มรภ.สงขลา ปั้นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Wednesday September 2, 2015 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--มรภ.สงขลา มรภ.สงขลา ร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น หวังเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชน "รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม" ชี้ ความเป็นราชภัฏสองสิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งวิชาชีพครู กับผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม ไม่ลืมรากเหง้าตัวเอง รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะประธานกรรมการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ.2547 มาตรา 7 กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งในฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้มีผู้เสนอประเด็นขึ้นมาว่า มรภ.สงขลา ต้องเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมายในการเป็นต้นแบบพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งอาจออกมาในรูปของการเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและบุคคลในท้องถิ่น หรือแม้แต่การวิจัยเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการชุมชนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนการตั้งสถาบันผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายในชุมชน โดยมี มรภ.สงขลา เป็นแกนกลางในการดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกว่าต่อที่ประชุมสภา มรภ.สงขลา เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็น และปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า ในความเป็นราชภัฏสองสิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู กับผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีความรักความผูกพันต่อท้องถิ่น บัณฑิตของราชภัฏจะต้องไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง แม้จะเป็นครูก็ต้องเป็นครูที่ทำประโยชน์ต่อชุมชนได้ เพราะศักยภาพของราชภัฏโดดเด่นเรื่องการสร้างครู แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินวิชาชีพอื่นควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการกลับสู่รากเหง้าเดิม ส่วนหนึ่งต้องให้บัณฑิตคืนถิ่น ตัวอย่างเช่น จัดการเรียนการสอนรัฐประศาสนศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตผู้นำท้องถิ่น หรือแม้แต่แพทย์แผนไทย การจัดการชุมชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชุมชน ทุกคณะล้วนสามารถทำได้ทั้งสิ้น ตนจึงอยากเสนอให้เรื่องของชุมชนท้องถิ่น เป็นวิชาหลักที่นักศึกษาทุกคนได้เรียน เพื่อที่นักศึกษาจะได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ หรือรากเหง้าที่ปู่ย่าตายายให้มา โดยอาจให้การเรียนการสอนส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในชุมชนเลยก็ได้ ประธานกรรมการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ความเป็นท้องถิ่นไม่ใช่การย่ำอยู่กับที่ แต่สามารถทำให้เป็นสากลได้โดยปรับใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัย ซึ่ง มรภ.สงขลา ต้องพัฒนาเทคโนโลยีจากท้องถิ่นสู่สากลที่ทั่วโลกยอมรับ ประการสำคัญ ราชภัฏต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง อย่าเดินเพียงลำพัง ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนก็จะต้องสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองในการเขียนตำราหรือการวิจัย โดยเฉพาะภูมิความรู้ของชุมชน ที่ควรจะได้รับการถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ