กรมป่าไม้เร่งทำพ.ร.บ.สวนป่าส่งเสริมปลูกป่า-สร้างอาชีพ

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2015 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กรมป่าไม้ อธิบดีกรมป่าไม้ เผยข้อดีพ.ร.บ.สวนป่า ฉบับใหม่ อนุรักษ์ป่าควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมส่งเสริมอาชีพผู้ทำสวนป่าเพิ่มรายได้ ยืนยันมีมาตรการควบคุมทุกขั้นตอนป้องกันการสวมไม้จากธรรมชาติ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ภายหลังมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2558 มีประชาชนให้ความสนใจเป็นมาก บางส่วนเห็นด้วยที่มีการส่งเสริมการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ แต่ในบางส่วนก็มีความห่วงใยว่าอาจมีการสวมไม้จากธรรมชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ต้องสร้างสมดุลระหว่างทั้งคิดเห็นทั้ง 2 ด้าน และดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการอนุรักษ์ป่าควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ นายธีรภัทร กล่าวว่า พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับเดิม บังคับใช้มา 22 ปี มีบางมาตราที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมในการส่งเสริมผู้ปลูกสวนป่าได้รับความสะดวก และเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกสวนป่ามากยิ่งขึ้น จากเดิมที่สวนป่ามีแค่ 2 ชนิด แต่ของใหม่ได้เพิ่มขึ้นมาอีก 62 ชนิด เป็น 64 ชนิด เช่น ไม้พะยูง ไม้ตะเคียนทอง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ป่า ไม้มะค่าโมง เป็นต้นซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมอย่ามหาศาล รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้ครบตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและยั่งยืนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่บางฝ่ายกังวลว่าจะมีการสวมไม้จากธรรมชาติมาซื้อขายนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการซื้อขายไม้ให้เป็นไปอย่างถูกกฎหมายและรัดกุมยิ่งขึ้น จะไม่มีการสวมไม้จากธรรมชาติมาขายอย่างแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบสวนป่าว่ามีการปลูกไม้อะไรบ้าง ตรงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ มีการตอกเบอร์หรือมีเครื่องหมายว่าเป็นไม้มาจากสวนป่าตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ. นี้ และการตัดไม้จากสวนป่าจะมีการออกหนังสือรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกตามด่านป่าไม้ต่างๆ และเมื่อพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว ชาวบ้านจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็ได้ แต่หากขึ้นทะเบียน จะมีสิทธิพิเศษในการรับรองความถูกต้อง เพื่อให้การตรวจสอบผ่านไปได้อย่าง ดังนั้นคงยากที่จะมีการสวมไม้จากธรรมชาติ ขณะที่บทลงโทษก็จะใช้วิธีการตักเตือน หากผู้ทำสวนป่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่จัดทำบัญชีแสดงชนิดจำนวนไม้ที่ปลูกตามที่แจ้งไว้ จะถูกถอนการขึ้นทะเบียนสวนป่า และมีโทษปรับตามกฎหมาย เป็นต้น ส่วนเจ้าหน้าที่จะมีบทลงโทษตามมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ทั้งนี้จากการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2558 กรมป่าไม้จะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างกฎกระทรวงและระเบียบกรมป่าไม้ดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายก่อนที่จะดำเนินการประกาศบังคับใช้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 นี้ สำหรับในเรื่องของการขอขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าตาม พ.ร.บ. นั้น เพียงผู้ที่มีความประสงค์ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ตามแบบ สป.1 ที่สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซด์กรมป่าไม้ และจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานประกอบตามที่แบบฟอร์มกำหนด นำไปยื่นที่อำเภอท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ โดยทางอำเภอจะมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอและหลักฐานและส่งเรื่องให้จังหวัดท้องที่มอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบพื้นที่สวนป่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบพื้นที่ เจ้าพนักงานที่ลงพื้นที่จะรายงานจังหวัดพร้อมความเห็นเพื่อให้จังหวัดพิจารณาแจ้งสั่งรับหรือไม่รับการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าถ้าสั่งรับออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ตามแบบ สป.3 ระยะเวลาภายใน 15 วัน ทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องจากทางอำเภอ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ