บอร์ด กยท.เปิดแผนพัฒนายางพาราไทย เตรียมลุย 4 ช่องทางหลัก หาพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม เพิ่มอัตราการใช้ในประเทศ เร่งยกระดับอุตสาหกรรมยางล้อ ดึงผู้เกี่ยวข้องแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน เชื่อมั่นสร้างเสถียรภาพราคาได้

ข่าวทั่วไป Thursday September 10, 2015 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทยหรือบอร์ด กยท. เผยถึงแนวทางการสร้างเสถียรภาพราคายางพาราว่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านราคายางของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบธุรกิจยาง ผู้ส่งออก และเกษตรกรชาวสวนยาง จำเป็นต้องมีส่วนร่วมพัฒนา 4 เรื่องหลัก คือ 1.จัดพื้นที่ปลูกยางให้มีความเหมาะสมในรูปแบบโซนนิ่ง และต้องมีข้อมูลแหล่งผลิตและปริมาณผลผลิตที่ชัดเจน 2.เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นทุกรูปแบบ 3.เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์ และ4.ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ส่งออกและเกษตรกรชาวสวนยาง โดยใช้หลักการเดียวกับอ้อย และมีสวัสดิการให้กับชาวสวนยางด้วย ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางพาราของไทยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาครัฐจำเป็นต้องบริหารจัดการให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด ทั้งยังต้องบริหารจัดการและควบคุมปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ด้วย เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำและยกระดับราคาให้สูงขึ้นได้ สำหรับการส่งออกยางของไทยขณะนี้ยังต้องพึ่งพิงตลาดยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยางขั้นต้นหรือไพรมารีโปรดักส์ (Primary product) หากไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปหรือฟีนิชโปรดักส์ (Finish product) ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและส่งออกได้ เช่น ยางล้อยานยนต์ จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศพร้อมเพิ่มมูลค่าสินค้า และแก้ไขปัญหาราคายางได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันควรลดวิธีการซื้อขายยางแบบเก็งราคา และมุ่งพัฒนาตลาดซื้อขายยางแบบส่งมอบจริง เพื่อแก้ปัญหาการปั่นราคาและเก็งกำไร เป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้" นายสมชายกล่าว นอกจากนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการทำการเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น หากยางมีราคาถูกก็หยุดกรีดเป็นการชั่วคราว แต่ยังสามารถหารายได้จากการทำเกษตรผสมผสานในสวนยาง และลดค่าใช้จ่ายจากการปลูกพืชผักสวนครัว หรือเลี้ยงสัตว์ได้อีกทางหนึ่ง เพื่อมาทดแทนในช่วงเวลาดังกล่าว นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อ โดยเร่งส่งเสริมให้สร้างโรงงานผลิตยางล้อที่ทันสมัย และพัฒนาศูนย์ทดสอบคุณภาพยางล้อให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อสนับสนุนการผลิตและส่งออกยางล้อยานยนต์ไปต่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดส่งออกยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ยางคอมปาวด์ และยางกึ่งสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นต้นก็จำเป็นต้องรักษาไว้เช่นกัน ซึ่งคาดว่า ภายในเวลา 3 ปี ราคายางจะมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น "การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจยาง ผู้ส่งออก เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถใช้แนวทางการบริหารจัดการอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบได้ คือ โรงงานกับชาวไร่เหมือนกับหุ้นส่วนกัน และรัฐบาลเป็นคนกลาง โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการบริหารจัดการเรื่องแบ่งผลประโยชน์ให้ชัดเจน จะทำให้ราคายางมีความคงที่มากขึ้น ซึ่งทั้ง 4 ประเด็น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนในระยะเริ่มต้น คาดว่า จะเป็นกลไกทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ภายใน 3 ปีนี้" นายสมชาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ