ถอดความสำเร็จการเลี้ยงลูกของผู้ปกครองเยาวชน เหรียญทองโอลิมปิควิชาการระดับนานาชาติ “เลี้ยงลูกรัก เป็นนักวิทย์” แนะผู้ปกครองส่งเสริมการเรียนของบุตรหลานด้วยความ “ใกล้ชิด”

ข่าวทั่วไป Thursday August 20, 2015 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ “ผมว่า genius มีอยู่สัก 1% ของประชากร แต่ผมเชื่อเรื่องความพยายาม ใครพยายามมากกว่าก็จะเดินไปได้ไกลกว่า อย่าไปผลักดันเขาครับ เราต้องสังเกตุว่าเขาชอบอะไร แล้วก็สนับสนุนลูกไปตามนั้น” รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ “ที่เขาพูดว่าเป็น genius คุณแม่ไม่เคยรู้สึกว่าลูกเป็น genius เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เราจะไม่เคยเปรียบเทียบลูกเรากับใคร แต่เราใช้ความรักความใกล้ชิดเป็นเกราะป้องกันและเป็นอาวุธ เมื่อเราใกล้ชิดลูกเราจะรู้ว่าลูกถนัดอะไร แล้วลูกรักที่จะทำอะไรตรงไหน อย่างไร” อาจารย์ฐิติภา เทอดโยธิน เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คุณพ่อของนายณัฐนันท์ ตันติวัสดาการ หรือ “แนท” เจ้าของเหรียญทอง การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ประเทศเอสโทเนีย ประจำปี พ.ศ. 2555 และและนาย นันท์ธนิก ตันติวัสดาการ หรือ”นิก” ผู้รับทุนระยะยาวสนับสนุนการวิจัยและการศึกษาถึงปริญญาเอกจากโครงการ JSTP และอาจารย์ฐิติภา เทอดโยธิน คุณแม่ของนางสาวอติพร เทอดโยธิน หรือ “อร” เจ้าของเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ประเทศอินเดีย ประจำปีพ.ศ. 2551 ได้ให้เกียรติร่วมพูดคุยเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้แก่ลูกรัก ณ งานเสวนา “เลี้ยงลูกรัก เป็นนักวิทย์” ที่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของค่าย “Enjoy Science for Press Family Camp” ที่จัดขึ้นโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันคีนันแห่งเอเซีย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจแก่สื่อมวลชน ในการสนับสนุนการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม แก่บุตรหลานและสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อแก่บุคคลทั่วไป การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของลูก ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพื้นฐานสำคัญคือลูกจะต้องมีความสุขกับโรงเรียน แต่ไม่ได้จำเป็นที่ต้องเลือกโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนสูง หรือมีชื่อเสียงที่สุด โดยอาจารย์ฐิติภา เทอดโยธิน คุณแม่ของน้องอร (พญ.อติพร เทอดโยธิน) เปิดเผยว่า “ก่อนที่คุณแม่จะให้ลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล คุณแม่เคยเห็นลูกของพี่ๆ และ เพื่อนๆ ว่าการไปโรงเรียนอนุบาลของเด็กในระยะแรก เด็กจะไม่มีความสุขเลย จากพฤติกรรม เด็กเกาะประตูรถ ร้องไห้ไม่ยอมลงจากรถ ยุคนั้นมีโรงเรียนอนุบาลบางแห่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมาก ผู้ปกครองต้องไปเกาะรั้วรอใบสมัครตั้งแต่ตีสี่ แล้วเด็กๆหลายคนก็ไม่ได้แฮปปี้ที่จะเรียนด้วย ทำไมจะต้องให้เขาไปเรียนอะไรหนักขนาดนั้น และโรงเรียนบางแห่งก็ไม่อบอุ่น เด็กที่ไปเรียนต้องร้องให้ทุกวันเป็นเดือน จนต้องขอผ้าเช็ดหน้าผู้ปกครองเพิ่ม เพราะผ้าที่มีอยู่ไม่พอซับน้ำตา คุณแม่จึงตัดสินใจเลือกโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน ที่คุณแม่สามารถปรึกษากับครูใหญ่ได้ ปรึกษากับครูประจำชั้นได้ ว่า “ลูก” สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้หรือไม่เพียงไร” “การเข้าโรงเรียนครั้งแรกในชีวิต หรือการเปลี่ยนโรงเรียน คือการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ในชีวิตของลูก เราต้องช่วยลูกปรับตัว ถ้าเราใกล้ชิดลูก คุยกันทุกวัน ลูกจะเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เราทราบได้ว่า ลูกปรับตัวได้แล้ว และอยู่กับสังคมใหม่อย่างมีความสุข มีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน และการเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของลูก เมื่อมีทัศนคติที่ดี บวกกับความรับผิดชอบ ลูกก็จะทำได้ดี อย่างมีความสุขด้วย” ในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผู้ปกครองทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่า สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันทุกวัน โดยอาจารย์ฐิติภา แบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า “ตอนอนุบาล น้องอรไปเห็นเด็กคนอื่น ไป-กลับ ด้วยรถโรงเรียน ก็บอกคุณแม่ว่าอยากไป-กลับด้วยรถโรงเรียนบ้าง เราก็ให้ลองค่ะ พอผ่านไปสักสองสัปดาห์ ลูกมาบอกเองว่าไม่อยากใช้รถโรงเรียนแล้ว ทั้งหมดนั่นก็คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ น้องได้สังเกต และสมมติฐานของน้องเองว่า นั่งรถโรงเรียนน่าจะดีกว่า จากนั้นน้องก็ทดลองดู เราให้ลูกทดลองได้ในสิ่งที่เราคิดว่าไม่อันตราย พอทดลองแล้วน้องก็ประมวลผลจากประสบการณ์ ประมวลผลแล้วว่าไม่ดี เราก็ไม่เอา กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม หรืออย่างช่วงปิดเทอม คุณแม่จะไม่ให้เรียนพิเศษ แต่จะพาทัวร์เลยค่ะ เช่นพาเดินตั้งแต่เพาะช่างไปจนถึงตลาดเก่า พาลูกเรียนรู้สิ่งแวดล้อม เรียนรู้สังคม นั่นก็เป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง พอโตขึ้นอีกนิด เขาได้ไปเข้าค่ายที่พาไปเยาวราช เขาก็กลับมาบอกว่า เยาวราชของแม่กับของครูในค่ายไม่เหมือนกันเลย ของครูจะมีพิพิธภัณฑ์ และวัด แต่ของคุณแม่จะมีร้านขายส่งร้านขายปลีก นั่นคือให้ลูกรู้จักสังคมมากขึ้น เขาหัดตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์เมื่อพบสิ่งต่างๆที่แปลกใหม่” รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ ซึ่งเป็นคุณพ่อของนายนันท์ธนิก ตันติวัสดาการ หรือ “นิก” กล่าวว่า “ที่บ้านใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยกับลูก เพราะเห็นว่าภาษาเป็นกุญแจที่สามารถไขไปสู่ความรู้ในโลกกว้าง พ่อแม่สามารถส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของลูกได้ด้วยวิธีการที่ทำได้ไม่ยาก อาทิ การกระตุ้นให้ลูกรู้จักคิดผ่านการตั้งสมมติฐานและหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องง่ายๆ ด้วยตนเอง แทนที่จะคอยตอบข้อสงสัยของเขาอยู่ตลอด เช่นตอนเด็กๆ จะซื้ออุปกรณ์และสารเคมีพื้นฐานมากให้ลูกทดสอบ นอกจากนั้นการพาลูกไปเที่ยวหรือพาไปพบเจอในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ ก็สามารถกระตุ้นความคิดและการเรียนรู้ของเด็กได้เช่นกัน ซึ่งตอนลูกทั้งสองเป็นเด็กๆ นั้นก็จะพาไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นประจำ นอกจากนั้นเราก็มักจะพาลูกไปร่วมศึกษานอกสถานที่กับพ่อแม่บ้านเรียน (Home school) ตามแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งเด็กๆ ทุกคนจะต้องมีหน้าที่ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปเที่ยวมาล่วงหน้า เพื่อบรรยายให้เพื่อฟัง และจะต้องมีสมุดบันทึกไปด้วย ลูกจะได้ฝึกเขียนบรรยายสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ในครั้งนั้น เพื่อเป็นการฝึกเรียบเรียงความคิดและอธิบายสิ่งที่ตนเพิ่งได้เรียนรู้ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบดังกล่าวนี้ เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญในการเรียนทุกวิชา ไม่เพียงแต่วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น ทั้งยังสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพในอนาคต” นอกจากนั้น ผู้ปกครองทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่าการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูกอย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่พ่อแม่จะต้องให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง โดยอาจารย์ฐิติภา กล่าวว่า “พ่อแม่จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมการเรียน พูดคุยและรับฟังความต้องการของลูกว่ามีความสนใจในวิชาใดและสนับสนุนให้ลูกเติมเต็มศักยภาพในด้านนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรให้ลูกทุ่มเทความสนใจไปที่วิชาใดวิชาเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกยังอยู่ในชั้นประถมหรือมัธยมต้น เพราะเด็กในวัยนี้อาจจะยังไม่รู้จักตัวเองดีพอว่าชอบเรียนวิชาอะไรกันแน่ จึงควรให้ลูกตั้งใจเรียนทุกวิชา เพื่อในอนาคตเมื่อสามารถตัดสินใจได้อย่างชัดเจนว่ามีความชอบและถนัดในวิชาใดเป็นพิเศษค่อยส่งเสริมให้ถึงเป้าหมาย โดยวิชาที่ลูกมีความถนัดก็คือวิชาที่ลูกไม่เบื่อเวลาทำการบ้าน บางครั้งก็อยากอ่านหนังสือให้รู้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการฉายแววของการเป็นคนช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น เมื่อเรารู้เราก็จะสนับสนุนและส่งเสริม เช่น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ลูกมักเล่นอยู่หน้าบ้าน และนั่งสังเกตน้ำในบ่อน้ำหน้าบ้านอยู่หลายวัน เขาก็เกิดความอยากรู้ว่า ในน้ำยังมีอะไรอีกไหมที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คุณแม่ก็ยอมลงทุนซื้อกล้องจุลทรรศน์ให้เขา เพื่อให้เขาได้หาคำตอบ สิ่งที่สำคัญคือต้องปล่อยให้ลูกได้ลองคิดด้วยตนเอง ได้ลองทำในสิ่งที่เขาอยากรู้อยากทำ เมื่อเขาสงสัย ปล่อยให้เขาตั้งสมมติฐาน แก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยมีเราคอยสังเกตการณ์และชี้แนะ อยู่ในขอบเขตสายตาของเราว่าปลอดภัย ส่วนการส่งเสริมต่อยอด มีได้หลายทาง ทั้งการหาความรู้ให้ หาหนังสือให้ หาอุปกรณ์ หรือหาครูให้ ก็แล้วแต่สไตล์ของผู้ปกครองแต่ละท่านและสไตล์ของเด็กว่าชอบแบบไหน” ด้านรศ.ดร.ชยันต์ ได้เล่าถึงประสบการณ์การนำสิ่งที่อยู่ต่างๆ รอบตัวเข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาตร์ให้กับลูกว่า “อย่างตัวต่อเลโก้เนี่ย ช่วยให้ลูกพัฒนาไปได้ไกลมากนะครับ สามารถทำได้ตั้งแต่โครงสร้างธรรมดาไปจนถึงสร้างหุ่นยนต์ที่บังคับได้ด้วยโปรแกรมเลย ของเล่นที่บ้านผมไม่มีสำเร็จรูป ลูกต้องพยายาม ต้องสร้าง จะไม่ใช่แบบหุ่นที่มาถึงก็ต่อเป็นตัวแล้วเหมือนแบบ เมื่อนิกไปทัศนศึกษามาและเห็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือบางอย่างที่เขาประทับใจมา เขาก็จะเอาเลโก้ที่มีอยู่เทลงมา แล้วนิกก็จะพยายามใช้ชิ้นส่วนเท่าที่มี มาสร้างเลียนแบบเครื่องมือนั้น ซึ่งเครื่องมือของลูกก็จะกระดุกกระดิกได้ตามศักยภาพของชิ้นส่วนที่เขามี นี่คือการสร้างสรรค์ เขาจะต้องปรับสิ่งที่มีอยู่ให้สำเร็จให้ได้ การมีสื่อต่างๆ จากโทรทัศน์ และวีดิโอ ก็ทำให้การสอนลูกง่ายขึ้น เพราะมีรายการและสื่อให้เลือกได้มากมาย และสามารถเลือกภาษาได้ แต่เราควรที่จะดูรายการเหล่านั้นกับลูกด้วย ไม่ควรใช้โทรทัศน์เป็นเครื่องเลี้ยงลูก ครอบครัวของเราจะมี Movie Night ในคืนวันสุดสัปดาห์ ที่ทุกคนมาดูวีดิโอร่วมกัน ซึ่งทำให้สามารถหยุดตรงจุดที่เขาอาจไม่เข้าใจได้ และทำให้สามารถถามเขาว่าได้ว่าตามเรื่องทันไหม คิดว่าหนังเป็นยังไง สนุกตรงไหน ตอนนี้สอนอะไรให้เรา ทำให้เขาได้ทั้งความสนุก ได้ ไอเดีย ได้คิดวิเคราะห์” สำหรับความท้าทายในการเลี้ยงลูก รศ.ดร.ชยันต์ กล่าวว่า “การจัดการกับความผิดหวังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราบอกลูกๆ ว่าความจริงการชนะไม่ค่อยสำคัญหรอก แต่การจัดการความความผิดหวังจากการแพ้ต่างหากที่สำคัญกว่า อย่างลูกคนโตเคยไปเข้าค่ายสอบโอลิมปิคดาราศาสตร์ และก็ได้คะแนนต้นๆ มาตลอด เขาก็คิดว่าได้เป็นตัวแทนปีนี้แน่นอน แต่กลับพลาด ซึ่งเขาก็เสียใจมาก จนแม้หนังสือก็ยังไม่อยากเห็น เราก็คุยกับเขาว่าดีแล้วที่ลูกได้เจอกับประสบการณ์แบบนี้ จะได้รู้ว่าการล้มนั้นเป็นอย่างไร ทุกคนล้มได้ แต่ขึ้นกับว่าจะลุกขึ้นได้อย่างไรและช้าเร็วแค่ไหน ซึ่งเมื่อผ่านไปสองอาทิตย์ เขาก็ทำใจได้และพร้อมจะขอสู้ใหม่ แล้วเขาก็ได้เหรียญทองในปีถัดมา” รศ.ดร.ชยันต์ กล่าวเสริมว่า “พ่อแม่หลายคนอาจทำงานนอกบ้านและไม่มีเวลาสังเกตลูก แต่อันที่จริงแล้ว ‘คุณภาพ’ ของเวลาที่ใช้กับลูกสำคัญกว่าจำนวนเวลาที่มีให้กับลูก โดยพ่อแม่อาจจะใช้เวลาในช่วงทานข้าว หรือช่วงที่อยู่บนรถกับลูกเพื่อพูดคุย สอน และสังเกตพฤติกรรมของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น พ่อแม่ไม่ควรส่งเสริมลูกในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว อย่างที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ได้กล่าวไว้ว่า บัณฑิตที่สมบูรณ์จะต้องมีทั้ง “ความรู้ ความงาม และความดี” นอกจากเรียนแล้ว ควรส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬาหรือดนตรี ให้รู้จักสุนทรียภาพ รู้จักตอบแทนคุณและทำประโยชน์แก่สังคม ตลอดจนส่งเสริมให้ลูกมีความรู้รอบตัว เพื่อไม่ให้เป็นคน ‘ฉลาดลึก แต่โง่กว้าง’ กล่าวคือรู้แต่ในเรื่องวิชาการที่ตนสนใจ แต่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ และไม่รู้เรื่องอื่นนอกเหนือจากนั้นเลย” อาจารย์ฐิติภา กล่าวสรุปว่า เคล็ดลับของเธอมีเพียงอย่างเดียวคือ ใกล้ชิด และเข้าใจลูก พยายามส่งเสริมเติมเต็มศักยภาพของลูก เพื่อให้ถึงเป้าหมาย โดยให้ลูกทราบว่าระหว่างเส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น เราอยู่เคียงข้างลูกเสมอ ลูกไม่ได้ก้าวเดิน หรือต่อสู้เพียงลำพังคนเดียว นายธนบดี รัศมิทัต ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจ เชฟรอนประเทศไทย กล่าวว่า “การเลี้ยงลูกไม่มีรูปแบบที่ตายตัว นอกจากการดูแลอย่างใกล้ชิด ความเข้าใจ และการสนับสนุนให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและสนใจจริงๆ แล้ว อีกสิ่งที่ผู้ปกครองทั้งสองท่านนำมาใช้คือการส่งเสริมศักยภาพของลูกผ่านการเรียนรู้แบบสืบเสาะ หรือ inquiry-based learning กล่าวคือให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและนำความรู้ที่มีมาใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้วิชาต่างๆ รวมถึงในสาขาสะเต็ม และในวิชาอื่นๆ ตลอดจนในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในอนาคต เชฟรอนหวังว่าการเสวนาในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองได้รับมุมมองและแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับใช้กับบุตรหลานของตนได้อย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและอยู่รอบตัวเราทุกคน จนเกิดแรงบันดาลใจและความสนใจต่อการศึกษาในด้านสะเต็มเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต” กิจกรรมค่าย “Enjoy Science for Press Family Camp” เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 900 ล้านบาทที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือสะเต็ม ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคมทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว เกิดความสนใจในการศึกษาในสาขา สะเต็ม เพิ่มมากขึ้น
แท็ก โอลิมปิค  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ