รพ.วัฒโนสถ เผย 5 ปีแห่งความสำเร็จของศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ สู่ก้าวใหม่ของเทคโนโลยีการรักษาโรคระบบโลหิต เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 25, 2015 10:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น หากเอ่ยถึง โรคเลือด หลายท่านอาจรู้สึกคุ้นหู และคิดว่าโรคเลือดก็คือ ภาวะโลหิตจาง หรือไม่ก็ โรคธาลัสซิเมีย แต่จริงๆ แล้วโรคเลือดมีความหมายกว้าง และครอบคลุมโรคต่างๆ มากกว่านั้น โดยจะรวมไปถึง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ และโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ซึ่งในสมัยก่อนใครเป็นโรคดังกล่าวถือว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ไม่มีทางรักษา แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ในปัจจุบันทำให้สามารถรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมทั้งมีแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ จัดแถลงข่าว “ครบรอบ 5 ปีแห่งความสำเร็จ และก้าวใหม่สู่การรักษาโรคระบบโลหิต โดยศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ (Bangkok Hematology Center)” เผยประสบการณ์รักษาผู้ป่วยโรคระบบโลหิตด้วยวิธีปลูกถ่ายไขกระดูกประสบความสำเร็จถึง 80 รายในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นการคืนชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยอีกครั้ง พร้อมเดินหน้าตั้งสถาบันโลหิตวิทยา วิจัยยาและคิดค้นวิธีรักษาใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการรักษาให้กับผู้ป่วย ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โรคระบบโลหิตเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ โรคมะเร็งระบบโลหิตมีความรุนแรง และรักษาได้ยาก เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไป เพราะระบบเลือดเป็นระบบที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคระบบโลหิตหรือ โรคเลือด หมายถึง โรคหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด ไขกระดูก ระบบ reticuloendothelial ต่อมน้ำเหลืองและระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งปัจจัยของการแข็งตัวของเลือด โรคระบบโลหิตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมะเร็งระบบเลือด และ กลุ่มโรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง โรคมะเร็งระบบเลือด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma หรือ MM) ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน จะมีจ้ำเลือด จุดเลือดออก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดประจำเดือนออกมาก มีไข้และโลหิตจาง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังมีม้ามโต หรือต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ ก้อนโตเร็วแต่ไม่เจ็บ อาจมีไข้และน้ำหนักลดร่วมด้วย ผู้ป่วยโรค multiple myeloma จะมีอาการปวดกระดูก ซีด และภาวะไตวาย โรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งแบ่งได้ดังนี้ 1. โรคที่มีภาวะโลหิตจาง เช่น โรคธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม โลหิตจางจากการขาดเหล็ก โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ 2. โรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ เกิดจากการที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้น้อยลง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง มีจ้ำเลือด และเลือดออก เป็นไข้และมีโรคติดเชื้อ 3. โรคที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคที่มีการทำลายของเกล็ดเลือดจากภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ITP โรคไข้เลือดออก โรคตับ หรือภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด โรคเลือดออกทางพันธุกรรม ฮีโมฟีเลีย 4. โรคที่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำที่พบบ่อยคือหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทำให้มีขาบวมข้างเดียว ก้อนเลือดอาจหลุดไปอุดที่หลอดเลือดในปอดได้ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ เผยว่า ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ได้มีวิวัฒนาการในการพัฒนาเทคนิคการรักษาโรคเลือดในรูปแบบใหม่ โดยมุ่งไปที่สาเหตุของการเกิดโรค เพื่อการรักษาได้อย่างตรงเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งยาตัวแรกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าได้สำเร็จ คือ ยา Imatinib ซึ่งใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังได้ผลดี การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้เกิดจากการที่ทราบพยาธิกำเนิดของโรค CML หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังว่าเกิดจาก เอนไซม์ TK ที่สร้างโปรตีนที่ผิดปกติไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวทำให้เพิ่มจำนวนขึ้น จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาตัวนี้สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ นอกจากนี้มีการพัฒนายาใหม่ๆ อีกหลายชนิดในการรักษาโรคเลือดชนิดต่างๆ การรักษาโรคเลือดของศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ ให้ความสำคัญกับทั้ง 2 กลุ่มโรค ภาวะโลหิตจางพบได้บ่อย ในผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งที่เป็นโรคหรือมะเร็งระบบอื่นก็มักจะมีปัญหาโรคโลหิตจางร่วมด้วยเสมอ เช่น โรคตับแข็ง ทำให้เลือดออกได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดได้หลายปัจจัย เช่น การแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติหรือมีเกล็ดเลือดต่ำ และมักมีภาวะโลหิตจางด้วย ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังจะมีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย “ปรัชญาของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบเลือดของศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ คือการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว รักษาอย่างทันท่วงทีและค่าใช้จ่ายไม่บานปลายโดยมีเป้าหมายเพื่อให้โรคหายขาด แต่ถ้าไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ก็มุ่งรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือช่วยให้ระยะเวลาของโรคสงบนานขึ้น” ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 โดยศูนย์นี้ได้ให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคเลือดทั้งที่เป็นโรคมะเร็งระบบเลือดและโรคอื่นๆที่มีอาการทางเลือด มีผู้ป่วยที่มารับการรักษาจำนวนมาก โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย โดยมุ่งเน้นการรักษาที่ทันสมัยและได้ผลดี การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระบบเลือด โรคไขกระดูกฝ่อ และโรคธาลัสซีเมีย ได้ผลดีและทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ จนถึงปัจจุบันได้ปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 80 ราย พบว่าได้ผลดีมาก การปลูกถ่ายมีทั้งที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง (Autologous transplantation) ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและโรคมะเร็งไขกระดูก MM รวมทั้งการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ให้ที่เป็นพี่น้อง (Allogeneic transplantation) ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โรคธาลัสซีเมีย และโรคไขกระดูกฝ่อ ความก้าวหน้าที่สำคัญของศูนย์ฯ คือการพัฒนาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยใช้ผู้ให้ที่มี HLA เหมือนกันเพียงครึ่งเดียว (Haploidentical transplantation) เช่นจากพ่อแม่ให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นบุตร หรือจากบุตรให้ผู้ป่วยที่เป็นพ่อแม่ หรือจากพี่น้อง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่และพบว่าได้ผลดี กิจกรรมที่สำคัญของศูนย์โลหิตวิทยา คือการให้ความรู้แก่ประชาชน ได้จัดให้มีสัมมนาประชาชน โดยให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคเลือดและโรคมะเร็งระบบเลือดแก่ผู้สนใจ รวมทั้งจัดให้มีการประชุมสัมมนาสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาอยู่ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศทำให้ศูนย์ฯสามารถพัฒนาองค์ความรู้และวิธีการรักษาใหม่ๆ ต่างๆได้รวดเร็ว ขณะนี้มีความร่วมมือทางวิชาการกับ MD Anderson Cancer Center แห่งมหาวิทยาลัย Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของโลก โดยมีการจัดประชุมทางวิชาการร่วมกันเป็นประจำทุกปี รวมทั้งได้เชิญแพทย์มาให้ความรู้กับประชาชน ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กับ MD Anderson Cancer Center โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลวัฒโนสถ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ในปี พ.ศ. 2558 โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลวัฒโนสถ ได้รับการพิจารณาให้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นสถาบันพี่สถาบันน้อง (Sister institution) กับ MD Anderson Cancer Center โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และวิชาการร่วมกันในหลายระดับ และจะมีพิธีการลงนามในความร่วมมือดังกล่าวในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558 นี้ “5 ปีต่อจากนี้ไปจะเป็นการสานต่อจุดยืน และเสริมมาตรฐานในการรักษาให้ครอบคลุมและลงลึกในทุกด้าน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างทีมโลหิตแพทย์ที่มีศักยภาพแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม ในลักษณะที่เป็น Superspecialist เพื่อขยายการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น พร้อมกับเชื่อมโยงความร่วมมือในการทำวิจัยกับต่างประเทศ ซึ่งการวิจัยจะเน้นไปที่การทดสอบยาใหม่ ที่มีศักยภาพที่จะมีประสิทธิภาพดีกว่ายาตัวเดิม โดยเปรียบเทียบกับยาที่เป็นวิธีการรักษามาตรฐาน นอกจากนี้จะได้มีการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้แทนหรือร่วมกับวิธีการรักษาที่ใช้อยู่เดิม ในอนาคตอันใกล้นี้ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ มีโครงการจะยกระดับเป็นสถาบันโลหิตวิทยากรุงเทพ(Bangkok Hematology Institute) จะมีการขยายห้องปลอดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 14 ห้อง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายไขกระดูก รวมถึงผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยจุดเด่นของศูนย์ฯนอกจาก การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว ให้การรักษาอย่างทันท่วงทีและยืดหยุ่นตามความเหมาะสม สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี ไม่บานปลาย นอกจากนี้ศูนย์ฯจะดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นการรักษาแบบองค์รวม” ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ เป็นโรงพยาบาลที่ให้การบริการและการรักษาผู้ป่วยโรคเลือดทุกชนิด โดยทีมแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคเลือดอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ทั้งโลหิตแพทย์ และแพทย์ที่ปรึกษาทุกระบบ มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานที่ให้ผลการตรวจที่รวดเร็ว มีศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดและไขกระดูกที่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก รวมทั้งมีการเตรียมเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่มีความปลอดภัยสูง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ