ระบบตรวจเยี่ยมเกษตรกร ฟื้นฟูคนเกษตร ผลจากภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Thursday August 20, 2015 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ ภัยแล้งสร้างโอกาสให้คนเกษตร ใกล้ชิดเกษตรกรกว่าเคย ใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา 273 ชุดปฏิบัติการ เผชิญเหตุพร้อมแก้ไขทุกปัญหา หวังเป็นรูปแบบการทำงานเมื่อเกิดวิกฤต นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรณีเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาน้ำแล้งในช่วงฤดูฝน ทำให้ขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตการเกษตร ทั้งยังขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วย จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯจึงได้จัดทำระบบการตรวจเยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้น โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ร่วมบูรณาการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเผชิญภาวะวิกฤติภัยแล้ง จำนวน 273 ชุด โดยมีเกษตรอำเภอเป็นหัวหน้าชุด เพื่อติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรและประชาชน ต่อสถานการณ์น้ำ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ พร้อมบริหารจัดการข้อมูลในระดับพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีเร่งด่วนโดยให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจด้วย จากการที่ชุดปฏิบัติการฯทั้ง 273 ทีม ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปัญหาหลายด้าน เบื้องต้นชุดปฏิบัติการฯได้ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ได้แก่ การจัดหาน้ำให้นาข้าวในภาวะวิกฤติช่วงข้าวตั้งท้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดสรรรอบเวลาสูบน้ำ/จัดหาเครื่องสูบน้ำและประสานแหล่งน้ำสำรอง ทั้งยังจัดหาอาหารสัตว์/เวชภัณฑ์และทำวัคซีนให้สัตว์เลี้ยง จัดหาเมล็ดพันธุ์พืชไร่/ท่อนพันธุ์แก่เกษตรกร นอกจากนั้น ยังช่วยจัดการดินและตรวจสอบคุณสมบัติของดินและน้ำ ให้ความรู้ด้านการจัดการโรคแมลงศัตรูพืช รวมถึงเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และยังให้ความรู้ในการทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกพืชผัก และพืชสมุนไพร ตลอดจนให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงปลา และจัดการปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น “ชุดปฏิบัติการฯยังได้ประสานให้มีการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง อาทิ จัดหาแหล่งน้ำประจำฟาร์ม/กลุ่ม/ชุมชนตามความต้องการของเกษตรกร เช่น เจาะน้ำบาดาล ขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ และขุดบ่อน้ำตื้น ทั้งยังส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ประสาน ธ.ก.ส.เข้าร่วมปฏิบัติงานกับชุดปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร และประสานเกษตรกรที่จะไถข้าวโพดทิ้งนำไปเป็นอาหารหยาบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” นายสมชายกล่าว จากการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการฯ ยังพบว่า เกษตรกรมีความตื่นตัวในการจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในไร่นาของตนเอง และมีการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในชุมชน ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของชุดปฏิบัติการ ซึ่งสามารถชี้แจงตอบปัญหาด้านการเกษตรได้ครบทุกสาขา และเกิดการประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในการเผชิญปัญหาช่วงภาวะวิกฤติ ตลอดจนสร้างความร่วมมือร่วมใจให้เกิดขึ้นในชุมชนและยอมรับการจัดจัดสรรน้ำที่มีจำกัดด้วย “กระทรวงเกษตรฯได้มีแผนเร่งให้ความรู้ในการดูแลฟื้นฟูข้าว พืชชนิดต่างๆ และสัตว์เลี้ยงให้ได้ผลผลิตดีขึ้นหลังจากมีปริมาณน้ำเพียงพอและเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนั้น ยังจะเฝ้าระวังการระบาดของโรค/แมลงศัตรูพืช และโรคระบาดสัตว์เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโดยควบคุมไม่ไห้มีการระบาดรุนแรง พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรให้จัดระบบปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ และเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งกรณีเกษตรกรทำการเพาะปลูกไม่ได้ โดยจะเร่งประสานแหล่งทุนหรือสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร มีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในฤดูการผลิตถัดไปด้วย รูปแบบการทำงานของชุดปฏิบัติการฯดังกล่าว จะเป็นแบบอย่างในการแก้ไขวิกฤตในลักษณะดังกล่าวต่อไป” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ