเงาบนสีหน้าและร่างกายของตัวละคร ซึ่งจะช่วยไม่ให้แสงเงาดูหลอกตาและสมจริงมากกว่าแบบ 2D อย่างแต่ก่อน การเคลื่อนไหวของตัวละครจะถูกทำด้วยมือทีละเฟรมโดยนักแอนิเมตอร์ ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวที่อิงตามฟุตเตจที่ถ่ายทำมาด้วยคนแสดง จึงเป็นการเคลื่อนไหวทีสมจริงตามแบบการเคลื่อนไหวของคนแสดงจริงๆดูมีชีวิตชีวา ทั้งท่าทางและสีหน้า 8.โรโตสโคป เป็นเทคนิกเก่าที่มีการถ่ายทำคนแสดงบนฉากหลังว่างๆแล้วฉายภาพลงบนกระดาษเพื่อจะวาดภาพการ์ตูนทับลงไป แต่ปัจจุบัน โรโตสโคปคือการไดคัทภาพเคลื่อนไหวเอาแต่เฉพาะส่วนของตัวละครเพื่อจะนำไปซ้อนกับฉากหลัง ในส่วนของการทำโรโตสโคป คือ ยูโกะ ฮิซาโนะ จาก Airy Me หนังสั้นที่เธอกำกับตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ในบางชอทของการถ่ายทำ ผู้กำกับอิวาอิจะให้นักแสดงติดสติกเกอร์ตาแบบการ์ตูนลงบนตาของนักแสดง เพื่อช่วยให้การเรนเดอร์ในส่วนของดวงตาดูเป็นแอนิเมะมากขึ้นในขั้นตอนการทำโรโตสโคป 9.การคอมโพสิตภาพ หรือทำให้เฟรมสมบูรณ์ การรวมตัวละครกับฉากหลังเข้าด้วยกันหรือการคอมโพสิตภาพทำบนคอมพิวเตอร์แล้วถ่ายภาพออกมาอีกที อาจมีการใช้ฟิลเตอร์ช่วยเพื่อให้ได้แสงเงาหรือสีตามทีต้องการและกลมกลืนกัน ซึ่งส่วนนี้ผู้กำกับอิวาอิจะเป็นคนเช็คแต่ละเฟรมด้วยตนเองในทุกช็อต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ